เอาไม่อยู่! ศบค. เผย สัปดาห์หน้าผู้ติดเชื้ออาจแตะ 10,000 คน เหตุจากสายพันธุ์เดลต้า ระบุ ผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่มขึ้น 20 % และสีแดงเพิ่มขึ้น 10 % ผู้ป่วยสีแดง 10 ราย จะมี 4-5 ราย จำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย จะมีรายงานผู้เสียชีวิต 1-2 ราย
วันนี้ 7 ก.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก แพทยสมาคมฯ มีความเป็นห่วงและประมวลว่า จากการพบสายพันธุ์เดลต้าในรอบเดือนมิถุนายน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริกา รายงานว่าสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่าภายในสองสัปดาห์ ดังนั้นเราจะเห็นตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากคาดการณ์ไปในสัปดาห์หน้า ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะเพิ่มขึ้นถึง 10,000 คน
นอกจากนี้ มีผู้เชี่ยวชาญได้นำเสนอรายละเอียดของสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งพบว่าระบาดหนักในอังกฤษ พบในประชากรผู้ติดเชื้อเกิน 90 % อเมริกาพบเพิ่มขึ้นเป็น 20 % โดยมีรายงานว่าพบทั้งในคนที่ได้รับวัคซีนเข็ม 1,2 ยังมีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้ โดยในอังกฤษพบผู้ติดเชื้อแม้ได้รับวัคซีนเข็ม 1,2 จำนวน 7,235 ราย แต่ข้อดีภาพรวมของคนที่ฉีดวัคซีน มีเพียง 8 % ที่มีอาการหนักนอนโรงพยาบาลและทำให้ยอดการเสียชีวิตต่ำลง จึงเน้นให้ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะตัวเลขที่มีการรายงานการแพทยระบาดของสายพันธุ์เดลต้า จะพบผู้ติดเชื้อสูง ซึ่งผู้สูงอายุและ7 กลุ่มโรคถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต ทั้งนี้หากได้รับวัคซีนแม้จะเป็นเพียงแค่เข็มแรกจะมีภูมิคุ้มกันโรค ลดการป่วยหนักและลดอัตราการตาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ศบค. เผย ไทยเข้าสู่การระบาดระลอก 4 คาด สายพันธ์เดลต้าระบาดทั่วกทม.
ซิดนีย์ สั่งขยายเวลาล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นอีก 1 สัปดาห์ หลังโควิดเดลต้าระบาด
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการรายงานลักษณะความรุนแรงของผู้ป่วยแยกตามสีเขียว เหลือง และแดง จากการแพร่ระบาดในช่วงเดือนเมษายน 2564 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80 % เป็นผู้มีอาการระดับสีเขียว เหลือง 15 % และแดง ประมาณ 5 % ซึ่งขณะนี้ตัวเลขกลุ่มสีเขียวเหลือ 70 % สีเหลืองเริ่มมีอาการรุนแรงมากขึ้นเป็น 20 % และผู้สีแดงเพิ่มขึ้นเป็น 10 % ทั้งนี้ผู้ป่วยที่อยู่ในระดับสีแดง 10 ราย จะมี 4-5 ราย จำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ 10 คน จะมีรายงานผู้เสียชีวิต 1-2 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและนำไปสู่มาตรการจัดการเตียงรวมถึงระดมเรื่องการรักษาเป็นไปตามบริบทที่พบในตอนนี้
สำหรับปริมาณผู้ติดเชื้อของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กับการติดเชื้อในต่างจังหวัดมีอัตราที่เท่ากันคือ 50 ต่อ 50 ซึ่งก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการติดเชื้อเป็นเปอร์เซ็นต์ใหญ่ ส่วนต่างจังหวัดจะพบกระจายไม่กี่จังหวัด แต่ตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเดินทางข้ามพื้นที่ของประชาชน จากพื้นที่สีแดงกลับไปต่างจังหวัดทำให้มีการกระจายการติดเชื้อไปถึง 40 จังหวัด โดยแบ่งเป็นภาคเหนือ 11 จังหวัดคือ เชียงราย เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ จำนวนผู้ติดเชื้อ 88 ราย ภาคกลางและตะวันออก 9 จังหวัดคือ กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สระแก้ว สระบุรี และสุพรรณบุรี จำนวนผู้ติดเชื้อ 65 ราย ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัดคือ เลย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมินครพนม นครราชสีมา มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี จำนวนผู้ติดเชื้อ 218 ราย และภาคใต้ 4 จังหวัดคือ กระบี่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี จำนวนผู้ติดเชื้อ 6 ราย
ทั้งนี้การติดเชื้อในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) มีการรายงานในกรุงเทพมหานครค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงคาดเดาได้ว่าการติดเชื้อในต่างจังหวัด อาจจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าส่วนนึงเช่นกัน อย่างไรก็ตามสายพันธุ์แอลฟา (อังกฤษ) เริ่มพบน้อยลง
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้รายงานกลุ่มผู้ป่วยสีแดง มี 40-50 รายต่อวัน สีเหลือง 200-300 ราย ส่วนหนึ่งมีอาการ เหนื่อยหอบระบบทางเดินหายใจและส่วนหนึ่งยังไม่มีอาการ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงเป็นคนสูงอายุมีโรคประจำตัว ต่อให้ไม่มีโรคทางเดินหายใจก็สามารถจัดในกลุ่มสีเหลือง สีเขียว 300-400 คนต่อวัน ทั้งนี้การสะสม 2 สัปดาห์ จะพบคนติดเชื้อรายใหม่ตัวเลขสะสมจึงสูงขึ้นเป็นระดับ 1 พันคน ในขณะที่การส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินศูนย์เอราวัณ มีศักยภาพในการขนผู้ป่วยประมาณ 500 เที่ยวต่อวัน ในที่ประชุมศบค. ชุดเล็กและ eoc สาธารณสุข เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีการพูดถึงมาตรการการจัดการ 2 ส่วน คือ 1. เพิ่มศักยภาพในการขนผู้ป่วย ไปยังศูนย์บริการเพื่อให้ได้รับการดูแลโดยให้ความสำคัญกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง โดยกลุ่มสีแดงจะต้องเข้าสู่ระบบทันที ส่วนกลุ่มสีเหลืองต้องมีระยะเวลาคอยน้อยที่สุด อาจจะ1 วัน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวและสีขาว ที่ไม่มีอาการ จะได้รับการจัดสรรให้ไปอยู่ที่ศูนย์พักคอยของกรุงเทพมหานครในแต่ละเขต
โดยวันนี้จะมีการเปิดให้บริการรับผู้ป่วยไปยังศูนย์พักคอยรอเตียง 5 ศูนย์ ได้แก่ อาคารปฏิบัติธรรมวัดอินทรวิหาร 170 เตียง วัดสะพาน คลองเตย 250 เตียง ค่ายลูกเสือวันวาน หนองจอก 200 เตียง วัดศรีสุดารามวรวิหาร บางกอกน้อย 90 เตียง ศูนย์สร้างสุขทุกวัย บางแค 150 เตียง ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดภายในวันที่ 9 ก.ค. ซึ่งจะมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงสำหรับศูนย์พักคอย คือ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ โรงพยาบาลกลางเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลสิรินธรเวชการุณย์ โรงพยาบาลตากสิน และ 2. การขยายศักยภาพรองรับเตียง โดยที่ประชุมได้มีการพูดถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับสูงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจากการที่ผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น 2 วันก่อนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการพูดถึงโรงพยาบาลบุษราคัมที่สัปดาห์นี้จะมีการรองรับผู้ป่วยได้เพิ่ม 1,500 เตียง มทบ.11 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือจากโรงพยาบาลเอกชนเครือธนบุรี ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เปิด 58 เตียง ดังนั้นสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีการเตรียมการเพื่อเปิดโรงพยาบาลสนามประมาณ 3 สัปดาห์ และรับผู้ป่วยได้ประมาณเดือนสิงหาคม ประมาณ 5,000 เตียง โดยจะสำรองสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง วิกฤต 1,360 เตียง ที่เหลือจะเป็นสีเหลือง สีเขียว
อีกส่วนที่สำคัญมีการพูดคุยในที่ประชุม คือการแยกกักตัวที่บ้าน ซึ่งการทำลักษณะดังกล่าว มีความเสี่ยงอยู่ จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ สิ่งสำคัญคือต้องมีมาตรการให้ผู้ป่วยประเมินตนเองได้อย่างแม่นยำ วัดอุณหภูมิ ค่าออกซิเจน บุคลากรทางการแพทย์ต้องมีการติดตามสอบถามผู้ป่วยผ่านทางเทคโนโลยีต่างๆ และผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือในระดับหนึ่ง เพื่อมั่นใจว่าจะไม่มีการไปแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวชุมชน ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จะไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยทุกรายเลือกการแยกกับตัวที่บ้าน และต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ มีปัญหาทางสุขภาพจิต หรือแม้แต่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งจะทำให้ปอดอักเสบอยู่เป็นประจำ แพทย์อาจพิจารณาว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะดูแลในระบบแยกกักที่บ้าน