ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. สนอแนวทาง “ทางด่วนน้ำ” น้ำไม่ต้องรอระบาย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เสนอแนวทาง “ทางด่วนน้ำ” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
“ทางด่วนน้ำ” น้ำไม่ต้องรอระบาย
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เสนอแนวทาง “ทางด่วนน้ำ” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
การแก้ปัญหาน้ำท่วมคล้ายกับแก้ปัญหารถติด ซึ่งต้องสร้างทางด่วนและทางลอดหรืออุโมงค์ไว้ขนรถ และต้องสร้างรถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้าและใต้ดินไว้ขนคน ด้วยเหตุนี้ การแก้ปัญหาน้ำท่วมจึงจำเป็นต้องสร้าง “ทางด่วนน้ำ” ไว้ขนน้ำไปปล่อยลงแม่น้ำหรือทะเล
กรุงเทพฯ มี “ทางด่วนน้ำ” แล้วหรือยัง?
กทม. ได้สร้างอุโมงค์ไว้ขนน้ำ ถึงเวลานี้เปิดใช้แล้ว 4 อุโมงค์ อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 1 อุโมงค์ กำลังจะก่อสร้างอีก 4 อุโมงค์ ผมเข้าใจว่า กทม. ต้องการให้อุโมงค์เหล่านี้ทำหน้าที่เป็น “ทางด่วนน้ำ” เพื่อขนน้ำไปปล่อยออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว
แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากน้ำไหลไปถึงปากอุโมงค์ได้ช้า เพราะท่อระบายน้ำที่รับน้ำจากถนนมีขนาดเล็ก ทำให้เกิดสภาพ “คอขวด” ไม่สามารถขนน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว อุโมงค์จึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “ทางด่วนน้ำ” ได้อย่างสมบูรณ์
ดังนั้น กทม. จะต้องแก้ปัญหาคอขวด รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้ “อุโมงค์” เป็น “ทางด่วนน้ำ” ให้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
7 พื้นที่เฝ้าระวังน้ำเพิ่มสูง 0.20 - 0.40 เมตร ช่วงวันที่ 23 - 30 ต.ค.
ผู้ว่าฯ กทม. ยันพร้อมเปิดประเทศ 1 พ.ย. ยังไม่เคาะวันนั่งดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
กทม. จะทำให้อุโมงค์เป็น “ทางด่วนน้ำ” ได้อย่างไร ?
1. ติดตั้งรางรับน้ำ (Gutter) บนถนนชิดทางเท้า
เมื่อฝนตกหนัก จะเห็นว่าน้ำไหลลงบ่อพักได้ช้า ทั้งๆ ที่น้ำในท่อระบายน้ำยังไม่เต็ม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะช่องรับน้ำที่บ่อพักมีขนาดเล็ก ทำให้น้ำไหลลงบ่อพักไม่ทัน น้ำจึงเอ่อล้นถนน วิธีแก้ก็คือจะต้องติดตั้งรางรับน้ำบนถนนชิดทางเท้าที่มีความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่ จะช่วยทำให้น้ำบนถนนไหลลงรางรับน้ำและบ่อพักได้อย่างรวดเร็ว ไม่เอ่อล้นบนถนน ซึ่งวิธีนี้ กทม. ได้นำมาใช้แล้ว ปรากฏว่าได้ผลดี ควรทำต่อไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
2. วางท่อระบายน้ำใหม่แก้ “คอขวด”
กทม. จะต้องเร่งขจัด “คอขวด” ให้หมดไปโดยด่วน โดยการวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมจากท่อเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นท่อขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 60 ซม. เท่านั้น ท่อระบายน้ำใหม่จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และในการวางท่อใหม่นั้นจะต้องใช้เทคนิคดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจร ซึ่ง กทม.ได้ทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
ท่อใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจะรับน้ำจากถนนเพื่อขนไปสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว น้ำจากปากอุโมงค์จะไหลไปท้ายอุโมงค์ แล้วถูกสูบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลให้อุโมงค์ทำหน้าที่เป็น “ทางด่วนน้ำ” ได้สมบูรณ์ขึ้น
3. ในอนาคต กทม. ควรสร้าง “อุโมงค์ยักษ์”
ในปัจจุบันอุโมงค์ที่เปิดใช้งานแล้วไม่ถือว่าเป็น “อุโมงค์ยักษ์” เพราะมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3.40 – 5.00 เมตรเท่านั้น อีกทั้งอุโมงค์ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและที่กำลังจะก่อสร้างก็มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3.70 – 5.70 เมตรเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็น “อุโมงค์ยักษ์” เช่นเดียวกัน
ผมขอเสนอให้ กทม. พิจารณาสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป พูดได้ว่าเป็น “อุโมงค์ยักษ์” เหตุที่ผมเสนอเช่นนี้ก็เพราะต้องการให้ กทม. ใช้อุโมงค์เป็นแก้มลิงเก็บน้ำด้วย ซึ่งจะช่วยลดน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี พูดได้ว่าอุโมงค์จะทำหน้าที่ทั้งขนน้ำและเก็บน้ำ
4. เฉพาะอุโมงค์เท่านั้น หรือที่จะเป็น “ทางด่วนน้ำ” ?
ตอบว่าไม่ใช่ ดังที่ได้เกริ่นนำข้างต้นว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมคล้ายกับการแก้ปัญหารถติด ซึ่งต้องสร้างถนนและรถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอให้ กทม. พิจารณาสร้าง “ทางระบายน้ำลอยฟ้า” ในพื้นที่ใกล้แม้น้ำเจ้าพระยา และเห็นว่ามีความเหมาะสมกว่าที่จะสร้างอุโมงค์ เพื่อสูบน้ำขึ้นทางยกระดับแล้วปล่อยทิ้งลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป
สรุป
การแก้ปัญหาน้ำท่วมเหมือนกับการแก้ปัญหาเมืองด้านอื่น ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนคนกรุงเทพฯ ด้วย งานใหญ่และสำคัญเช่นนี้จะไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยใครเพียงคนเดียว
ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. นานมาแล้ว ผมได้มีโอกาสทำงานร่วมกับวิศวกรและผู้เกี่ยวข้องหลายท่านในสำนักการระบายน้ำ กทม. พบว่ามีผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์สูงเป็นจำนวนไม่น้อย ท่านเหล่านี้ได้ผนึกสรรพกำลังช่วยกันทำให้กรุงเทพฯ รอดพ้นวิกฤตน้ำท่วมมาแล้วหลายครั้ง แต่มักไม่เป็นข่าว จะเป็นข่าวก็ตอนเกิดน้ำท่วม
ทั้งหมดนี้ ด้วยความห่วงใยพี่น้องชาวกรุงเทพฯ และด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรทุกท่านที่รับผิดชอบด้านการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ เราจะก้าวข้ามปัญหาน้ำท่วมไปด้วยกันครับ !
ที่มา FB ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ : “ทางด่วนน้ำ” น้ำไม่ต้องรอระบาย