เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เปรียบเสาไฟกินรีคือขนมหวานของคนโกง เผย ทั้งโกงเลียนแบบ – กินเป็นเครือข่าย โดยใช้ช่องว่างของกฎหมาย แนะทำความเข้าใจประชาชนในการใช้งบอย่างเหมาะสม เน้นคุณภาพไม่ใช่สวยงาม
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ บทความเรื่อง มองลึกเสาไฟกินรี...ใน เฟซบุ๊ก Mana Nimitmongkol โดย มีเนื้อหา ดังนี้ เสาไฟกินรีคือขนมหวานของคนโกงเพราะซื้อขายง่าย ได้ราคาดี จับผิดก็ยาก แถมยังทำให้พวกตนดูดีมีผลงานอีกต่างหาก การใช้เงินภาษีแบบล้างผลาญจึงเกิดขึ้นเลียนแบบไปทั่วประเทศ ถึงเวลาที่เราต้องมองให้ลึก ให้รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร การแก้ไขควรทำอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จัดอีก! สภาอบต.ราชาเทวะ อนุมัติงบ 68.4ล้านบาท ซื้อเพิ่มเสาไฟกินรี 720 ต้น
คลิปโซเชียล เมื่อหนุ่มนักสำรวจ พาเที่ยวผจญภัยไปในแดนเสาไฟกินรี
"เสาไฟกินรี" อบต.ราชาเทวะ บนถนนที่ไม่มีถนน เดินดูแบบ 360 องศา
1. โกงเลียนแบบ – กินเป็นเครือข่าย นอกจากเสาไฟส่องสว่างข้างถนนที่มีสารพัดรูปประดับ เคยสังเกตหรือไม่ว่ากว่าสิบปีมาแล้วประเทศของเรายังมีป้ายถนน ป้ายซอย ซุ้มประดับ รูปปั้น งานประติมากรรมตามที่สาธารณะอีกจำนวนมากที่ออกแนวศิลปะสวยมากสวยน้อยต่างกันไป การซื้อหาของเหล่านี้ระบาดไปทั่วไม่ได้มีแค่ อปท. แต่หน่วยงานอื่นอย่างกรมทางหลวงก็ใช้เงินไปมากเช่นกัน วันนี้จึงไม่มีใครบอกได้ว่าเราหมดเงินไปเท่าไหร่แล้วกับของแบบนี้ ไม่มีใครบอกได้ว่าการซื้อหาครั้งไหนคุ้มค่า ครั้งไหนที่ผลาญเงินและโกงกิน
โชคดีว่า วันนี้พลังของสื่อโซเชียลได้ตีแผ่พฤติกรรมนี้ให้สังคมได้รู้เห็นสิ่งผิดปรกติที่กำลังเกิดขึ้น
2. โอกาสของคนโกง หลายคนกล้าพูดเต็มปากว่า ‘การจัดซื้อเป็นไปตามขั้นตอน ถูกกฎหมายแล้วไม่มีคอร์รัปชันแน่นอน..!!’ แต่คอร์รัปชันไม่ได้มีแค่ในช่วงประมูลงานเท่านั้น อาจมีการเจรจาตกลง ล็อคสเปก ฮั้วกันในทุกขั้นตอนการจัดซื้อ ในกรณีนี้ยิ่งพิเศษกว่าเพราะมีการบิดเบือนเจตนาดีของรัฐให้กลายเป็นประตูที่เปิดกว้าง ทำให้ซื้อขายง่าย ได้ราคาดี แถมยังไม่มีใครเอาผิดได้ เพราะอะไรน่ะหรือ..
เสาไฟส่องสว่างข้างถนนมีเพื่อความสะดวกปลอดภัยของชาวบ้าน การมีรูปประดิษฐ์กินรีถือเป็นงานศิลปะที่สร้างเอกลักษณ์ท้องถิ่น เมื่อเพิ่มแผงโซล่าร์เซลล์เข้าไปอีกทำให้เสาไฟนี้กลายเป็นสินค้านวัตกรรมที่เข้าเงื่อนไขพิเศษตามกฎหมายและนโยบายรัฐ สองเหตุผลนี้ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย
ก. ปรกติการจัดซื้อต้องมีราคากลาง แต่เสาไฟที่มีสิ่งประดับรูปลักษณ์พิเศษจัดเป็น ‘งานศิลปะ’ ราคาจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจความพอใจเป็นสำคัญ รายละเอียดที่กำหนดในงานศิลปะนั้นยังเป็นเงื่อนไขล็อคสเปกสินค้าได้โดยปริยายอีกด้วย
ข. เพื่อส่งเสริมให้คนไทยประดิษฐ์คิดค้นสินค้าใหม่ เน้นงานวิจัยมากขึ้น ในปี 2558 ครม. จึงมีมติตามข้อเสนอของ สวทช. ให้จัดทำบัญชี ‘สินค้านวัตกรรม’ มีสินค้านับพันรายการ แล้วมีมาตรการส่งเสริมให้หน่วยราชการซื้อสินค้าในบัญชีนี้ เช่น ยอมให้ราคาแพงกว่าสินค้าอื่นได้ 10 - 20% จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ คัดเลือกหรือเฉพาะเจาะจงก็ได้ เสาไฟกินรีจึงได้สิทธิพิเศษนี้เช่นกัน ด้วยโอกาสที่กฎหมายเปิดให้เช่นนี้ คนสั่งการจึงได้ทั้งเงินทองและผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลที่กระทำไป การใช้ดุลยพินิจทำได้แม้จะขาดเหตุผลและข้อมูลที่ชัดเจนถึงความเหมาะสม จำเป็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โอกาสและแรงจูงใจที่จะทำเพื่อตนเองและพวกพ้องก็เกิดขึ้น นั่นคือคอร์รัปชัน
3. คิดเองทำเองหรือเขาสั่งมา มีข้อสังเกตว่า คดีคอร์รัปชันใน อปท. ที่ถูกเปิดโปงหรือถูก ป.ป.ช. ดำเนินคดีมักเป็นการซื้อการลงทุนที่คล้ายกันหลายแห่งในเวลาไล่เลี่ยกัน เช่น คดีสนามฟุตซอล คดีสนามเด็กเล่น คดีกล้องวงจรปิด ที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาทำตามๆ กัน หรือมีเครือข่ายชักใยอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่เป็นนักการเมืองระดับชาติหรือข้าราชการจากส่วนกลาง โดยมีพ่อค้าเป็นคนวิ่งประสานงาน เครือข่ายเหล่านี้จะแนะนำขั้นตอนวิธีการและแผนการประมูลว่าที่ไหน จะให้ใครชนะการประมูล ราคาเท่าไหร่ ใครเป็นคู่เทียบไปจนถึงการจ่ายเงินทอน มีอยู่บ้างที่ผู้บริหาร อปท. เห็นแบบอย่างจากที่อื่นแล้วทำกันเองหลังเจรจากับพ่อค้า ดังนั้นการจัดซื้อทั้งหมดจึงเป็นเรื่องง่ายและมีตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นแล้ว
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริหาร อปท. หลายแห่งตัดสินใจซื้อเสาไฟแบบนี้เพราะแรงกดดันของชาวบ้านที่อยากเห็นของสวยของแปลกในชุมชนของตนบ้าง
4. ข้อเสนอแนะ
ก. ทำความเข้ากับประชาชน ในโลกความเป็นจริงชาวบ้านอาจอยากได้เสาไฟสวยๆ สว่างไปทั่วก็ได้ ขณะที่บางคนยังคิดว่าเงินหลวง ไม่ใช่เงินเรา วันนี้ขอให้ตนได้ประโยชน์จับต้องได้ก็พอใจแล้ว ดังนั้นหากมีข้อมูล มีการวิเคราะห์ให้เขาเรียนรู้ตัดสินใจการใช้งบประมาณ น่าจะเป็นทางออกที่ดีในระยะยาว เป็นต้นว่า
การใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ร่วมกันในเรื่องเหมาะสมและในยามจำเป็น เช่น ทำน้ำประปาดื่มได้ ปรับปรุงถนนทางเท้า ดูแลความสะอาด ติดกล้องวงจรปิด มีสถานพยาบาลชุมชน พัฒนาสวนหย่อม แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน ในสถานศึกษาเพิ่มงบจ้างครูสอนภาษาอังกฤษ - จีน เพิ่มอาหารกลางวัน จัดระบบดูแลคนป่วยคนชรา เป็นต้น ควรมีเงินสดไว้ใช้ยามจำเป็น เจอโควิดก็ดูแลกันได้เต็มที่ เกิดเหตุร้ายแรงอย่างไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ ก็พร้อมช่วยเหลือดูแลลูกบ้านทันทีไม่ต้องรอรัฐบาล เสาไฟฟ้ามาตรฐานประหยัดทนทาน แต่รูปปั้นและโซล่าร์เซลล์ราคาแพงอายุงานสั้น อาจชำรุดหรือถูกลักขโมย ต้องเสียเงินซ่อมบำรุงอีกมาก
ข.ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี่ การตรวจสอบข้อมูลมักไม่ครอบคลุม เพราะหลายครั้งพบว่าผู้ซื้อทำเป็นรายการแฝงอยู่ในโครงการอื่นหรือแสดงชื่อสินค้าที่แปลกประหลาด ทำให้ตรวจสอบยาก เช่น รูปปั้นไก่ประดับสะพานที่พิษณุโลก เสาไฟรูปโหวดที่ร้อยเอ็ด ต้นโกงกางเทียมที่สมุทรปราการ
ระยะสั้น: สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ติดตามการใช้งบประมาณได้ทางอินเตอร์เน็ตโดยรัฐต้องพัฒนาระบบการเปิดเผยข้อมูลโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับงบประมาณ (Open data & Open budgeting)
ระยะยาว: พัฒนาระบบบิ๊กดาต้า โดยเชื่อมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขายสินค้าว่ามีกำไรและการจ่ายเงินแก่บุคคลที่ผิดปรกติหรือไม่ โดยดูจากการเสียภาษีและบัญชีสต็อคสินค้า การจ่ายเงินประกันสังคม ข้อมูลราคาสินค้าที่เหมาะสม เช่น ราคาตลาด การประเมินโดยเอกชนผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตรวจสอบเส้นทางการเงินและการร่ำรวยผิดปรกติของผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ค. ตกลงกติกาชัดเจน โดยประชาคมและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเช่น มหาดไทย กรมบัญชีกลาง สตง. ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าควรนำมาตรฐานของสมาคมวิชาชีพมาใช้ เช่น เงื่อนไขสินค้าและบริการ มาตรฐานการติดตั้ง ความสว่าง อายุการใช้งาน การรับประกัน ฯลฯ
บทสรุป คนโกงฉลาดขึ้น รู้จักใช้ช่องว่างของกฎหมายและนโยบายรัฐ ดังนั้นการแก้คอร์รัปชันด้วยระบบที่ดีจึงเป็นไปได้มากกว่าฝากความหวังไว้ที่คน ยิ่งในยุคการเมืองของคนมีอำนาจที่ชอบใช้อภิสิทธิ์ ทำอะไรหละหลวม ปิดกั้นการตรวจสอบ สังคมไม่มีระบอบประชาธิปไตยคอยกำกับ สื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพมาตรวจสอบ ประชาชนจึงไม่อยู่ในสมการการใช้งบประมาณของรัฐ ทางออกสุดท้ายจึงขึ้นกับการเปิดเผยข้อมูล ให้ประชาชนเรียนรู้ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ