จากแผนระยะสั้นและระยะยาวของรัฐบาลไทย ที่จะสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวค 47.5 ล้านโดส ทั้งๆ ที่มีข้อกังขาในด้านประสิทธิภาพ และราคาที่ค่อนข้างสูง จึงก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย
เกิดเป็นคนไทยต้องอดทน แต่การเจ็บปวดซ้ำๆ ก็อาจจะทำให้ความอดทนสิ้นสุดลงในสักวัน !
กับยอดนิวไฮล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 6 พันราย และเสียชีวิตเพิ่ม 61 ราย (อ่านข่าว : Breaking News : ฉุดไม่อยู่! โควิด-19 ดับพุ่งนิวไฮ 61 ราย ติดเชื้อทะลุ 6,087 ราย) ทำให้แทบมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ประกอบกับนโยบายของภาครัฐ ที่กลับไปกลับมา ไม่มีความชัดเจน แก้ปัญหาแบบไล่ตาม วางยุทธศาสตร์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ การรักษา ที่ต้องบอกว่าตอนนี้เข้าขั้นวินาศสันตะโร
แม้ความหวังจะอยู่ที่การฉีดวัคซีนโควิดให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่รัฐบาลก็บริหารจัดการได้อย่างล่าช้า มีเงื่อนงำ และไม่โปร่งใส จนก่อให้เกิดข้อสงสัยต่างๆ ตามมามากมาย
และเมื่อเราพยายามหาเหตุผลที่รัฐบาลตะบี้ตะบันจะสั่งซื้อซิโนแวค ทั้งในแผนระยะสั้น และระยะยาว แทนที่จะได้รับคำตอบ กลับก่อให้เกิดข้อสงสัยที่หนักยิ่งขึ้นไปอีก
1. ทำไมตะบี้ตะบันสั่งซิโนแวค ทั้งๆ ที่มีปัญหาด้านประสิทธิภาพ
ถ้าสมมติว่า ซิโนแวคมีประสิทธิภาพที่ดีในการป้องกันโควิด-19 หรือมีข้อมูลบ่งชี้ว่า สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่คาดการณ์กันว่า อีกไม่นานจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย ก็ต้องถือว่า การสั่งซื้อซิโนแวคจำนวนมาก เป็นวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยม
แต่ข้อมูลด้านวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ระบุว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับสายพันธุ์เดลต้า ก็คือประเภท mRNA ซึ่งได้แก่ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ส่วนวัคซีนประเภทเชื้อตาย อย่าง ซิโนแวค สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
“วัคซีนซิโนแวค... ไม่เคยมีข้อมูลศึกษาวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบและตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการ แต่เนื่องจากจากระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ได้จากวัคซีนชนิดนี้ต่ำกว่าที่ได้จากวัคซีนประเภท mRNA และวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (อาทิเช่น แอสตร้าเซนเนก้า)
“จึงคาดหมายได้ว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) น่าจะลดลงไปต่ำกว่านั้นอีก จนอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนโดยภาพรวม” (อ่านข่าว : สมาคมโรคติดเชื้อฯ ส่งจดหมายจี้ นายกฯ หาวัคซีนโควิดชนิดอื่นมาแทน "ซิโนแวค")
สรุปก็คือ วัคซีนซิโนแวค นอกจากมีประสิทธิภาพป้องกันโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ต่ำกว่าวัคซีนประเภท mRNA อย่าง ไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือวัคซีนประเภทใช้ไวรัสเป็นพาหะ อย่าง แอสตร้าเซนเนก้า แล้ว ยังคาดว่าเมื่อเจอกับสายพันธุ์เดลต้า ที่มีแนวโน้มระบาดในไทย ประสิทธิภาพของวัคซีนก็จะลดต่ำลงไปอีก
ฉะนั้นแล้ว ถ้าว่าการในแง่ประสิทธิภาพ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่รัฐบาลไทยจะหน้ามืดตามัว สั่งซื้อซิโนแวคเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดข้อมูล ศบค. ไทยมีแผนจัดซื้อวัคซีน “ซิโนแวค” รวม 47.5 ล้านโดส
“ซิโนแวค” จากวัคซีนแก้ขัด กลายเป็นวัคซีนหลัก สำหรับคนไทย ?
องค์การเภสัชฯ ร่างสัญญา "วัคซีนโมเดอร์นา" ให้อัยการแล้ว คาดนำเข้าไตรมาส 4
2. ทำไมตะบี้ตะบัน สั่งซิโนแวค ทั้งๆ ที่ราคาแพง ?
ถ้ารัฐบาลอ้างว่า ที่ต้องสั่งซิโนแวคเป็นจำนวนมาก แม้จะมีข้อกังขาด้านประสิทธิภาพ ก็เพราะราคาถูกกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่น ยังพอเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นอยู่บ้าง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซิโนแวคมีเรตราคาที่ค่อนข้างสูง ระดับใกล้เคียงกับไฟเซอร์ ที่ตอนนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ดีที่สุด
โดยวัคซีนซิโนแวค ราคาอยู่ที่โดสละ 17 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 546 บาท (1 บาท = 32.17 เหรียญสหรัฐ / 2 ก.ค. 64) ในขณะที่ไฟเซอร์ ราคาอยู่ที่ 17.7 - 19.5 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 569 - 637 บาท (อ่านข่าว : WHO รับรอง "วัคซีนซิโนฟาร์ม" เป็นวัคซีนฉุกเฉินกันโควิด19 เป็นรายล่าสุด)
ฉะนั้นในเรื่องราคา ก็ไม่มีเหตุผลเช่นกัน ที่รัฐบาลไทยจะต้องตะบี้ตะบันสั่งซื้อมาจำนวนมากขนาดนี้
3. ทำไมจึงมีแผนสั่งวัคซีนซิโนแวคเป็นจำนวนมาก ทั้งในแผนระยะสั้นและระยะยาว
ประเด็นนี้ต้องเท้าความไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากการระบาดระลอก 2 ในไทย แล้วจากนโยบายแทงม้าตัวเดียวของรัฐบาล ที่มีแต่การสั่งซื้อเฉพาะแอสตร้าเซนเนก้า
ปัญหาในเวลานั้นก็คือ กว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะส่งมอบให้ไทยได้ ตามสัญญาระบุว่า ต้องรอถึงช่วงกลางปี 2564 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องหาวัคซีนยี่ห้ออื่นมาใช้แก้ขัดไปก่อน
สถานภาพของซิโนแวค ในเวลานั้นจึงเป็นวัคซีนแก้ขัด แม้จะข้อมูลเผยแพร่ออกมาว่า ประสิทธิภาพด้อยกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ แต่รัฐบาลก็อ้างถึงความจำเป็นดังกล่าว และพยายามให้ข่าวว่า พยายามติดต่อเจ้าอื่นๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ , สปุตนิก วี , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่เห็นสัญญาการจัดซื้อที่ชัดเจน !
และอ้างอีกว่า ไฟเซอร์ , สปุตนิก วี , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน กว่าจะได้สินค้า ก็ต้องรอไปถึงไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ของปีนี้ ในขณะเพื่อนบ้านในอาเซียน ติดต่อกับไฟเซอร์ ไล่เลี่ยกับไทย แต่ได้วัคซีนไปฉีดกันแล้ว ก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วทำไมไทยเราต้องรอไปจนถึงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ?
หรือแม้กระทั่ง วัคซีนทางเลือกอย่าง โมเดอร์นา ที่คนไทยต้องเสียเงินซื้อฉีดเอง ล่าสุด นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ก็ได้ออกมาแฉว่า จนป่านี้ทางการไทย ยังไม่มีการเซ็นสัญญา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การได้รับวัคซีนต้องล่าช้าออกไป (อ่านข่าว : นพ.บุญ สนิท ไฟเซอร์-โมเดอร์นา โทรถามทำไมล่าช้า พึ่งรู้ รัฐบาลไม่เซ็นสัญญา)
โดยก่อนหน้านี้ ศบค. ก็ได้เปิดเผยข้อมูลว่า จะมีการจัดซื้อวัคซีนให้ได้ 150 ล้านโดส โดยในปีนี้จะซื้อซิโนแวค 19.5 ล้านโดส และปีหน้า 28 ล้านโดส รวมเป็น 47.5 ล้านโดส (อ่านข่าว : เปิดข้อมูล ศบค. ไทยมีแผนจัดซื้อวัคซีน “ซิโนแวค” รวม 47.5 ล้านโดส)
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หากอ้างว่ามีความจำเป็นที่ต้องจัดหาวัคซีนอย่างเร่งด่วนในแผนระยะสั้น ช่วงที่วัคซีนตัวอื่นยังไม่มา จึงต้องสั่งซื้อซิโนแวคไปพลางๆ ก่อน อันนี้ยังพอเข้าใจ
แต่สำหรับแผนระยะยาว โดยเฉพาะปีหน้าที่จะซื้อถึง 28 ล้านโดส เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสงสัย ว่าทำไมไม่เน้นไปที่วัคซีนคุณภาพสูง ที่หากสั่งตอนนี้ยังไงซะ ตั้งแต่ช่วงปลายปีจนถึงปีหน้า ก็ได้สินค้าอย่างแน่นอน แต่รัฐบาลก็ยังคงเลือกที่จะซื้อซิโนแวคในจำนวนมหาศาล !
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยุทธศาสตร์ด้านวัคซีน คือความผิดพลาดของรัฐบาล แต่ในกรณีของซิโนแวค ที่รัฐบาลไม่สามารถให้ความกระจ่างกับประชาชนได้ จึงก่อให้เกิดข้อสงสัยว่า เป็นความผิดพลาดโดยตั้งใจ ? และรัฐบาลทนเห็นความทุกข์ยากของคนในชาติได้อย่างไร ?
อ้างอิง
“ซิโนแวค” จากวัคซีนแก้ขัด กลายเป็นวัคซีนหลัก สำหรับคนไทย ?
WHO รับรอง "วัคซีนซิโนฟาร์ม" เป็นวัคซีนฉุกเฉินกันโควิด19 เป็นรายล่าสุด