กรมสุขภาพจิต ยอมรับโควิด-19 ระบาด ทำคนไทยเครียด สูงขึ้นถึง 7 ต่อแสนประชากร หากไม่มีมาตรการช่วยเหลืออัตราการฆ่าตัวตาย อาจพุ่งสูงถึง 8 ต่อแสนประชากร แนะให้ประชาชน ทำแบบประเมินสุขภาพจิตตนเอง
28 มิ.ย.64 แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต บอกว่า 2 ปีที่โควิด-19ระบาด คนไทยมีปัญหาความเครียดเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า และอีกไม่น้อยมีอาการรุนแรงถึงขึ้นฆ่าตัวตาย ยิ่งการระบาดระลอก 3 ที่กำลังเกิดขึ้น ยิ่งทำให้ความเครียดเพิ่มสูงขึ้น จาก 6 ต่อแสนประชากร เป็น 7 ต่อแสนประชากร หากยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือ แก้ไข หรือทำให้ประชาชนที่มีความเครียด เข้าถึงบริการ อาจทำให้อัตราการฆ่าตัวตายแตะ 8 ต่อแสนประชากรได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ประกายฟ้า" ยูทูบเบอร์ รายได้หดหายเครียดจัด ดิ่งที่จอดรถห้างดังเสียชีวิต
ชายเครียด ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ต่างยี่ห้อ หวั่นกระทบร่างกาย จี้ รพ.ชี้แจง
5 คำแนะนำจากจิตแพทย์ ในการจัดการกับความเครียด ไม่ให้ใจป่วยในช่วงโควิด-19
เพื่อแก้ปัญหานี้ กรมสุขภาพจิต ได้ออกแบบประเมินความเครียด เพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบสุขภาพจิตของตนเอง โดยการทำแบบประเมิน หากพบว่ามีความเครียดสูง จะมีช่องให้ทำเครื่องหมาย ต้องการปรึกษาแพทย์หรือไม่ และอยากให้แพทย์ติดต่อกลับ เพื่อให้คำปรึกษาหรือไม่ โดยแบบประเมินจะเป็นความลับสำหรับผู้ทำประเมินกับจิตแพทย์เท่านั้น ไม่มีการเผยแพร่สู่ภายนอก
ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ประชาชนที่ต้องการทำแบบประเมินสุขภาพจิตตนเอง สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ตามคิวอาร์โค๊ตที่ขึ้นอยู่หน้าจอ หรือเข้าไปที่ http.//checkin.dmh.go.th และย้ำว่าการประเมินสุขภาพจิตของตนเอง จะทำให้ผู้ประเมินสามารถ รู้ภาวะความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่ ว่าอยู่ในระดับใด หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นปัญหาระยะยาว อย่างโรคซึมเศร้าหรือไม่