svasdssvasds

โควิดสายพันธุ์อินเดีย ลาม 10 จังหวัด 235 ราย กทม.ติดเชื้อพุ่ง 206 ราย

โควิดสายพันธุ์อินเดีย ลาม 10 จังหวัด 235 ราย กทม.ติดเชื้อพุ่ง 206 ราย

โควิดสายพันธุ์อินเดีย ลาม 10 จังหวัด 235 ราย กทม.ติดเชื้อโควิดพุ่ง 206 ราย ส่วนใหญ่พบในแคมป์คนงานหลักสี่ ขณะที่สถานการณ์โควิดอุดรธานีน่าห่วง ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย 17 ราย จากกลุ่มบายศรีสู่ขวัญ

วันที่ 7 มิถุนายน 2564 สถานการณ์โรคโควิดวันนี้ ยังต้องเกาะติดต่อเนื่อง โดยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากการถอดรหัสพันธุกรรมที่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยรวม 3,964 ตัวอย่าง พบว่า ประมาณ 90% หรือ 3,595 ราย เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือสายพันธุ์อัลฟ่า (Alpha) ถือว่า ขณะนี้สายพันธุ์อังกฤษครองเมือง นอกจากนี้เรายังพบสายพันธุ์อินเดีย หรือสายพันธุ์เดลต้า(Delta) 235 ราย พบว่า 206 รายอยู่ในกทม. ในแคมป์คนงานหลักสี่ นนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกับแคมป์คนงานหลักสี่

นอกจากนี้ยังมีบุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย สมุทรสงคราม 1 ราย ที่น่าห่วง คือ จ.อุดรธานี 17 ราย จากการรวมกลุ่มบายศรีสู่ขวัญ กำลังสอบสวนความเชื่อมโยงว่า มีความเกี่ยวข้องกับแคมป์คนงานก่อสร้างที่หลักสี่หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีที่ร้อยเอ็ด 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย สระบุรี 2 ราย

ทั้งนี้ สำหรับสายพันธุ์โรคโควิดที่ซีเรียส และต้องเฝ้าระวัง คือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ซึ่งขณะนี้ตรวจพบแล้ว 26 ราย แต่โชคดีที่พบเฉพาะที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส นพ.ศุภกิจ ระบุ 

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการถอดรหัสพันธุกรรมกว่า 30,000 รหัสพันธุกรรมซึ่งเป็นความร่วมมือกับทั่วโลกในการถอดรหัสและได้มีการแชร์ข้อมูลผ่านระบบกลางซึ่งประโยชน์จากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิดจะทำให้ทราบแนวทางการป้องกันและควบคุมโรค เหมือนกรณีของที่ตากใบ จ.นราธิวาส ที่ขณะนั้นเจอติดเชื้อ 100 คน และได้มีการส่งตัวอย่างเชื้อมาที่ศูนย์จีโนม จึงได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมจนพบว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทำให้มีการจำกัดขอบเขตของการระบาด และขณะนี้ก็ยังพบเพียงในพื้นที่อยู่ ขณะที่สายพันธุ์อังกฤษพบไม่มากประมาณ 1%

“นอกจากนี้ เราก็ยังมีการติดตามสายพันธุ์ B.1.524 ซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านของประเทศเพื่อนบ้าน(มาเลเซีย) แต่สายพันธุ์นี้ไม่น่ากังวล เนื่องจากไม่พบความรุนแรง แต่ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามคือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือเบต้า (Beta) ส่วนในปัจจุบันประเทศไทยไม่พบการกลายพันธุ์ที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว

ขณะที่ ศ.นพ.ยง กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องผลกระทบจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ว่า จากข้อมูลที่มีรายงานทั่วโลก การกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ไวรัสโควิด-19 ก็มีการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดของไวรัส ไวรัสที่กลายพันธุ์และแพร่กระจายได้ง่ายก็จะแพร่ขยาย และกลบสายพันธุ์เดิมที่มีการแพร่กระจายได้น้อยกว่า แต่เดิม สายพันธุ์อู่ฮั่น เรียกง่าย ๆ เป็นสายพันธุ์ S และ L สายพันธุ์ L แพร่ได้มากกว่า จึงกระจายมากในยุโรปและการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G และ V

ต่อมาสายพันธุ์ G แพร่ได้ง่ายจึงกระจายทั่วโลกและแทนที่ สายพันธุ์อู่ฮั่น หลังจากนั้นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แพร่กระจายได้ง่ายจึงกลบสายพันธุ์ G เดิม ตอนนี้มีสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ที่แพร่กระจายง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟาเข้ามา ทำให้เกรงกันว่าสายพันธุ์เดลตาจะทำให้ระบาดเพิ่มขึ้น และมาแทนสายพันธุ์อัลฟาในอนาคต ส่วนสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เป็นสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่หลบหลีกภูมิต้านทานได้ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง จึงต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สายพันธุ์ดังกล่าวคือ เบตา และ แกมมา ทั้งสองสายพันธุ์แพร่กระจายได้น้อยกว่าสายพันธุ์แอลฟ่า และเดลตา

ทั้งนี้ การศึกษาของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ในคนไทยที่กลับจากต่างประเทศตรวจพบเชื้อSAR-CoV-2 ได้เกือบทุกสายพันธุ์ ทำให้สามารถพัฒนาวิธีตรวจเฝ้าระวังการกลายพันนธุ์ที่แม่นยำและทำได้รวดเร็ว ในขณะนี้ยังติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ใน State Quarantine และ Alternative state quarantine อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยที่เข้ามาทางสนามบิน จะมีโอกาสน้อยมากที่จะแพร่กระจายโรค ที่ผ่านมาการระบาดเกิดจากการลักลอบผ่านชายแดนเข้ามา ขอฝากประชาชนที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบผ่านชายแดนเข้ามาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แจ้งเบาะแส เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์น่ากังวล เพราะเชื้อเหล่านี้จะทำให้เกิดการระบาดรุนแรงในประเทศไทยได้

related