เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งบริษัทเวอร์จินกาแลคติก สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้านการท่องเที่ยวในอวกาศ โดยเดินทางออกไปนอกโลกสำเร็จ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ถือว่า เป็นชัยชนะเล็กๆ ที่เขาได้ขึ้นไปในอวกาศ ก่อน เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งบริษัท Amazon เพียงไม่กี่วัน
ข้อความจากอวกาศ
"ถึงเด็ก ๆ ทุกคนบนโลก ผมเคยเป็นเด็กที่ฝันจะเห็นดวงดาว ตอนนี้ ผมเป็นผู้ใหญ่ในยานอวกาศ...มองลงไปยังโลกที่สวยงาม”
...นี่คือข้อความจาก เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ผู่ก่อตั้ง "เวอร์จินกาแลคติก" (Virgin Galactic) วัย 70 ปี กล่าวถึง เยาวชน เด็กๆ ทุกคนบนโลก ระหว่างการท่องเที่ยวในอวกาศเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก หลังจากที่เขา เดินทางออกไปนอกโลกสำเร็จลุล่วง ก่อนที่จะกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย
เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ถือว่า เป็นตัวอย่างแห่งการเดินตามรอยความฝันที่ยิ่งใหญ่ เป็นอีกหนึ่งของการจุดประกายไฟฝัน และความไม่ลดละความพยายาม สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ ของ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ตลอดเวลา 17 ปี ที่ก่อตั้ง บริษัท เวอร์จินกาแลคติก มาในความพยายามจะไป "แตะขอบฟ้า" อวกาศ
ทริปแตะขอบฟ้าอวกาศ
สำหรับเซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ และนักลงทุนผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทเวอร์จิน ซึ่งรวมถึงบริษัทเอกชนด้านอวกาศเวอร์จินกาแลคติก ได้นำผู้โดยสารกลุ่มแรก รวมทั้งสิ้น 6 คน ขึ้นยาน วีเอ็มเอส ยูนิตี (Virgin Galactic VSS Unity spaceship) ท่องอวกาศสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักในวงโคจรระดับต่ำ
ภารกิจทั้งหมด นับตั้งแต่ ยาน SpaceShipTwo ทะยานขึ้นจากฐานทัพอวกาศในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐ ตลอดจนสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนักบนเส้นโค้งผิวโลก กระทั่งยานยูนิตีลงจอดอย่างปลอดภัยใช้เวลาทั้งสิ้นราว 1 ชั่วโมงเศษ และทั้งคณะทั้งหมดก็ได้สัมผัสกับประสบการณ์อันล้ำค่า
ในความจริงแล้ว ...การท่องเที่ยวอวกาศของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ครั้งนี้ ถือว่า "มาช้า" ไปสักนิด เพราะ เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ประกาศตั้งแต่ปี 2004 ว่าจะผลิตเครื่องบินสู่อวกาศเพื่อเริ่มการบริการในเชิงพาณิชย์เพื่อให้ได้ภายในปี 2007 แต่ด้วยปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิต ทำให้ภารกิจทัวร์อวกาศนั้นกลายหนึ่งในโครงการที่ท้าทายที่สุดของชีวิตเขา ก่อนจะมาสำเร็จได้ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ เข็มนาฬิกาเดินอยู่ที่ ปี 2021
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศส โชว์รูป เชียร์ยูโร 2020 จากอวกาศ สุดว้าวซ่า!
กองทัพอากาศ ส่ง “ดาวเทียมนภา 2” ขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ ช่วงเช้ามืดวันนี้
ชัยชนะเหนือ เบซอส
การเดินทางสู่อวกาศของ เวอร์จินกาแลคติก โดยมี เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน เป็นคนนำหน้าครั้งนี้ ถือเป็นการ "ตัดหน้า" โครงการปล่อยจรวดของบริษัทคู่แข่ง Blue Origin ของมหาเศรษฐีเจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี อเมซอน Amazon เพียงไม่กี่วัน รวมทั้งโครงการท่องอวกาศของอิลอน มัสก์ เจ้าของบริษัท SpaceX ที่มีแผนจะปล่อยจรวดในเดือนกันยายนนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางออกนอกโลกครั้งนี้ของ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ก็มี อีลอน มัสก์ มาร่วมลุ้นดูเที่ยวบินนี้ด้วย ถึงแม้จะเป็นผู้แพ้จากมุมมองของสื่อที่หยิบมาแซว แต่ทั้งสองมหาเศรษฐี ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
สำหรับ มหาเศรษฐีเจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยี อเมซอน Amazon นั้น มีกำหนดการจะร่วมทดสอบทัวร์อวกาศเช่นกัน และเจฟฟ์ เบซอสจะเดินทางไปพร้อมลูกค้าคนหนึ่งที่ชนะการประมูลตั๋วเที่ยวบินนี้มูลค่า 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 840 ล้านบาท
สำหรับ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน และเจฟฟ์ เบซอส ต่างเป็นสองมหาเศรษฐีที่ตั้งบริษัทด้านการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ ทั้งสองจึงถือเป็นคู่แข่งกัน ต่างจากอีลอน มัสก์ ที่บริษัทสเปซเอ็กซ์ของเขาเน้นการขนส่งทางอวกาศและภารกิจตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์มากกว่า
ท่องอวกาศ กับ การแข่งขันที่สูงขึ้น
ก่อนหน้านี้ในช่วงยุคปี 2000 มหาเศรษฐีหลายคนยอมเสียเงินเพื่อต้องการไปเที่ยวชมสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ภายใต้โครงการของหน่วยงานด้านอวกาศของรัสเซีย แต่โครงการนี้ถูกระงับไป
แต่ภายหลังจากนั้น ก็มีแนวคิดทัวร์อวกาศมาเรื่อย ๆ ทั้งจากเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน เจฟฟ์ เบซอส และอีลอน มัสก์ ไม่เว้นแม้กระทั่งรัสเซีย ก็กำลังฟื้นฟูโครงการทัวร์ ISS เช่นกัน ตามรายงานข่าวระบุว่า ธนาคารยูบีเอส คาดว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอวกาศอาจมีมูลค่าสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า โดยสำหรับราคาตั๋วท่องอวกาศของเวอร์จินคาดว่าจะอยู่ที่ราว 250,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาทต่อคน
และการขึ้นไปในอวกาศครั้งนี้ ของ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ทำให้ มีผู้จองการทัวร์อวกาศและวางเงินจองกับ เวอร์จินกาแลคติก แล้วราว 600 คน โดยค่าตั๋วทัวร์อวกาศนั้นสูงถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 7.5 ล้านบาท
.
ใครจะไป "แตะขอบฟ้า" ก็...ยกมือขึ้น...(แต่ต้องมีพอเงินด้วยนะ)