ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะมีความคืบหน้าในเร็ววันนี้หรือไม่ ? สำหรับแนวทางการปรับ โครงสร้างภาษีใหม่ ที่กรมสรรพากร ออกมาชี้ว่าจะต้องช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะปรับปรุงลดหย่อน อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดสิทธิประโยชน์คนรวย และให้เอื้อต่อคนชั้นกลาง
ภาษี เป็นสิ่งที่ผู้ที่มีรายได้ หรือทำธุรกิจต้องเสียเป็นประจำทุกปี แต่จะเสียมาก หรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเสียภาษีอะไร รายได้เท่าไหร่ แต่มีประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงกันมากในสังคม คือความเหลื่อมล้ำในการเสียภาษีระหว่างคนจน กับคนรวย ซึ่งในไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ จึงทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ เพื่อลดช่องว่างตรงนี้
ลุ้นคลอดโครงสร้างภาษีใหม่
ล่าสุด กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ออกมาชี้โครงสร้างภาษีใหม่ ว่าจะต้องช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยการปรับปรุงรายการลดหย่อน และการปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องลดสิทธิประโยชน์คนรวยและเอื้อต่อคนชั้นกลาง ซึ่งก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะมีการปรับโครงสร้างภาษี เสียเมื่อไหร่
เตรียมปรับโครงสร้างภาษีใหม่ เอื้อคนชั้นกลาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• โควิด-19พ่นพิษคนไม่มีเงิน ทำคลังเก็บภาษีวืดเป้า 2 แสนล้านบาท
• พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ยุคโควิด-19 ต้องรู้ 3 วิธี ตั้งรับภาษีอีเพย์เมนต์
• วันนี้ยื่นภาษีภ.ง.ด.90/91วันสุดท้าย ถ้าเกินกำหนดจะโดนอะไร ?
เรื่องนี้ถูกเปิดเผยจาก ‘นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ’ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกมาเปิดเผยว่า แนวทางการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร คือ การปรับปรุงค่าลดหย่อนภาษี และการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะมีหลักการ คือ จะต้องดำเนินการเพื่อเอื้อให้คนชั้นกลางได้ผลประโยชน์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงไปในทิศทางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากค่าลดหย่อนทางภาษีเงินได้ในปัจจุบันส่วนใหญ่คนที่ได้ประโยชน์ คือ คนที่มีรายได้สูง ส่วนคนชั้นกลางที่อยู่ในฐานภาษีได้รับประโยชน์ที่น้อยกว่า
ปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ใช่เรื่องง่าย
ทั้งนี้ในส่วนของการปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ในส่วนของกรมสรรพากร เห็นว่าหากจะปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องลดให้กับคนชั้นกลางลงมาที่อยู่ในฐานภาษี ส่วนเรื่องของการปรับปรุงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องแก้ไขประมวลกฎหมายของกรมฯ และยังมีความซับซ้อนต่าง ๆ อีกมากมายเพราะเนื่องจากเป็นอัตราแบบขั้นบันใด
สำหรับในปัจจุบันค่าลดหย่อนทางภาษี ได้ให้กับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีกว่า 20 รายการ คิดเป็นค่าลดหย่อนทางภาษีรวมกันทุกรายการ มากกว่า 2 ล้านบาท เช่น ค่าลดหหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ 6 หมื่นบาท,ค่าลดหย่อนบุตร 3 หมื่นบาท,ค่าใช้จ่ายในการซื้อเบี้ยประกันชีวิตที่มีกรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป หักลดหย่อนตามจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ไม่เพียงเท่านี้ยังมีการลดหย่อนค่าใช้จ่ายในการซื้อหน่วยลงทุน RMF 15 % ของเงินได้แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท,และเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่เกิน 15 % ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท
ทั้งนี้ในส่วนของบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้มีการปรับปรุงอัตราขั้นบันใดของเงินได้ใหม่ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2560 ได้กำหนด 8 ขั้นบันใดของเงินได้ เริ่มตั้งแต่เงินได้ที่ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี, เงินได้ที่มากกว่า 150,000 แต่ไม่เกิน 3 แสนบาท เสียในอัตรา 5 % และขั้นบันใดสุดท้าย หรืออัตราสูงสุด คือ รายได้ที่มากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป จ่ายในอัตรา 35%