เพราะโควิด-19 เป็นเหตุ ไม่เพียงทำให้ผู้ใหญ่ต้อง Work From Home แต่เด็กไทยเองก็จำต้อง Study From Home เรียนออนไลน์ อยู่ข้างๆ คุณพ่อคุณแม่ที่บ้านเช่นกัน แต่หลังจากเด็กไทยเผชิญโลกการเรียนแบบผ่านจออย่างลุ่มๆ ดอนๆ มาเกือบสองปี
ผลสำรวจเด็กไทยกลับพบว่า การเรียนแบบ Online ไม่อาจเทียบเท่า On site ได้ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง อีกทั้งส่งผลกระทบกับสุขภาพกายและใจเด็กไทยไม่น้อย
ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สำรวจผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย อายุ 15-19 ปี จำนวน 6,771 คนเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 พบเด็กและเยาวชนมีความเครียด วิตกกังวล ด้านการเรียน ร้อยละ 70 ล่าสุดอีกผลการสำรวจชีวิตช่วงเรียนออนไลน์ของเด็กไทยผ่านสื่อโซเชียลออนไลน์อย่างคลับเฮาส์ เด็กไทยหลักร้อยคน ต่างเข้ามาเผยความในใจว่าพวกเขาต้องปรับตัวปรับชีวิตตั้งแต่ตื่นนอนไปจนเข้านอน และส่วนใหญ่มีปัญหากับการเรียนแบบออนไลน์ ที่กำลังทำให้พวกเขามีความสุขน้อยลง
ชีวิตออนไลน์ เครียดแค่ไหน?
ผศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและกุมารแพทย์ เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก กล่าวถึงสถานการณ์สุขภาพของเด็กไทยในขณะนี้ว่า
“เวลาพูดเรื่องสุขภาพเด็กหลักๆ เราหมายถึงเรื่องร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ การที่เด็กอยู่หน้าจอตลอดวัน การกระพริบตาน้อยลง ตาแห้ง แสบตา ปวดหัว กล้ามเนื้อเกร็งในท่าเดียวตลอดทำให้ปวดเมื่อย และยังส่งผลไปพฤติกรรมสุขภาพทั้งพฤติกรรมการกิน การนอน ทั้งการบริโภคอาหารที่ขาดโภชนาการหรือเป็นโรคอ้วน
“ซึ่งสิ่งที่เราพบเด็กขาดธาตุเหล็ก มีผลต่อสมอง เพราะเวลาเด็กที่อยู่บ้านแล้วผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลหรือจัดอาหารให้ในด้านสุขภาพจิต การนอนไม่เพียงพอทำให้เด็กไม่สดชื่น ไม่อยากเรียน” ผศ.พญ.แก้วตาเอ่ย
แต่หัวใจสำคัญในการประคับประคองดูแลเด็กนั้น ผศ.พญ.แก้วตา กล่าวต่อว่าอยู่ที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครอบครัวมากที่สุด
“คีย์หลักสำคัญสุดคือพ่อแม่ เพราะไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม หรือจะเครียดแค่ไหนก็ตาม ถ้าเขามีผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ยังรักเขาและฟังเขาจะเป็นความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง
“ธรรมชาติเด็กจะเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว อย่างแรกเลยคือพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเอง การออกกำลังกาย และพ่อแม่มีหน้าที่จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ลูกเพื่อให้มีกิจกรรมทางกาย เพราะพื้นที่ที่บ้านควรเป็นพื้นที่แรกที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ ถัดมาคือโรงเรียน ต้องช่วยกันสอดแทรกเรื่องสุขภาพอนามัยในการเรียนการสอน ทั้งเรื่องการออกกำลังกาย อาหาร สุดท้ายระบบสังคมต้องเข้ามาช่วยเสริม”
นอกจากนี้ การมีทัศนคติเชิงลบของพ่อแม่มีความสำคัญต่อเด็ก ที่จะส่งผลต่อความเครียดและกดดันของเด็ก และอาจส่งผลให้เด็กเกิดความเบื่อหน่ายกับการเรียน
“เราพบว่าคุณพ่อคุณแม่มักเครียดจาก Work From Home ไม่มีเวลา กลายเป็นปฏิสัมพันธ์เชิงลบในครอบครัว แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลา ก็ต้องเป็นหน้าที่ครูที่จะช่วยทำหน้าที่ช่วงเวลานี้เราอาจจำเป็นต้องเดินตามแนวทาง Individualize อาทิ การจัดเวรเยี่ยมบ้าน เพราะในเด็กจำนวนสิบคน อาจมีครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่มีเวลา และมีเวลา ในส่วนไม่มีเวลา ไม่มีคนดูแล ครูอาจเข้ามาช่วยแทนได้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทางกระทรวงศึกษาธิการเองก็มีนโยบายในส่วนนี้แล้ว”
เรียนออนไลน์ ไม่จบแค่ที่ครูกับนักเรียน
สนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ เอ่ยยอมรับว่ารูปแบบการเรียนออนไลน์ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนในโรงเรียนได้ทั้งหมดจริง ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ปัจจุบันเด็กในพื้นที่สีแดงเข้มจะต้องเรียนออนไลน์เกือบหมด มีเพียงพื้นที่บางส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบยังเป็นออนไซต์ เช่น เชียงราย
แต่การต้องเรียนออนไลน์ยังส่งผลไปถึงโภชนาการเด็กด้วย สำหรับแนวทางแก้ไขในเรื่องนี้ กระทรวงศึกษาธิการจึงจัดสรรงบประมาณแก่เด็กและครอบครัวในการจัดทำอาหารกลางวันและจัดซื้อนมแจกให้ผู้ปกครองตั้งแต่ในช่วงแรกของวิกฤต อย่างไรก็ดี อีกแนวทางในการบรรเทาสถานการณ์ที่ตึงเครียดในขณะนี้ของภาครัฐ คือการยังให้ความสำคัญกับมาตรการด้านต่าง ๆ ที่ช่วยแบ่งเบาหรือลดภาระของทุกฝ่าย
“เรื่องแรกคือการลดต่างๆ เราลดภาระครูด้วยการลดงาน ปกติครูต้องจัดการรายงานเอกสารต่าง ๆ กว่าเจ็ดสิบโครงการ แต่เรามองว่าบางเรื่องชะลอได้ เราจึงลดเหลือเพียงสิบกว่าโครงการ ส่วนพ่อแม่ เรามองว่าภาระที่ต้องจ่ายเงินเข้ามา กระทรวงฯ เองก็มีนโยบายการลดภาระค่าเทอม ยกเลิกค่าใช้จ่ายบางรายการ อาทิ ค่าบำรุงการศึกษา ค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ช่วงต้นเดือนกันยายนที่จะถึง เรายังมีเงินเยียวยาให้กับผู้ปกครองเด็กอีกสองพันบาท ในส่วนลดภาระนักเรียน เราใช้วิธีการทำความเข้าใจกับครูและนักเรียน ให้บูรณาการเรื่องการบ้าน ทำอย่างไรที่จะลดลง การบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาใดวิชาเดียว สามารถประเมินได้เป็นอย่างไร รวมถึงในดานการประเมินบางโรงเรียนแจ้งแล้วว่าไม่มีการสอบ หรือการประเมิน จะเห็นว่าเราทำทั้งระบบ”
สำหรับในการประเมินการเรียนรู้ของเด็กนั้น รองเลขาธิการ กพฐ. เสนอแนวทางว่า พ่อแม่เองอาจสามารถทำเอง ช่วยประเมินลูกได้ที่บ้าน “ผมมองว่ายังมีหลายเรื่องที่พ่อแม่สามารถเพิ่มการเรียนรู้ให้ลูกหลานได้ แต่สิ่งสำคัญต้องมีสื่อสาร มอบความรู้ให้เขาเข้าใจ จากข้อมูลที่มีอยู่ ผมมองว่าความสำเร็จเกิดด้วยความร่วมมือของภาคีภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึง สสส.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีจุดเด่นด้านองค์ความรู้ด้านสุขภาวะ และส่งเสริมการเรียนรู้แก่เด็ก ที่ผ่านมา สสส.ได้มีการผลิตคู่มือต่าง ๆ ซึ่งเป็นสื่อที่มีประโยชน์อย่างมากในช่วงเวลาเช่นนี้ ในเรื่องพ่อแม่ จึงอยากฝาก สสส. ที่จะช่วยพัฒนาสื่อสำหรับกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกในภาวะต้องอยู่ที่บ้านด้วย”
ทุกพื้นที่ คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้
ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าวว่า แม้จะต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลง เด็กก็ยังต้องไม่หยุดการเรียนรู้ เพียงแต่จะเรียนรู้แบบไหน หรือเรียนในระบบอื่น ๆ ได้
“เราใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาวิธีคิดของเด็ก พฤติกรรมสุขภาพ เพราะปัจจัยที่เข้ามาน่าจะอยู่กับเราอีกนาน ซึ่งงานหนึ่งที่เราค้างไว้คือกิจกรรมทางกาย เพราะมีการศึกษาวิจัยทำไว้ว่าเด็กที่มีการขยับเขยื้อนมากจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
“ความจริงทุกพื้นที่สามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ แม้แต่เตียงนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น หลังบ้าน สนามแถวบ้านให้เด็กได้ขยับมีท่ากายบริหาร ซึ่งเด็กมีศักยภาพเรียนรู้อยู่แล้ว”
ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. เอ่ยต่อว่า โรงเรียนชีวิต สิ่งแวดล้อม ข้อมูลข่าวสาร สื่อ มีบทบาทที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ช่วยเสริมเป็นปัจจัยแวดล้อมกับการเรียนรู้ของเด็ก แม้พ่อแม่สอนไม่ได้ แต่สามารถทำหน้าที่เสริมให้ลูกหลานได้ รวมถึงคนใกล้ตัวรอบตัวที่ไม่ใช่พ่อแม่ อาทิ ญาติผู้ใหญ่ ก็อาจเป็นคนที่จะอยู่กับเด็กและดูแล สามารถช่วยเรียนรู้ สร้างปฏิสัมพันธ์กันและกันให้กับเด็กที่บ้านได้
“กรณีเด็กที่อยู่กับคุณตาคุณยาย บางคนอาจมองเป็นอุปสรรคเด็กเรียนออนไลน์เนื่องจากผู้สูงวัยอาจไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยี แต่ความจริงที่เราพบว่ามีหลายครอบครัวที่ปู่ย่าตายายสามารถใช้เทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี ตรงนี้คือโอกาส สอนเล่นเกมส์ สอนดูคลิป ก็ได้” ดร. นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ถึงคราพ่อแม่ต้องเรียนออนไลน์
หลังพบว่าพ่อแม่หลายคนพบปัญหาหนักอกหนักใจจำนวนมากจากพฤติกรรมของลูกที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านและเรียนหนังสือออนไลน์ แต่กลับไม่มีช่องทางการปรึกษา ปัจจุบัน สสส.จัดทำคู่มือ และสื่อ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ สำหรับการปรับตัวในช่วงสถานการณ์ที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน ล่าสุด สสส. ร่วมกับ สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเว็บไซต์ https://www.netpama.com สร้างหลักสูตรฝึกอบรมผู้ปกครองของเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม (Internet-Base Parent Management Training Program: Net PA-MA เน็ต ป๊า-ม้า) ขึ้นมาซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยพ่อแม่ยุคใหม่ให้รู้วิธีเลี้ยงลูกเชิงบวก และทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง ผ่านองค์ความรู้ที่นำไปใช้ปฏิบัติได้จริง 6 บทเรียน ได้แก่
1.ปัจจัยพื้นฐานในการปรับพฤติกรรมเด็ก
2.ทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร
3.เทคนิคการชม
4.เทคนิคการให้รางวัล
5.เทคนิคการลงโทษ
6.เทคนิคการให้คะแนน ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ปกครองอายุ 25-50 ปี ที่ต้องการศึกษาวิธีเลี้ยงลูกที่ถูกต้องผ่านพฤติกรรมและคำพูดเชิงบวก
รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงหลักสูตรนี้ว่า
“เนื้อหาแต่ละบทเรียน จะสอนเทคนิคต่างๆ เช่น ลูกไม่ทำการบ้าน ไม่มีสมาธิเรียน ทะเลาะกัน และไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ต้องใช้วิธีจัดการหรือใช้คำพูดกับเด็กอย่างไรให้เหมาะสม โดยที่ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็ก จะไม่บอบช้ำทางจิตใจ สำหรับพ่อแม่ที่สนใจหลักสูตรเลี้ยงลูกออนไลน์มีคอร์ส 2 รูปแบบ ได้แก่ คอร์สเร่งรัด เหมาะกับคนที่มีพื้นฐานจิตวิทยาการเลี้ยงลูก ไม่ค่อยมีเวลา อยากเรียนรู้เทคนิคบางอย่าง และ คอร์สจัดเต็ม เหมาะกับคนที่ต้องการเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นในการปรับพฤติกรรมเด็กทั้งการสื่อสาร จับอารมณ์ สะท้อนความรู้สึก เทคนิคการชม ให้รางวัล ลงโทษ ฯลฯ”
หนึ่งในผู้ปกครองที่เข้าร่วมหลักสูตรออนไลน์ที่เข้าร่วมสอนเทคนิคในการปรับพฤติกรรมเชิงบวกเด็กกับ www.netpama.com
วณัฐพร พีรพุทธรางกูร เผยถึงจุดเริ่มต้นที่ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมลงทะเบียนเรียน เพราะต้องการมีองค์ความรู้เรื่อง ‘จิตวิทยาเด็ก’ เพื่อนำไปใช้กับลูกในชีวิตประจำวัน จึงเลือกสมัครคอร์สแบบจัดเต็ม 6 บทเรียน โดยเนื้อหาเรียนทำให้ได้รู้วิธีการและเทคนิคเชิงบวกในการดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลังจากเรียนนอกจากได้รับประกาศนียบัตรและคะแนนสะสมเพื่อใช้เป็นสิทธิพิเศษในการปรึกษาจิตแพทย์เด็ก วัยรุ่น และนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ในการดูแลเด็กแล้ว แล้วยังสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้เลี้ยงลูกในระยะยาวได้ ทั้งการสานสัมพันธ์ในครอบครัว การใช้คำพูดและคำชมเชิงบวก รวมถึงวิธีการให้รางวัลและลงโทษที่เหมาะสม และหลังจากนำมาใช้ในการเลี้ยงลูกพบว่า เด็กมีเหตุผล เชื่อฟัง มีความรับผิดชอบมากขึ้น และทำให้ตัวเองในฐานะผู้ปกครองก็ได้มีมุมมองการเลี้ยงลูกแบบใหม่คือ เลิกคาดหวังกับลูก ไม่กดดันในสิ่งที่เด็กไม่ชอบ เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีความสุข ควบคู่กับการมีสุขภาวะที่ดี