SPRiNG สัมภาษณ์ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ กรณีศาลอนุมัติหมายจับลุงพล ไขข้อสงสัยที่ว่า ทำไมคดีนี้ถึงใช้เวลาเนิ่นนาน กว่าจะมีการออกหมายจับ ? และเมื่อพิจารณาจาก 3 ข้อหาที่ลุงพลได้รับนั้น จะเข้าข่ายฆาตกรรม หรือกระทำโดยประมาท ?
ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ให้สัมภาษณ์กับ SPRiNG กรณีศาลจังหวัดมุกดาหาร ได้อนุมัติหมายจับ ไชย์พล วิภา หรือลุงพล ตามเลขหมายจับที่ 53/2564 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ใน 3 ข้อหา โดยทนายรณณรงค์ได้ให้ข้อมูล และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับคดีน้องชมพู่ ดังต่อไปนี้
คดีน้องชมพู่ ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปี ศาลฯ ถึงอนุมัติหมายจับ
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวัน วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 จากกรณีที่น้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ หายออกจากบ้าน ก่อนจะพบว่า เสียชีวิตที่ป่าภูเหล็กไฟ ห่างจากบ้านถึง 2 กิโลเมตร
การเสียชีวิตของน้องชมพู่ ก่อให้เกิดข้อสงสัยต่างๆ มากมาย ทั้งในส่วนที่ว่า น้องชมพู่พลัดหลงไปยังจุดที่พบศพ รวมถึงมีคนพาน้องชมพู่ไปที่บริเวณดังกล่าว โดย ลุงพล หรือไชย์พล วิภา ได้ตกเป็นผู้สงสัย แต่ก็ต้องใช้เวลานานถึงกว่า 1 ปี ศาลจังหวัดมุกดาหาร จึงได้อนุมัติหมายจับ (อ่านข่าว : Breaking News : อนุมัติออกหมายจับ “ลุงพล” โดน 3 ข้อหาหนัก) โดยทนายรณณรงค์ ได้วิเคราะห์ว่า
“สาเหตุที่ต้องใช้เวลาเนิ่นนานนั้น เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นเหมือนกัน แสดงว่า พนักงานสอบสวนไม่มั่นใจในพยานหลักฐาน พยานหลักฐานไม่มีความแน่ชัดว่าใครทำให้น้องเสียชีวิต อยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวน ที่นี่ปรากฏว่า สุดท้ายพบว่ามันมี ถ้าว่าตามข่าวนะ มันมีดีเอ็นเอของคนร้ายก็คือ เส้นขน
“อาจจะเป็นของญาติลุงพล ของญาติน้องชมพู่ หรือของลุงพลเอง ก็ต้องมาดูว่า ลุงพลขึ้นไปทำอะไรตรงที่ใกล้กับจุดที่พบศพ
“จากนั้นมีประจักษ์พยานว่า เห็นลุงพลขึ้นไปบริเวณที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 9 โมงเช้า ก็ไม่แปลกที่จะนำมาสู่การออกหมายจับ คือการพบดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัย (หรือผู้ใกล้ชิดผู้ต้องสงสัย) จึงเป็นเหตุในการออกหมายจับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องไปดูพยานหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ที่นำมาประกอบด้วย
“(การแจ้งข้อหา) ตำรวจรอจนมั่นใจว่า หลักฐานที่มีนั้นเพียงพอเอาผิดในชั้นศาลได้แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องมาติดตามกันต่อว่า เส้นขนตรงนั้น มันสามารถยืนยันได้ไหม ถ้าสามารถยืนยันได้ และสอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆ ที่นำมาประกอบกัน ลุงพลก็ต้องถูกดำเนินคดี”
ข้อหาของลุงพล อาจเข้าข่ายกระทำโดยประมาท
ส่วนทั้ง 3 ข้อหา ที่นำไปสู่การที่ศาลจังหวัดมุกดาหาร อนุมัติหมายจับนั้น ทนายรณณรงค์ ได้แจกแจงดังนี้
“ถ้าเราดูจากข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งจับ จะมีทั้งหมด 3 ส่วน 1.พรากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี อันนี้มีโทษจำคุก 3 ปี - 15 ปี และปรับตั้งแต่ 6 หมื่น - 3 แสนบาท ตามประมวลกฎหมายมาตรา 317
“2. ในความผิดเกี่ยวกับทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกิน 9 ปี เป็นเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย แม้ผู้นั้นไม่มีเจตนาฆ่าก็ตาม มีอัตราจำคุก ตั้งแต่ 3 - 5 ปี
“3. แล้วข้อหาสุดท้าย อันนี้ไม่รู้ว่าตำรวจจะสืบได้ไหม ก็คือข้อหา กระทำการอย่างใดๆ กับศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการพิสูจน์พลิกศพ เป็นข้อหาในการไปยุ่งเหยิงกับพยานในคดี อย่างเช่น ตอนที่พบศพน้องชมพู่ ปรากฏว่าลุงพลเข้าไปในที่เกิดเหตุก่อนตำรวจ ตรงนี้ต้องมาดูกันว่า ศาลท่านจะว่าอย่างไร
“คดีนี้ยังไงก็ไม่ใช่เจตนาฆ่า เพราะคดีเจตนาฆ่า ตำรวจต้องพิสูจน์หลักฐานที่ละเอียดกว่านี้ แล้วเหตุผลที่ทำให้เด็กเสียชีวิต ลุงพลอาจไม่ได้เจตนาฆ่าเด็ก แต่น่าจะเป็นการกระทำด้วยความประมาท
“สมมติฐานของตำรวจก็คือ ลุงพลเอาเด็กไปซ่อนที่เขา แล้วก็ลงมา แต่ไม่ได้พาเด็กลงมาด้วย ซึ่งเด็กอายุ 3 ขวบ ต้องการทั้งน้ำและอาหาร เมื่อไม่ได้รับทั้งน้ำและอาหาร ก็เลยทำให้เด็กเสียชีวิต”
สรุปท้ายนี้ทนายรณณรงค์ ได้กล่าวว่า “คดีนี้แม้แต่ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด ทนายของลุงพล ก็เชื่อว่าเด็กไม่ได้เดินขึ้นไปเอง ส่วนประชาชนจะเชื่อใคร ก็เป็นวิจารณญาณของแต่ละคนครับ”