svasdssvasds

จาก “น้ำรอระบาย” ถึง “น้ำมาก” ! สามารถ แนะ แก้ปัญหาการน้ำท่วม ในกรุงเทพฯ

จาก “น้ำรอระบาย” ถึง “น้ำมาก” ! สามารถ แนะ แก้ปัญหาการน้ำท่วม ในกรุงเทพฯ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. วิเคราะห์ การแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ พร้อมข้อเสนอแนะ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

ผู้ว่าฯ กทม. สมัยที่แล้วบอกว่า “ขออย่าเรียกว่าน้ำท่วม ขอให้เรียกว่าน้ำรอระบาย” มาถึงผู้ว่าฯ กทม. สมัยนี้บอกว่า “ไม่อยากให้เรียกว่าน้ำท่วม ให้เรียกว่าน้ำมาก”

แต่สำหรับคนกรุงเทพฯ ไม่รู้ว่า “น้ำรอระบาย” กับ “น้ำมาก” ต่างกันอย่างไร รู้แต่เพียงว่าบางช่วงเวลาที่ฝนตกหนักจนเกินขีดความสามารถของระบบระบายน้ำ จะทำให้น้ำเอ่อท้นถนนหรือ “น้ำท่วม” ถนนนั่นเอง คนกรุงเทพฯ บอกว่าจะให้เรียกอะไรก็ได้ ขออย่างเดียว อย่าให้ต้องลุยน้ำก็แล้วกัน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ว่าฯ กทม. แนะการแก้ปัญหาน้ำท่วม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก จะได้ลอดเจ้าพระยาก่อนสายสีม่วงใต้ หรือไม่ ?

กทม.รับมอบรถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ BMV 6 คัน จาก 6 หน่วยงาน

กทม.ร่วมมือ 6 จังหวัดปริมณฑล เตรียมการรับมือน้ำเหนือไหลหลาก

แม้ กทม. เตรียมพร้อมแล้ว แต่ทำไมน้ำก็ยังท่วม ?

ผมรู้ว่าก่อนหน้าฝนหรือก่อนฝนตกหนัก กทม. ได้ดำเนินการรับมือกับปริมาณน้ำฝนเป็นอย่างดี อาทิ พร่องน้ำหรือลดระดับน้ำในคูคลอง ลอกท่อ เก็บขยะและวัชพืชในคูคลอง เตรียมความพร้อมที่สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ และเร่งระบายน้ำทันทีที่ฝนเริ่มตก ไม่ปล่อยให้มีปริมาณน้ำสะสมจนเกินขีดความสามารถของท่อระบายน้ำและคูคลอง เป็นต้น

ปัจจุบัน กทม. ควบคุมการทำงานของระบบระบายน้ำโดยใช้ SCADA (ระบบตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real Time) เพื่อติดตามระดับน้ำ อัตราการไหลของน้ำ และการทำงานของเครื่องสูบน้ำ โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถติดตามดูข้อมูลเหล่านี้ได้ทางโทรศัพท์มือถือ

หลายคนคงไม่รู้ว่าเครืองสูบน้ำที่ กทม. ใช้อยู่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า แต่ต้องมีเครื่องสูบน้ำดีเซลและเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ใช้ในกรณีไฟดับ และที่สำคัญ กทม. ได้ใช้เครื่องสูบน้ำอัตโนมัติมานานแล้ว แต่ต้องมีคนเฝ้าคอยแก้ปัญหาเมื่อเครื่องขัดข้อง เช่น มีขยะมาติด

แม้ กทม.ได้เตรียมรับมืออย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมที่มีสภาพเหมือน “แอ่งกระทะ” ซึ่งระบายน้ำได้ยาก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมี “คอขวด” เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ว่าฯ กทม.

“คอขวด” เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำอย่างไร ?

“คอขวด” คือท่อระบายน้ำที่มีขนาดเล็กและคูคลองที่มีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ ทำให้ไม่สามารถลำเลียงน้ำจากพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ “แอ่งกระทะ” ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หรืออุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว

ถึงเวลานี้ เรามีอุโมงค์หรือ “ทางด่วนน้ำ” ใช้งานแล้ว 4 อุโมงค์ และกำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ 1 อุโมงค์ รวมทั้งกำลังจะก่อสร้างอีก 4 อุโมงค์ อุโมงค์เหล่านี้มีหน้าที่ลำเลียงน้ำซึ่งรับมาจากท่อระบายน้ำและคูคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ทั้ง 4 อุโมงค์ ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนี้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่

ทันทีที่น้ำไหลมาถึงปากอุโมงค์ก็จะขนน้ำไปสู่ท้ายอุโมงค์แล้วสูบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็ว “ขาออก” จากอุโมงค์ไม่มีปัญหา น้ำสามารถออกจากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ “ขาเข้า” ที่ปากอุโมงค์มีปัญหา เนื่องจากท่อระบายน้ำและคูคลองไม่สามารถลำเลียงน้ำมาสู่ปากอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว เพราะท่อระบายน้ำมีขนาดเล็ก และคูคลองมีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำ ทำให้มีสภาพเป็น “คอขวด” ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แอ่งกระทะ สร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนจำนวนมาก น่าเห็นใจยิ่งนัก

จะแก้ “คอขวด” ในการระบายน้ำได้อย่างไร ?

กทม. จะต้องเร่งขจัด “คอขวด” ให้หมดไปโดยด่วน โดยเฉพาะในพื้นที่แอ่งกระทะ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังอีกต่อไป การแก้ปัญหา “คอขวด” สามารถทำได้โดยการวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมจากท่อเดิมที่เป็นท่อขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 60 ซม. เท่านั้น

ท่อระบายน้ำใหม่จะต้องมีขนาดใหญ่กว่าเดิม และในการวางท่อใหม่นั้นจะต้องใช้เทคนิคดันท่อใต้ดิน (Pipe Jacking) เพื่อลดผลกระทบต่อการจราจร ซึ่ง กทม.ได้ทำอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

ท่อใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจะขจัด “คอขวด” ได้อย่างดี ช่วยให้การลำเลียงน้ำไปสู่คูคลองและอุโมงค์เพื่อระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีอุปสรรค แม้ว่าการวางท่อใหม่จะใช้งบประมาณมาก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการบรรเทาปัญหารถติด ลดมลพิษ และลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ

นอกจากแก้ “คอขวด” แล้ว กทม. จะต้องทำอะไร ?

กทม. ในหลายยุคหลายสมัยได้สร้างแก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำในขณะฝนตกหนัก ก่อนทยอยปล่อยออกสู่ระบบระบายน้ำเมื่อฝนหยุดตก ถึงเวลานี้มีแก้มลิงทั้งหมด 30 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวมทั้งหมด 13.4 ล้านลูกบาศก์เมตร

แม้จะมีแก้มลิงหลายแห่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากได้ จะหาพื้นที่สร้างแก้มลิงเพิ่มก็หาได้ยากมาก ดังนั้น ในพื้นที่ที่ไม่สามารถหาที่ว่างสร้างแก้มลิงได้ กทม. จึงเปลี่ยนแนวคิดมาสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน” หรือที่ กทม. เรียกว่า “บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank)”

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม.

รู้มั้ยว่า กรุงเทพฯ มี “แก้มลิงใต้ดิน” แล้ว ?

ถึงเวลานี้ กทม. สร้างแก้มลิงใต้ดินเสร็จสมบูรณ์และเปิดใช้แล้วจำนวน 2 แห่ง กำลังก่อสร้างอยู่อีก 2 แห่ง แก้มลิงใต้ดินเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่แคบๆ แก้มลิงเหล่านี้ถูกสร้างในพื้นที่ที่สามารถบังคับน้ำให้ไหลลงแก้มดินใต้ดินได้

ที่สำคัญ ได้สร้างอยู่ใกล้กับคลองที่จะรองรับน้ำซึ่งถูกสูบออกจากแก้มลิงใต้ดินหลังฝนหยุดตก เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ใช้แก้มลิงใต้ดินได้ผล ถ้าสร้างแก้มลิงใต้ดินในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม แก้มลิงใต้ดินก็ไม่เกิดประโยชน์

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการสร้างแก้มลิงใต้ดินที่มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ในย่านธุรกิจที่มีคนหนาแน่น สมมติว่าต้องการให้แก้มลิงใต้ดินนี้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร เมื่อฝนตกและน้ำไหลเข้าเต็มความจุของแก้มลิงใต้ดินแล้ว จะทำให้ระดับน้ำบนถนนลดลงเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เลย

ถ้าต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ได้ผล จะต้องทำให้ระดับน้ำลดลงอีก เช่น ให้ลดลง 25 เซนติเมตร ซึ่งจะต้องก่อสร้างแก้มลิงใต้ดินจำนวน 25 แห่ง มีความจุแห่งละ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร แต่จะหาพื้นที่ก่อสร้างแก้มลิงใต้ดินในย่านธุรกิจได้หรือ ?

ด้วยเหตุนี้ การจะสร้างแก้มลิงใต้ดินจะต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่คิดแค่เพียงแก้มลิงเท่านั้น แต่จะต้องออกแบบระบบน้ำเข้าออกแก้มลิง และระบบควบคุมน้ำในพื้นที่ที่ต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย ที่สำคัญ จะต้องไม่ลืมเรื่องการบำรุงรักษาแก้มลิงใต้ดินซึ่งหลังจากสูบน้ำออกหมดแล้ว จะมีคราบไขมันและคราบน้ำมันติดอยู่ที่พื้นและผนัง

สรุป

ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ นั้น กทม.ได้ทำมาหลายเรื่องแล้ว แต่อ่อนประชาสัมพันธ์ ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่รับรู้ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกบางเรื่องที่ กทม. จะต้องทำ ซึ่งบางเรื่องผมเคยพูดมาแล้ว แต่จะพูดอีกในโอกาสที่เหมาะสม

ทั้งหมดนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ กทม. ที่เกี่ยวข้องทุกท่านให้สามารถขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่รักของเราผ่านวิกฤตช่วงฝนตกหนักไปให้ได้

related