ไล่เรียงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ก่อนการระบาดระลอกแรก กระทั่งมาถึงการระบาดระลอกที่ 3 ที่พบโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ ในประเทศไทยแล้วจำนวนหลายสายพันธุ์
เป็นเวลาเกือบ 1 ปีครึ่ง ที่โควิด-19 อาละวาด แพร่ระบาดไปทั่วโลก หลายประเทศสถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น แต่ก็มีอีกหลายประเทศ ที่สถานการณ์ยังน่ากังวล ทั้งในแง่ของการแพร่ระบาด และมาตรการป้องกันที่ไม่ชัดเจน รวมถึงการจัดหาวัคซีนที่ยังติดขัด จากวิสัยทัศน์และนโยบายที่ผิดพลาดของภาครัฐ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งในจำนวนนั้น
จากไวรัสปอดอักเสบอู่ฮั่น สู่โควิด-19
วันที่ 31 ธ.ค. 62 มีรายงานพบผู้ติดเชื้อครั้งแรก ที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนจะมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทย พบเชื้อครั้งแรกในนักท่องเที่ยวชาวจีน เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 ก่อนจะพบคนไทยรายแรกที่ป่วยด้วยโรคนี้ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 63 กระทั่งเกิดการระบาดระลอกที่ 1 ในไทย เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563
การระบาดระลอกที่ 2
การระบาดระลอกที่ 2 ในไทย เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2563 ซึ่งในวันที่ 17 ธ.ค. 63 ได้พบผู้ติดเชื้อในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร และจากการตรวจเชิงรุก ก็พบผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก ที่ลักลอบเข้าเมืองบริเวณชายแดนไทย- เมียนมา
การระบาดในระลอกที่ 3
การระบาดในระลอกที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 64 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิง โดยมีการระบุว่า เชื้อที่ระบาดในครั้งนี้เป็นโควิด-19 สายพันธ์อังกฤษ
และต่อเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 64 ก็พบผู้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย ในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง และพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มจากคลัสเตอร์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ในวันที่ 22 พ.ค. ก็พบผู้ติดโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ จ.นราธิวาส โดยมีรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว 3 ราย
สถานการณ์โควิด-19 ในไทย
สถานการณ์โควิด-19 ในไทย เวลานี้ ถือว่ายังวิกฤต ประกอบกับการวางแผนที่ผิดพลาด นโยบายที่ไม่ชัดเจนของภาครัฐ รวมถึงความน่าฉงนสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการหาวัคซีน ที่ทำให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก