Facebook เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น META หรือชื่อเต็มๆ คือ Metaverse ของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นการเปิดตัวมุ่งสู่เทคโนโลยี Metaverse ที่ถูกจับตาว่าจะเป็นอนาคตใหม่ของโลก หากประสบความสำเร็จ โลกนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
รีแบรนด์ Facebook เป็นเพียงจุดเล็กๆ
ชื่อของ Facebook เครือข่ายโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ ที่มีผู้ใช้งานกว่าพันล้านคนทั่วโลก เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วงเพียง 10 ปีที่ผ่านมา ในฐานะของโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลก ด้วยเรื่องราว ภาพถ่าย และคลิป VDO ที่ผู้ใช้งานแต่ละคน สร้างสรรค์เรื่องราวของตนเอง แบ่งปันประสบการณ์ต่างๆกับคนรู้จัก และสามารถหาเพื่อนใหม่ๆได้ แม้ไม่เคยพบกันมาก่อน จนขยายตัวได้รับความนิยม สร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) อดีตนักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จนกลายเป็นมหาเศรษฐีเบอร์ต้นๆของโลกในระยะเวลาอันสั้น และสามารถกว้านซื้อเครือข่ายโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น อินสตาแกรม แมสเซ็นเจอร์ เข้ามาอยู่ในอาณาจักรของตัวเองได้ การรีแบรนด์บริษัท โดยการเปลี่ยนชื่อจาก Facebook เป็น META จึงเป็นการสร้างภาพจำใหม่ว่า อาณาจักรของเขา ไม่ได้มี Facebook เพียงอย่างเดียว ยังมีธุรกิจอื่นๆอีกจำนวนมาก และที่สำคัญ การเลือกชื่อ META ยังเป็นการแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์และทิศทางธุรกิจที่เขากำลังจะมุ่งไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
Facebook เปลี่ยนชื่อใหม่ “Meta” เดินหน้าเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง
“มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” เฟซบุ๊ก ถูกฟ้องครั้งแรก กรณีละเมิดความเป็นส่วนตัว
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปัดข้อกล่าวหา Facebook ฟันกำไร ไม่สนความปลอดภัยผู้ใช้
META คือ Metaverse
คนนอกวงการเทคโนโลยี อาจไม่คุ้นชินกับคำว่า เมตาเวิร์ส Metaverse ที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ได้พูดถึงมาก่อนหน้านี้หลายครั้งว่าจะเป็นอนาคตที่เขาต้องการพัฒนาให้สำเร็จก่อนที่จะแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่คนในแวดวงที่มีส่วนเกี่ยวข้องจับตาประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพราะรู้ดีว่า หาก Zuckerberg ผลักดันเรื่องนี้จนสำเร็จ เขาจะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกนี้มากกว่าเดิม และโลกนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง
เมตาเวิร์ส Metaverse เป็นเทคโนโลยีใหม่ในโลก ดิจิทัล ที่รวบรวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมาควบคู่ไปกับชีวิตจริง เป็นแนวความคิดที่เชื่อมตัวตนของผู้ใช้งานกับโลกดิจิทัลในทุกมิติของการใช้ชีวิตประจำวัน โดยผู้ใช้งาน สามารถใช้ชีวิตได้ใน 2 โลกพร้อมๆกัน ถ้าเข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกันเอาตัวเราเข้าไปอยู่ในเกมคอมพิวเตอร์จริงๆ แต่มันมีอะไรลึกซึ้งกว่านั้น
การก่อเกิดของ Metaverse
ในช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มคุ้นชินกับโลกเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อยๆ มีบทความหรือภาพยนต์เกี่ยวกับโลกเสมือนจริงออกมาให้ชมอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือภาพยนต์ Sci-Fi เรื่อง Ready Player One ซึ่งเป็นภาพยนต์อนิเมชั่นที่พูดถึงโลกอนาคต ที่ทุกคนผูกพันกับเกมในโลกเสมือนจริง มีชีวิตและสร้างรายได้จากโลกเสมือนจริงโดยที่เชื่อมโยงกับชีวิตและสินทรัพย์ในโลกจริง ถ้าได้เงินในเกม ก็จะสามารถนำมาซื้อทรัพย์สินในโลกจริงได้ ในทางกลับกัน ถ้าเสียเงินในเกม ก็จะนำไปสู่การสิ้นเนื้อประดาตัวในโลกจริงด้วย ซึ่งแม้จะดูเหมือนเพ้อฝัน แต่ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีและกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆอย่าง กำลังบ่งชี้ว่า โลกกำลังจะไปทางนั้นจริงๆ
การก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ทำให้เกิดนวัตกรรมตัวหนึ่งที่เรียกว่า Virtual Reality หรือ VR ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับของเล่นราคาแพงคือแว่น VR ที่ในช่วงแรกถูกนำมาใช้ในวงการเกมและวงการบันเทิง ทำให้ผู้ใช้งานได้พบประสบการณ์ใหม่ในการเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง ได้สัมผัสหรือทำกิจกรรมที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง แต่นั่นยังเป็นเพียงโลกอีกใบที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน เครือข่ายอินเตอร์เน็ตยุคใหม่ ที่ใช้ระบบ Cloud และโครงสร้างเครือข่ายดิจิทัลอื่นๆ เช่น Token ในยุค Augmented Reality (AR) ที่สามารถสร้างตัวตนในโลกดิจิทัลและระบบเศรษฐดิจิทัล ที่ก้าวข้ามกฎเกณฑ์ข้อบังคับของรัฐชาติ การเกิดสกุลเงินดิจิทัลและสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบต่างๆและได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สกุลเงินที่ล่องลอยในโลกออนไลน์เหมือนของเล่นเด็ก อย่างบิตคอยน์ หรือเงินสกุลอื่นๆ เริ่มได้รับการยอมรับและนำมาใช้ซื้อขายสินทรัพย์ในโลกจริงได้ โลกทั้ง 2 ใบ จึงเริ่มเชื่อมกัน Virtual Reality และโลกดิจิทัลกับโลกจริงจึงเริ่มทับซ้อนกันอย่างชัดเจนมากขึ้น และถึงเวลาของเทคโนโลยี Metaverse จะเป็นจริง
Metaverse โลกจะไม่เหมือนเดิม
เมื่อคนเอาตัวเองเข้าไปเชื่อมกับโลกดิจิทัลเสมือนจริง โดยที่ไม่จำกัดเพียงเรื่องเกมส์และความบันเทิงเหมือนยุคที่ผ่านมา เงินดิจิทัลที่ไม่เคยมีตัวตน กลับมามีส่วนในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในชีวิตประจำวันไม่ต่างกับ Hard Currency ที่ออกโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ ผลที่เกิดขึ้นคือ กิจกรรมต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อและจิตวิญญาณของคนในสังคมจะก้าวข้ามขอบเขตพรมแดนของประเทศอย่างแท้จริง
แม้ที่ผ่านมา กิจกรรมในชีวิตประจำวันรวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่ง จะอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังอยู่ในการควบคุมกำกับดูแลจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ ซึ่งยังสามารถเก็บภาษีจากกิจกรรมต่างๆได้ เพราะเกือบทุกอย่างยังอยู่ในการรู้เห็นและการกำกับดูแล แต่หากกิจกรรมต่างๆ ถูกย้ายไปอยู่ในโลกใหม่ ที่เป็นโลกเสมือนจริง รัฐในโลกจริงจะตามไปบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่างๆได้อย่างไร จะหารายได้ทางภาษีแบบไหน หากคนส่วนหนึ่ง ละเลยหรือปฏิเสธโลกจริงและก้าวข้ามไปอยู่ในสังคมเสมือน รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับปัจเจกชนจะเป็นอย่างไร เพราะแค่การจัดการเก็บภาษีอินเตอร์เน็ตจากบริษัทข้ามชาติ ก็ยังเป็นเรื่องซับซ้อนในปัจจุบัน เป็นคำถามที่หลายคนเรื่องตั้งข้อสงสัยว่า รัฐบาลและรัฐชาติ องค์กรต่างๆในปัจจุบัน จะเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนโฉมไปอย่างไร หากโลกเสมือนจริงเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ในโลก ตามความฝันของ Mark Zuckerberg