พาไปส่องกันชัดๆ "เสาไฟกินรี" ในพื้นที่ ราชาเทวะ ราคาตกต้นละเกือบ 1 แสนบาท ด้าน นายก อบจ. ชี้ จำเป็นต้องทำให้สวย เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ยืนยัน ทำตามระเบียบทุกขั้นตอน
จากกรณีของ เสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พร้อมกับถูกตั้งคำถามถึงงบประมาณในการมาใช้นั้นเหมาะสมหรือไม่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ ได้ออกมาชี้แจง ว่า การติดตั้งเสาไฟกินรี มีการติดตั้งจำนวน 6,773 ต้น ด้วยงบประมาณ 461 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการของงบประมาณปี 62-64 และทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เคยประชาคมกับชาวบ้านมาแล้ว
โดย นายก อบต.ราชาเทวะ อธิบายเพิ่มเติมว่า เสาไฟกินรีใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ลงทุนครั้งเดียวต้นละไม่เกิน 94,844 บาท ทั้งนี้ ยังยืนยันทำตามระเบียบทุกขั้นตอน และจำเป็นต้องทำให้สวย รองรับการท่องเที่ยว จึงมองว่าเรื่องนี้มีคนพยายามดิสเครดิต ทำให้เป็นประเด็นการเมืองขึ้นมา
สำหรับในสัญญาการทำ เสาไฟกินรี ระบุว่า ตัวเสา ความสูงประมาณ 6 เมตร ผลิตจากสแตนเลสสีทองเงาวาว ความกว้าง 1.4 เมตร ปั้มลวดลายกลีบบัวรอบเสา กินรี ผลิตจากอลูมิเนียมปั๊มขึ้นรูป พร้อมทำสี ความสูง 1.2 เมตร บัวรองประติมากรรมความสูง 0.5 เมตร โคมไฟ ตกแต่งลวดลายกลีบฟักทอง บรรจุดหลอดไฟ 30 วัตต์ ส่วนแผงโซล่าเซลล์ จำนวน 2 แผ่น รวม 200 วัตต์ ตามมาตรฐาน ISO ราคารวมต่อหนึ่งต้น 95,000 บาท
โดยหากเปรียบราคาขายของวัสดุในท้องตลาดส่วนใหญ่ ทั้งร้านค้าปลีก เสาไฟสแตนเลสขนาด 6 เมตร ที่ใช้กันทั่วไป มีราคาตั้งแต่ 7,000 แต่ไม่เกิน 2,000 บาท, แผงไฟ 200 วัตต์ อยู่ระหว่าง 1,000-3,000 บาท ราคารวมทั้งเสาและไฟอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20,000 หมื่น 30,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ราคานี้ยังไม่ได้รวมถึงการทำสี ขึ้นลวดลาย หรือประติมากรรมรูปกินรี และด้วยลักษณะรูปแบบเฉพาะของเสาไฟและวัสดุที่ใช้ จึงถูกมองว่า การจัดซื้อจัดจ้างอาจมีการล็อคสเปค เพื่อเอื้อให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ ?
ในเวลาต่อมา ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบบางจุดตั้งเสาถี่ ไม่สอดคล้องกับที่ชี้แจง แต่ขอเวลาตรวจสอบเพิ่มก่อนส่งต่อ ปปช.พิจารณา
โดย พ.ต.อ.พยงค์ เอี่ยมสกุล ผู้กำกับการ3 บก.ปปป. เดินทางไปยัง อบต.ราชาเทวะ เพื่อเข้าขอข้อมูล และเอกสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดสร้างเสาไฟกินรี แผงโซลาร์เซลล์ ที่หลายคนตั้งข้อสงสัย ต่อนายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต. และลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยเบื้องต้นพบบางจุดตั้งเสาถี่ ไม่สอดคล้องกับที่ชี้แจง โดย เสาไฟแต่ละต้นมีระยะห่างไม่เท่ากันตั้งแต่ 10 - 14 เมตร จึงทำให้ข้อมูลไม่ตรงกับทาง อบต.ราชาเทวะ ที่ระบุว่า เสาไฟแต่ละต้นห่างกัน 20 - 25 เมตร
โดย หลังจากนี้ จะนำเอกสารทั้งหมดมาตรวจสอบ ว่าการจัดสร้างเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ และคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งถ้าหากพบว่าไม่สอดคล้อง ก็จะส่งเรื่องให้ ปปช. พิจารณาต่อไป