มีการค้นพบว่า โควิดสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งพบในอินเดีย มีการกลายพันธุ์ต่อยอดไปอีก จนกลายเป็น โควิดเดลต้าพลัส ซึ่งมีความสามารถในการต่อต้านยาต้านไวรัสชนิดแอนติบอดีสังเคราะห์ซึ่งอนุญาตให้ใช้กรณีฉุกเฉินในอินเดีย แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่าอย่าเพิ่งกังวลมากเกินไป
โควิดเดลต้าพลัส คืออะไร ?
ก่อนหน้านี้ เราคุ้นเคยกับชื่อโควิดที่เรียกตามประเทศที่พบ แต่นับตั้งแต่ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ปรับให้เรียกชื่อโควิดเป็นภาษากรีก ทุกคนในโลกต้องมาทำความคุ้นเคยชื่อโควิดกันใหม่ โดยชื่อ โควิดเดลต้านั้น มีที่มาครั้งแรกในการค้นพบที่อินเดีย โดย เมื่อ ต.ค. 2020 โดยมีชื่อสายพันธุ์เดิมคือ B 1.617.2 และสายพันธุ์นี้ก็ระบาดอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในเอเชียใต้ และแถมยังกระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยจากสื่ออย่าง อินเดียทูเดย์ ระบุว่า ตัว สายพันธุ์เดิมคือ B 1.617.2 หรือโควิดเดลต้า ได้มีการกลายพันธุ์ซ้ำไปอีก และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ตัวที่กลายพันธุ์ ที่เรียกกันว่า "โควิดเดลต้าพลัส" มีความสามารถในการต่อต้านยาต้านไวรัสชนิดแอนติบอดีสังเคราะห์ หรือโมโนโคลนอล แอนติบอดี ซึ่งอนุญาตให้ใช้กรณีฉุกเฉินในอินเดีย
นั่นหมายความว่า ที่อินเดีย อาจจะโดนเชื้อ โควิดเดลต้าพลัส เล่นงานอีกระลอก เพราะ ยาต้านไวรัสชนิดแอนติบอดีสังเคราะห์ หรือโมโนโคลนอล แอนติบอดี นั่นยังเอาไม่อยู่ ต้านทานม่ไหว หรือไม่ ?
พบโควิดเดลต้าพลัสแล้ว 10 ประเทศ
ทั้งนี้ นายวิโนด สกาเรีย นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยทางชีวภาพ ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เป็นผู้ที่ต้นพบไวรัสกลายพันธุ์ โควิดเดลต้าพลัส โดยมีรหัสว่า ฺB.1.617.2.1 หรือ เอวาย.1
ขณะที่ นางบานี โจลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจีโนมจากสถาบันชีวภาพ ที่กรุงนิวเดลี กล่าวว่า สามารถพบได้แล้วบนเว็บไซต์ฐานข้อมูลจีโนมสากล GISAID โดยพบจากชนิดเดลต้าจาก 10 ประเทศ
กรณีนี้ ถือว่าสอดคล้องกันกับหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษที่ตรวจพบไวรัสโควิด-19 ชนิด โควิดเดลต้าพลัส ในตัวอย่างจีโนมจากอินเดีย 6 ครั้ง ณ วันที่ 7 มิ.ย. แต่ทว่า ล่าสุด พบเพิ่มเป็น 63 ครั้งแล้ว แปลว่ามีการขยายและกระจายตัวออกไป
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิทยาศาสตร์ในอินเดีย ว่าโควิดเดลต้าพลัส กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดเนื่องจากการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง เค417เอ็น นั้นเป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นแบบเดียวกันกับในชนิดกลายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้ (B.1.351) หรือ สายพันธุ์เบต้า
ข้อกังวล ของโควิดเดลต้าพลัส นั่นคือ ความสามารถในการหลบเลี่ยงยาต้านไวรัส "เรเจน โคฟ" REGEN-COV ซึ่งเป็นยาต้านประเภทแอนติบอดีสังเคราะห์ เพิ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอาหารและยาของอินเดีย นั่นเอง
ผู้เชี่ยวชาญชี้อย่าเพิ่งกังวล
ด้าน นางวินีตา บัล นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันภูมิคุ้มกันแห่งชาติของอินเดีย ให้ความเห็นว่า ความสามารถหลีกเลี่ยงยาต้านไวรัสข้างต้นไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าไวรัสนั้นสามารถก่อโรครุนแรงมากขึ้น ยังไม่จำเป็นต้องกังวลมากเกินไป
ขณะที่ นายอนุรักษ์ อการ์วาล ผู้อำนวยการ CSIR-IGIB กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีอะไรน่ากังวลสำหรับชนิดโควิด เดลต้า พลัส ในอินเดีย แต่มองว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมด้วยการนำพลาสมา ของผู้ที่ได้รับการฉัดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาทดสอบกับไวรัสนี้เพื่อดูว่ายังยับยั้งไวรัสได้ดีเพียงใด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ออลล์อินเดีย All India Institute of Medical Science เปิดเผยการศึกษาที่ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า สามารถแพร่เชื้อให้แก่คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโดสเดียว หรือสองโดสก็ตาม จากนั้นไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่กระจายไปหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย
สำหรับโควิดอินเดีย มียอดผู้ติดเชื้อสะสม กำลังทะยานไปใกล้ 30 ล้านคนแล้ว ส่วนยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 379,601 คน ขณะที่การฉีดวัคซีนที่อินเดีย ฉีดไปแล้ว 249 ล้านโดส คิดเป็น 9.1 % ของประชากร
และยิ่งมีการกลายพันธุ์เป็น โควิดเดลต้าพลัส อีก ย่อมสร้างความกังวลใจให้คนทั่วไปเป็นธรรดา ...แต่อย่างไรก็ตาม ขอเพียงยกการ์ดให้สูงเข้าไว้ ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ...และรีบฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด เรื่องหนักก็จะผ่อนคลายกลายเป็นเบาได้...ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้