‘ซีพี’ เดินหน้าจัดทัพธุรกิจใหม่พร้อมรับโลกยุคหลังโควิด-19 เน้นสร้างความร่วมมือ ลุยขยายธุรกิจในต่างประเทศ ชู 4 กลยุทธ์ แพลตฟอร์มแห่งโอกาส , เชื่อมผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดต่างประเทศ ,เร่งเครื่องเดินหน้าบนเวทีโลก และช่วยผู้ประกอบการไทยก้าวไปสู่ตลาดระดับโลก
'นายศุภชัย เจียรวนนท์' ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เดินหน้าประกาศกลยุทธ์ธุรกิจเตรียมพร้อมสำหรับโลกหลังวิกฤตการระบาดของโควิด-19 โดยในเครือซีพีจะเร่งขยายธุรกิจในต่างประเทศ และจะจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการรวมถึงธุรกิจอื่นๆประเทศไทย ซึ่งมองว่าการระบาดโควิด-19 ได้ทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบเสียหายอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ SME ในไทย ขณะเดียวกัน ก็สร้างผลกระทบอีกด้านหนึ่งด้วย คือ ทำให้เกิด 'บริษัทยักษ์ใหญ่' ในระดับนานาชาติจำนวนมากที่ปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า GDP ของหลายประเทศในโลก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั้งสองด้านได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีระดับโลก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ จากการที่ SME ไทยอ่อนแอลง ทั้งนี้เครือซีพีจะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 4 กลยุทธ์ที่สำคัญ ดังนี้
1.เร่งเครื่องการลงทุน
2.เร่งเครื่องการเดินหน้าบนเวทีโลก
3.ลดความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจของเครือเพื่อเพิ่มความคล่องตัว และความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ
4.สร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจเพื่อขยายความร่วมมือกับธุรกิจ ผู้ประกอบการอื่นๆของไทย รวมถึงเกษตรกรจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดต่างประเทศ
“โควิด-19 อาจทำให้เราจะต้องไม่ชะลอการลงทุนออกไป แต่ในทางกลับกันก็จะต้องเร่งแผนการลงทุนในธุรกิจต่าง ๆในเครือซีพี โดยจะเดินหน้าลงทุนโครงการใหม่ๆ รวมถึงโครงการที่มีอยู่แล้วเพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างธุรกิจค้าขายดีลใหม่ๆ กับ SME เกษตรกรรายเล็กๆกว่า 1.2 ล้านราย ที่ได้ร่วมมืออยู่แล้วทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้เม็ดเงินกระจายสู่ชุมชน และหลากหลายธุรกิจ ไม่เพียงเท่านั้นยังได้นำเงินกว่า 2พันล้านบาทช่วยโควิด-19ในที่ผ่านมา” นายศุภชัยกล่าว
อย่างไรก็ตามยังจะเดินหน้าการลงทุนในต่างประเทศที่เครือซีพีกำลังเร่งเครื่อง อย่างเช่นการเริ่มโปรเจ็คใหญ่ๆ หลายอย่างที่กำลังมีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วในปี2564 ซึ่งจะสามารถช่วยเพิ่มตัวตน และสถานภาพที่แข็งแกร่งของธุรกิจไทยในตลาดต่างประเทศได้ สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์มี 14 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งก็จะมีการปรับลดความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจในเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วยเช่นกัน
นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับโลกหลังวิกฤติโควิด-19 ของธุรกิจในเครือซีพี คือ การก้าวไปข้างหน้าให้ได้ไกลกว่าการเป็นเพียงผู้ผลิตสินค้าและการบริกา พร้อมเดินหน้าสู่แพลตฟอร์มที่ส่งเสริม SME ผู้ประกอบการธุรกิจอื่น ๆ พัฒนาศักยภาพเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ เพื่อการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและระดับโลก
ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของโครงการที่เครือซีพีเรียกว่า “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เพราะกำลังพัฒนาระบบที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ และธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศไทย เกษตรกรจำนวนมากสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้โดยผ่านการทำงานร่วมกันกับบริษัทในเครือซีพี เพราะที่ผ่านมาพบว่า SME จะมีข้อจำกัดหรือไม่สามารถรับความเสี่ยงและความยากลำบากในการพยายามตั้งหลักในตลาดต่างประเทศได้ ดังนั้นหากเครือซีพีสามารถเป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนจะเป็นการเพิ่มศักยภาพช่วยให้ธุรกิจรายเล็กได้ไปต่อ
สำหรับแนวทางของโมเดลธุรกิจ‘แพลตฟอร์มแห่งโอกาส'เป็นแนวทางหนึ่งที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทยในโลกยุคใหม่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะเป็นการรวมพลังระดมศักยภาพของ SME หลายหมื่นราย และวิสาหกิจไทยอื่น ๆ ออกไปสู้บนเวทีระดับโลก เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็สนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศบ้านเกิดเช่นกัน ดังนั้นในเครือซีพีก็จะทำแบบนั้นเช่นกันพร้อมคำนึงถึงการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ และตามมาด้วยการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทด้วย