เพื่อความสบายใจของลูกค้า คปภ.เดินหน้าออก 7 มาตรการผ่อนผันการเงินบริษัทประกันเคลมประกันภัยโควิด-19 หลังจากมีปัญหาการขาดสภาพคล่อง ติดตามเรื่องนี้ในบทความ
ช่วงนี้แวดวงธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะประกันภัยโควิด-19 มีเรื่องราวที่คนกำลังพูดถึงมากมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีข่าวดังเรื่องประกันภัยโควิด-19 บางแบรนด์เทลูกค้ากลางทาง ต่อมาก็เรื่องบริษัทประกันภัยบางบริษัทที่ขาดสภาพคล่อง เรื่องทั้งหมดทำเอาลูกค้าหลายคนต่างใจหายใจคว่ำ หวั่นใจว่าจะไม่ได้รับการเคลม นอกจากนี้ยังพบปัญหาประกันโควิด-19 เจอ จ่าย จบ เคลมล่าช้าอีกด้วย
เดินหน้าแก้ปัญหาบริษัทประกันภัยขาดสภาพคล่อง
ทั้งนี้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเต็มสูบเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวก สบายมากที่สุด ล่าสุดเพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับลูกค้า ได้ออก 7 มาตรการผ่อนผันเกณฑ์ทางการเงิน สำหรับบริษัทประกันที่มีเคลมประกันโควิด เพื่อเสริมสภาพคล่องจ่ายค่าเคลม เป็นการชั่วคราวมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 30 ก.ย.นี้ พร้อมตั้งทีม ติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ได้รับการผ่อนผัน
เร่งแก้ไขปัญหาธุรกิจประกันภัยขาดสภาพคล่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
• คปภ. ห้าม เอเชียประกันภัย รับทำประกันใหม่ชั่วคราว เร่งเคลมลูกค้ารายเดิม
• เปิดข้อแนะนำประกันภัยน้ำท่วมรถ ประกันภัยน้ำท่วมบ้าน รับฝนถล่มช่วงนี้
• สมาคมประกันวินาศภัยไทย แจงเรื่องเทประกันภัยโควิด ยันส่วนใหญ่ไม่ยกเลิก
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า 7 มาตรการผ่อนผันการเงินบริษัทประกันเคลมประกันภัยโควิด-19 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ส่อง 7 มาตรการผ่อนผันการเงินบริษัทประกัน
1. ยกเว้นคำนวณเงินกองทุนความเสี่ยงประกันภัยจากการรับประกันภัยโควิด
2. ให้นับเงินกู้ยืมด้อยสิทธิ์ที่กำหนดมาเป็นเงินกองทุนชั้น2 ได้
3. ผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขั้นต่ำ
4. ยกเว้นนำค่าเผื่อความผันผวน PAD มาคำนวณเงินกองทุน
5. นำเบี้ยประกันค้างรับ ระยะค้างชำระไม่เกิน 30 วันมาใช้เป็นสินทรัพย์หนุนหลัง
6. ให้นำเบี้ยประกันค้างรับที่มีระยะค้างชำระไม่เกิน 30 วัน มาคำนวณเงินสำรอง
7. ให้บริษัทมีสัดส่วนเงินสด เงินฝากธนาคาร บริหารสภาพคล่องได้เกินร้อยละ 5
อย่างไรก็ตามบริษัทที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดข้างต้นสามารถยื่นคำขอผ่อนผันต่อนายทะเบียน โดยจะต้องจัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขฐานะการเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 และต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนต่อนายทะเบียนทุก 15 วัน คปภ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานรวม 3 ชุด เพื่อกำกับดูแล กลั่นกรองพิจารณาคำขอ และตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ได้รับการผ่อนผัน ทั้งนี้ หากบริษัทไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด นายทะเบียนมีอำนาจยกเลิกมาตรการผ่อนผันได้เลยทันที