คปภ.ไฟเขียว สั่งให้บริษัทประกันชีวิต-วินาศภัย ให้จ่ายค่ารักษาโควิด-19 ที่รักษาตัวเองแบบ Home isolation- Community isolation พร้อมให้จ่ายชดเชยรายได้สูงสุดไม่เกิน 14 วัน ใครเข้าข่ายก็สามารถติดต่อตัวแทนประกันที่ท่านซื้อได้
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ได้ลงนามประกาศคำสั่งนายทะเบียน เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับการติดเชื้อโควิด-19 และได้เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation สำหรับบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย สามารถให้ลูกค้าเคลม ประกันโควิด Home isolation ชดเชยรายได้ไม่เกิน 14 วัน
เช็กเงื่อนไขเคลมประกันโควิด-19 Home isolation
ทั้งนี้การดูแลรักษาแบบ Home Isolation หมายความว่า กรณีผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด และแพทย์ดูแลรักษาของหน่วยบริการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้ผู้ป่วยรายนั้นแยกกักตัวในที่พักได้อย่างเหมาะสม และปลอดภัย โดยได้รับการยินยอมจากผู้ป่วย และเจ้าของสถานที่ และรวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยรักษาในหน่วยบริการ และกลับมาแยกกักตัวในที่พักต่อจนครบกำหนด ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
สำหรับการดูแลรักษาแบบ Community Isolation หมายความว่า กรณีผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และแพทย์ดูแลรักษาของหน่วยบริการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้ผู้ป่วยรายนั้นแยกกักตัวในชุมชนได้ ทั้งผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือกลับมาดูแลรักษาต่อจากโรงพยาบาลจนครบกำหนด โดยจัดให้มีพื้นที่เอกเทศในชุมชนสำหรับแยกกับตัวผู้ติดเชื้อ โดยได้รับการยินยอมจากทางผู้ป่วยและเจ้าของสถานที่ ในการจัดเตรียมสถานที่เพื่อดูแลการรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
อย่างไรก็ตามสาระสำคัญ ให้บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ที่มีข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อโควิด-19 ให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ซึ่งมีการดูแลรักษาแบบ Home isolation วิธีการดูแลแบบ community isolation ดังนี้
1.กรณีกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากค่ารักษาพยาบาล ตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย
คปภ.ไฟเขียวให้เคลมประกันโควิด แบบHome isolation
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เปิด 4 เกณฑ์ใหม่ ‘ประกันโควิด’ จ่ายสินไหม เพิ่มผลประโยชน์ให้ลูกค้า
• ก่อนซื้อ ประกันโควิด19 ควรดูอะไรบ้าง? เดี๋ยวโอ๋สรุปให้
• ประกันโควิด 19 ล่าสุด ค่ายไหนยังคุ้มครอง อัตราเบี้ยประกันภัยล่าสุด
2.กรณีกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ให้อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาล แบบการรักษาตัวผู้ป่วยนอก ตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากค่ารักษาพยาบาล ตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย
3.กรณีกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล กรณีเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ให้อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบการรักษาตัวผู้ป่วยนอก ตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากค่ารักษาพยาบาล ตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย
โดยค่ารักษาแบบการรักษาตัวผู้ป่วยนอกวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงรายการค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์และแนวทาง และราคาที่ไม่ต่ำกว่าที่กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานภาครัฐอื่นกำหนดไว้ ถ้ามีจำกัดเฉพาะค่าใช้จ่าย ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลเท่านั้น นอกจากนี้ ให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยรายวัน หรือค่าชดเชยรายได้ สำหรับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิด-19ตามความคุ้มครองที่ให้จ่ายค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
ส่องเงื่อนไขชดเชยรายได้
1. มีเอกสารแสดงว่าผู้เอาประกันเป็นผู้ป่วย ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยแพทย์ผู้ดูแลรักษา
และ 2. มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษา เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิด-19 แม้ในเบื้องต้นอาจมีลักษณะเข้าข่าย
นอกจากนี้จะได้รับการดูแลแบบ Home isolation หรือ community isolation ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก็ตาม เช่น มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, มีภาวะอ้วน หมายถึง มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม และมีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง(COPD) โรคไตเรื้อรัง(CKD Stage 3,4) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคอื่น ๆ ตามดุลพินิจของแพทย์
ทั้งนี้จะให้จ่ายค่าชดเชยรายวัน หรือค่าชดเชยรายได้วรรคหนึ่ง ไม่เกิน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่มีเหตุ อย่างไรก็ตามนอกจากค่าใช้จ่ายตามที่กำหนด ให้บริษัทพิจารณาได้ตามความเห็นสมควร โดยคำสั่งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตามสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ซึ่งบริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งก่อนและหลังที่มีคำสั่งนี้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564
พามาดูบริษัทไหน รับลูกแล้วบ้าง ?
#สปริงนิวส์ ได้สำรวจว่า มีบริษัทประกันภัยไหนบ้าง ที่ออกมารับลูก เรื่องนี้ พบว่า เบื้องต้นมีหลายบริษัทที่ออกมารับลูกเรื่องนี้ อย่างเช่น เอไอเอ ประเทศไทย , บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) , บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)