ซีพี ร่วมกับ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ จัดสร้าง “โรงพยาบาลสนามซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์” เพื่อใช้รองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง-ส้ม โดยเปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา
สถานการณ์โควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อและทำให้มีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจำนวนมาก สถานพยาบาลหลายแห่งประสบปัญหาผู้ป่วยล้นจนเตียงในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเต็ม โดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ร่วมกับ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และโรงพยาบาลจุฬารัตน์ เพื่อสร้าง โรงพยาบาลสนามซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ ในพื้นที่ดับบลิวเอชเอ เมกกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ (ชลหารพิจิตร กม.4) จ.สมุทรปราการ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นโรงพยาบาลสนามรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง-ส้ม โดยใช้เวลาการก่อนสร้างเพียง 1 เดือน 5 วัน และได้เปิดโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2564
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยซีพีตั้งใจช่วยให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งต้นปี 2564 โควิด-19 กลับมาระบาดรอบใหม่อีกครั้ง และซีพีจัดทำโครงการ “ซีพีร้อยเรียงใจสู้ภัยโควิด-19” ตามนโยบายนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนอาหาร น้ำดื่มและการสื่อสารให้โรงพยาบาลสนามหลายพื้นที่ โดยแจกข้าวกล่องในชุมชนบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน
นอกจากนี้ แม้โควิด-19 จะคลี่คลายแต่มีผู้ติดเชื้อเกินกว่าศักยภาพโรงพยาบาลในระบบ ดังนั้นเพื่อให้มีเตียงเพียงพอและเพื่อให้โรงพยาบาลหลักให้บริการแก่ผู้ป่วยอื่นได้ปกติ เครือซีพีจึงเห็นว่าโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีความจำเป็น
"ซีพีในฐานะบริษัทเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจบนผืนแผ่นดินไทยมา 1 ศตวรรษใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ขอประกาศความตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมเป็นการน้อมรำลึกพ่อหลวงของแผ่นดิน เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสวรรคต 5 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข"
เครือซีพีร่วมกับภาครัฐและเอกชนดำเนินโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยรวม 3 แห่ง กว่า 1,000 เตียง ได้แก่
1.โรงพยาบาลสนาม ซีพี-WHA-จุฬารัตน์ ร่วมกับบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) สร้างโรงพยาบาลสนามสีเหลือง-ส้ม เฟสที่ 1 จำนวน 600 เตียง บนพื้นที่คลังสินค้าดับบลิวเอชเอ ย่านบางนา-ตราด กม.19 รองรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีส้ม ในกรุงเทพฯ ปริมณทลและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีมาตรฐานเทียบเท่าโรงพยาบาลหลัก มีความพร้อมด้านการแพทย์ การรักษาและติดตามอาการผู้ป่วย
2.โรงพยาบาลสนาม กรมการแพทย์-เลิดสิน สนับสนุนกรมการแพทย์และโรงพยาบาลเลิดสิน สร้างโรงพยาบาลสนามสีเหลือง-แดง 170 เตียง บนถนนสีลม
3.ศูนย์พักคอย ซีพี-รามคำแหง-นพรัตน์ราชธานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงและโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี สร้างศูนย์พักคอย 172 เตียง ที่โรงยิมเนเซียม 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลูกฟ้าทะลายโจรบนพื้นที่ 100 ไร่ ที่ จ.สระบุรี เพื่อผลิตยาฟ้าทะลายโจร 30 ล้านแคปซูล เพื่อแจกฟรี
“ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันที่จะร่วมมือในลักษณะเอกชนต่อเอกชน และเอกชนกับรัฐ ถือเป็นมิติใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดที่จะเป็นโครงการตัวอย่าง โดยหวังว่าจะเป็นต้นแบบความร่วมมือไม่ว่าจะภายใต้สถานการณ์โควิด-19 หรือวิกฤติอื่นในอนาคต” นายศุภชัย กล่าว
รวมทั้งหลังจากนี้จะทำความสะอาดอีกครั้งเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง-ส้ม โดยโรงพยาบาลจุฬารัตน์รับช่วงต่อเรื่องการนำผู้ป่วยมารักษา ส่วนกลุ่มซีพีจะดูแลงานวิศวกรรมและระบบการสื่อสารไม่ให้สะดุด ส่วนดับบลิวเอชเอจะดูแลความปลอดภัยและสาธารณูปโภค ซึ่งคาดว่าโรงพยาบาลแห่งนี้จะช่วยผู้ป่วยได้ระดับหนึ่งจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อจำนวนหลักหมื่นคนต่อวัน โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ และปริมณทลที่มีมาก ซึ่งโรงพยาบาลปกติรองรับไม่ได้หมดจะถ่ายเทมาโรงพยาบาลสนามนี้ที่รับผู้ป่วยเข้า-ออกได้ 1-2 หมื่นคน
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการและประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า ดับบลิวเอชเอได้ช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งแต่ปีที่แล้ว เช่น อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย โดยหลังสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงขึ้นจึงมีแนวคิดใช้คลังสินค้าเพื่อปรับเป็นโรงพยาบาลสนามสีเหลืองและสีส้ม ซึ่งใช้อาคารคลังสินค้าที่เป็นพื้นที่เก็บสินค้าเวชภัณฑ์ยาอยู่แล้ว
นพ.กำพล พลัสสินทร์ กรรมการผู้จัดการกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ กล่าวว่า โรงพยาบาลแห่งนี้มีอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัย โดยมีแพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเหลืองและสีส้มจะได้รับรักษาตามมาตรฐานแบบวันสต๊อปเซอร์วิส
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ เฟสแรก 405 เตียง ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่อาคารคลังสินค้าขนาด 15,294 ตารางเมตร ถือเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกในประเทศที่มีความพร้อมด้านระบบการแพทย์เต็มรูปแบบ เพื่อรักษาและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 โดยโรงพยาบาลสนาม ซีพี-ดับบลิวเอชเอ-จุฬารัตน์ ได้วางระบบด้านการแพทย์และนวัตกรรม ได้แก่
1.การออกแบบท่อระบบระบายอากาศบริเวณหัวเตียงผู้ป่วย เพื่อดูดไอระเหยจากผู้ป่วยแต่ละเตียงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อเป็นท่อลมยาวต่อกันสามารถระบายอากาศได้สะดวกในครั้งเดียว ทั้งยังมีการการฆ่าเชื้อด้วยยูวี เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดในพื้นที่
2.ระบบอากาศภายในโซนดูแลผู้ป่วยที่มีระบบ Negative pressure ที่อากาศภายในห้อง ซึ่งถูกทำให้มีความดันต่ำกว่าจะไม่ไหลออกจากห้องเมื่อมีการเปิด-ปิดประตู และป้องกันการกระจายของเชื้อโรคจากในห้องไปสู่บริเวณอื่น ขณะที่โซนของเจ้าหน้าที่ แพทย์พยาบาลเป็น Positive pressure ทำให้มีอากาศไหลออกจากห้อง อาศัยการอัดอากาศสะอาดเข้าในห้อง ทำให้ห้องอยู่สภาวะ Positive ป้องกันอากาศจากด้านนอกไหลเข้ามา เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อเข้ามาในห้อง
3.ติดตั้งระบบท่อกรองน้ำระบบ RO ในการกรองน้ำสะอาดสำหรับอุปกรณ์การแพทย์ โดยเฉพาะการใช้กับผู้ป่วยฟอกไตที่ต้องใช้น้ำสะอาดในการรักษา
4.ติดตั้งระบบก๊าซทางการแพทย์และระบบออกซิเจน เป็นระบบจ่ายก๊าซเพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยและช่วยในการทำงานของเครื่องมือแพทย์โดยจะเดินระบบนี้ไปทุกเตียง
5.ห้องแล็ป ห้องเอ็กซเรย์ ห้องยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก
6.จุด Nurse Station ให้พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้มอนิเตอร์ดูแลผู้ป่วย พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์พิเศษเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยและทีมแพทย์
7.ติดตั้งกล่องระบบสื่อสารบริเวณหัวเตียงผู้ป่วยในโซนสีส้มทุกเตียงเพื่อให้สามารถส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที
8.ติดตั้งระบบสื่อสารที่ครบสมบูรณ์ ทั้งระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต CCTV อินเตอร์คอมและระบบเสียงตามสายทั่วพื้นที่โรงพยาบาลสนาม