svasdssvasds

สรุป วิเคราะห์ ข้อเสนอเปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการตาย

สรุป วิเคราะห์ ข้อเสนอเปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการตาย

สรุปให้เข้าใจกันชัดๆ วิเคราะห์ให้เห็นกันจะๆ ข้อเสนอเปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ของ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ลดอัตราการตาย แต่ยอดผู้ติดเชื้อจะสูง และยอดสั่งซื้อซิโนแวค อาจสูงตาม

“เปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต” (อ่านข่าว : หมอคำนวณ แนะ เปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ลดอัตราการเสียชีวิต) เป็นข้อเสนอของ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดย Springnews ขอสรุป และวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

1. สรุป ข้อเสนอเปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

1.1 ถ้าไม่เปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เดือนกันยายน อาจมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวนเกือบ 3 พันราย

นพ.คำนวณ กล่าวว่า ในเดือนมิถุนายน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 992 ราย ประกอบกับมีการคาดการณ์กันว่า โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย ซึ่งแพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 1.4 เท่า

และหากยังคงใช้ยุทธศาสตร์เดิม อาจจะทำให้มียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ดังนี้

- เดือนกรกฎาคม อาจมีผู้เสียชีวิต 1,400 ราย

- เดือนสิงหาคม อาจมีผู้เสียชีวิต 2,000 ราย

- เดือนกันยายน อาจมีผู้เสียชีวิต 2,800 ราย

ซิโนแวค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1.2 จำนวนวัคซีน เงื่อนไขที่ทำให้ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนโควิดในไทย มีการเปลี่ยนกลับไปกลับมาหลายรอบ ล่าสุดคือการระดมฉีดให้ได้มากที่สุดกับคนทุกกลุ่ม โดยตั้งเป้าให้ได้ 70 % ของจำนวนประชากรภายในปีนี้ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่เงื่อนไขสำคัญของยุทธศาสตร์ปูพรมฉีด ก็คือจำนวนวัคซีน  

โดย นพ.คำนวณ ได้กล่าวว่า เหตุที่ทำให้ไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ก็คือข้อจำกัดในด้านจำนวนวัคซีน ที่มีแนวโน้มว่า อาจจะไม่ได้แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดสต่อเดือน ตามที่คาดการณ์กันไว้

อันเนื่องมาจากกำลังการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ของสยามไบโอไซเอนซ์ ต่ำกว่าเป้าค่อนข้างเยอะ และต้องส่งให้ประเทศอื่นๆ ที่สั่งซื้อด้วย ทำให้ยอดในแต่ละเดือนอาจเหลือเพียง 5 ล้านโดส (ไม่รวมซิโนแวค ตรงนี้มีสิ่งที่เกี่ยวข้องกันอยู่ ขอขยี้ให้เห็นชัดๆ ในส่วนของบทวิเคราะห์)  

ฉะนั้นแล้วในมุมมองของ นพ.คำนวณ ก็คือ เมื่อวัคซีนมีจำกัด ก็ต้องเลือกโฟกัสไปยังกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้อรัง ที่มีจำนวน 17.5 ล้านคน

1.3 ต้องระดมฉีด ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคเรื้อรัง

หลักคิดของ นพ.คำนวณ ก็คือ จากสถิติระบุว่า 80 % ของผู้เสียชีวิต ได้แก่กลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้องรัง ดังนั้น การมุ่งฉีดไปที่กลุ่มนี้ก่อน ก็จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้เป็นอย่างมาก

โดย นพ.คำนวณ ได้ยกสถิติมาเทียบเคียงว่า ถ้าผู้สูงอายุ 100 คนติดโควิด จะเสียชีวิต 10 คน ในขณะที่คนหนุ่มสาว ถ้าติดเชื้อ 1,000 คน จะเสียชีวิตแค่ 1 คน

ฉะนั้นแล้ว ถึงแม้คนวัยหนุ่มสาวไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และต่อมาพบว่าติดเชื้อโควิด ก็มีโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก แต่กลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าไม่ได้รับวัคซีน และติดโควิด จะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงลิ่ว

และ นพ.คำนวณ ยังกล่าวอีกว่า “วัคซีนทุกตัวที่องค์การอนามัยโลกขึ้นทะเบียน ส่วนใหญ่ได้ผลในการลดอาการหนัก ลดการเสียชีวิตได้ประมาณ 90 % จึงไม่จำเป็นต้องไปสนใจเรื่องยี่ห้อ”

ดังนั้น หากลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีน (ไม่ว่ายี่ห้อใดก็ตามที่ WHO รับรอง) แต่ต่อมาพบว่าติดเชื้อโควิด ก็จะมีโอกาสเสียชีวิตน้อย ถ้าอิงกับข้อมูลของ WHO ตามที่ นพ.คำนวณ หยิบยกขึ้นมา

1.4 ผลที่ตามมา จากยุทธศาสตร์ระดมฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ

นพ.คำนวณ ได้ให้ข้อมูลว่า ถ้ารัฐบาลดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้ จะเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนในเดือนสิงหาคม จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 800 ราย

และในเดือนกันยายน จะมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 600 ราย เฉลี่ยแล้วมีผู้เสียชีวิตวันละ 20 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ระบบสาธารณสุขของไทย สามารถรับมือได้  

วัคซีนโควิด-19

2. วิเคราะห์ ข้อเสนอเปลี่ยนยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

2.1 ยุทธการฉีดวัคซีนของ นพ.คำนวณ อาจลดจำนวนผู้เสียชีวิต แต่เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ

หากอิงข้อมูลเชิงสถิติแล้ว การปรับแผนด้วยการเอาวัคซีนที่มีทั้งหมดระดมฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคเรื้อรัง ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุด ก็อาจลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ ตามที่ นพ.คำนวณ ให้ข้อมูลไว้

แต่เมื่อนำวัคซีนไประดมฉีดให้กับคนกลุ่มดังกล่าว และส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเดินทางออกไปพบปะผู้คน ในขณะที่กลุ่มคนหนุ่มสาวต้องเดินทางไปทำงาน และมีกิจกรรมที่ต้องเจอะเจอผู้คนจำนวนมาก เมื่อไม่ได้รับวัคซีน คนกลุ่มนี้ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ

ฉะนั้นแล้วถ้าดำเนินการตามแนวทางนี้ จริงอยู่ที่ยอดผู้เสียชีวิตจะลดลง แต่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก หรืออาจจะถึงขั้นมหาศาลเลยทีเดียว

2.2 ถ้าดำเนินตามยุทธศาสตร์ลดอัตราการเสียชีวิต อาจต้องล็อกดาวน์เข้มข้น

ถ้าดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของ นพ.คำนวณ หากรัฐบาลต้องการไม่ให้ยอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็ต้องมีมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นตามมา เพราะถึงแม้ยุทธศาสตร์นี้จะลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูง และส่วนใหญ่อาจเป็นคนวัยทำงาน ก็ยากที่ภาคธุรกิจต่างๆ จะเดินหน้าต่อไปได้

ฉะนั้นแล้ว หากดำเนินยุทธศาสตร์นี้ การชะงักและถดถอยทางเศรษฐกิจ จึงเป็นราคาที่ต้องจ่ายของรัฐบาลและคนไทยทั้งชาติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

2.3 ซิโนแวค กับยุทธศาสตร์ลดอัตราการเสียชีวิต  

มีตัวอย่างในหลายประเทศ ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ถึงแม้จะระดมปูพรมฉีดวัคซีนได้เยอะ แต่ก็ยังมีการระบาดอยู่ โดยมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่คุณภาพวัคซีน

ถ้าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ต่อให้ฉีดกับประชากรทั้งประเทศ โควิด-19 ก็ยังระบาดอยู่ ยิ่งต่อมามีแนวโน้มว่า สายพันธุ์ที่จะระบาดในไทย รวมถึงทั่วโลก คือโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่มีการระบุว่า ซิโนแวคอาจเอาไม่อยู่ ฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะฉีดให้กลุ่มใด การแพร่ระบาดก็ยังคงดำเนินต่อไป

แต่ถ้าดำเนินการตามยุทธศาสตร์ลดอัตราการเสียชีวิต โดยไม่สนใจยอดผู้ติดเชื้อ ตามคำกล่าวของ นพ.คำนวณ ที่ว่า “วัคซีนทุกตัวที่องค์การอนามัยโลกขึ้นทะเบียน ส่วนใหญ่ได้ผลในการลดอาการหนัก ลดการเสียชีวิตได้ประมาณ 90 % จึงไม่จำเป็นต้องไปสนใจเรื่องยี่ห้อ” ก็ต้องเรียกว่า เข้าทางวัคซีนซิโนแวค    

เพราะแอสตร้าเซนเนก้า ส่งมอบให้ไทยได้ไม่ตามเป้า วัคซีนคุณภาพสูงยี่ห้ออื่นๆ กว่าจะเข้ามา ก็ต้องรอถึงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ของปีนี้

การสั่งซื้อซิโนแวคจำนวนมหาศาล ก็จะกลายเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรม เพื่อลดอัตราการตาย ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลจะรับลูก... กับยุทธศาสตร์นี้หรือไม่ ?

อ้างอิง

กระทรวงสาธารณสุข : เสวนา  “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร”

related