ช่วงนี้หลายคนกำลังลำบากมาก ๆ ประสบปัญหาทางการเงิน จะหันหน้าไปพึ่งใครก็ดูจะลำบากกันไปหมด อีกหนึ่งทางเลือกเพื่อทางรอด คือสถาบันทางการเงิน ที่เปิดช่วยเหลือหลากหลายมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน วันนี้พาส่องเงื่อนไขต่างๆในบทความนี้
ต้องยอมรับช่วงนี้หลายคนถอนหายใจวันละหลายสิบรอบทั้งยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ลดเลย และเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ทำมาหากินกันไม่ได้เลย บุญเก่าก็งัดมาใช้จนแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวแล้วจริง ๆ จะหวังกู้เงินจากสถาบันการเงินก็ต้องผ่านหลายขั้นตอน ในขณะที่หนี้สินก็เดินต่อเนื่อง แต่...ถึงอย่างไรชีวิตก็ต้องเดินต่อไป ใครที่มีหนี้กับแบงก์ จะพักชำระหนี้ อยากปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ หรืออยากรู้ว่าแบงก์ไหนมีมาตรการอะไรอยู่ตอนนี้ ต้องลองเช็กดู แล้วเข้าไปติดต่อสถาบันการเงินได้เลยเพื่อจะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา
ส่องดูว่าแบงก์ไหนช่วยอะไร ระลอกใหม่
วันนี้ #สปริงนิวส์ ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นมาให้เข้าใจง่าย ๆ เผื่อใครจะนำไปใช้ และติดต่อแบงก์เพื่อขอรับการช่วยเหลือมาตรการต่าง ๆ ที่แบงก์ออกมาในช่วงนี้ ช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก ตามรายละเอียดด้านล่างนี้
-มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน (ลุ้นจะมีต่อไหม)
-เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ลดต้น ลดดอก
-ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากใหม่
-แบงก์ปล่อยเงินกู้ SME ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ดอกเบี้ย 1 %
-ออมสิน ปล่อยกู้รายวัน ดอกเบี้ย 1-1.5 %
-ธกส. ขยายเวลาชำระหนี้ 1 ปี ไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน
-อื่น ๆ
ช่วงนี้หลายแบงก์ กำลังออกมาตรการทางการเงินช่วยเหลือลูกค้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• แอปพลิเคชันการเงิน แบงก์ไหน ? ช่วยกู้เสริมสภาพคล่อง พักชำระหนี้ ได้ !
• พักหนี้ 2 เดือน แค่บรรเทาเจ็บปวด จะให้ดีต้องลดดอกเบี้ย 0% พักหนี้ยาวสิ้นปี !
• ดูชัด ๆ มาตรการพักหนี้ 2 เดือน ช่วยลูกหนี้พื้นที่ล็อกดาวน์ มีอะไรบ้าง ?
เปิดความเคลื่อนไหวแบงก์ที่มีผลต่อชีวิตเรา
จากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้นสามารถอธิบายความเคลื่อนไหวของแบงก์ ได้ดังนี้ มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย และ สมาคมธนาคารนานาชาติ เห็นร่วมกันที่จะออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งมาตรการนี้ก็ยังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ แต่ได้ข่าวมาแว่ว ๆ ว่า กำลังมาการหารือเพื่อต่อมาตรการมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ออกไปอีก รวมถึงผุดโมเดลใหม่ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้ลูกหนี้เป็นระยะยาวมากขึ้น แฮร์คัท ลดดอกเบี้ย ลดงวดผ่อนชำระ ประเด็นนี้ต้องจับตาดูเร็วๆ นี้
ความเคลื่อนไหว ต่อมา คือการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากใหม่ ของสถาบันการคุ้มครองเงินฝาก ที่ปรับลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี จากเดิม 5 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ฝากส่วนใหญ่ของประเทศ ประเด็นนี้ทำเอาหลายคนตื่นเต้นกันมาก ๆ แต่จริง ๆแล้วก็ไม่ได้มีอะไรที่ต้องตื่นตระหนกมากมาย เพราะแบงก์ก็ออกมายืนยันว่าทำไปเพราะสร้างความแข็งแกร่งให้สถาบันการเงินในยามที่เศรษฐกิจอ่อนแอ
สสว.ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย 1% ต่อปี ช่วย SME
ต่อมา คือ ความเคลื่อนไหวของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย 1% ต่อปี ช่วยเอสเอ็มอี ท่องเที่ยว ร้านอาหารพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้ม โดยคุณสมบัติของผู้ยื่นกู้คือ ต้องเป็นสมาชิก สสว. กรณียังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สสว.สามารถขอขึ้นทะเบียนก่อนได้ http://members.sme.go.th/ newportal/ โดยต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มรายย่อย และขนาดย่อม ตามนิยามของ สสว. อยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮาส์ และธุรกิจสปาที่ตั้งอยู่ในโรงแรม ห้องพัก เกสต์เฮาส์ ใน 10 จังหวัด พื้นที่นำร่องเปิดการท่องเที่ยวหรือที่จะมีประกาศเพิ่มเติม รวมถึง ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ใน 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
ออมสินผุดโมเดลปล่อยกู้รายวัน ช่วยลูกค้า
ถัดมา คือ ธนาคารออมสิน ที่ออกมาปล่อยกู้รายวันเพื่อช่วยกลุ่มฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงนี้ ซึ่งจะมีการคิดดอกเบี้ยเพียง 1-1.5% ใครสนใจลองติดต่อ หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ธนาคารออมสิน ต่อมาฟากของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดปศุสัตว์ โดยเฉพาะโรคลัมปีสกิน ที่แพร่ระบาดในโค กระบือ และโรคระบาดอื่น ๆ ในสุกร โดยขยายระยะเวลาชำระหนี้ 1 ปี และลดดอกเบี้ยเงินกู้เหลือ 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ยังมีธนาคารอื่น ๆ ที่ออกมาตรการมาช่วยลูกค้าช่วงโควิด-19 ลองเข้าไปศึกษารายละเอียดของแต่ละธนาคารดูเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปก่อนช่วงนี้ !