"ส.ส.ดาวฤกษ์" วอน "รัฐบาล - กทม." แยกแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ออกจากชุมชนบางกะปิ หลังไม่ได้ตรวจคัดกรองโควิด-19 เพราะไม่มีเอกสารยืนยัน หวั่นการควบคุมโรคไม่เป็นผล
วันที่ 24 พ.ค. 64 น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม.เขตบางกะปิ-วังทองหลาง พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รายงานข้อมูลผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากการตรวจเชิงรุกที่ตลาดบางกะปิ โดย สปคม. กรมควบคุมโรคว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 64 มีผู้เข้ารับการตรวจทั้งสิ้น 845 คน ผลพบเชื้อ 137 คน คิดเป็นร้อยละ 16.21, วันที่ 21 มีผู้เข้ารับการตรวจทั้งหมด 399 คน ผลพบผู้ติดเชื้อประมาณ 80 กว่าคน (รอยืนยันจากศบค. อีกครั้ง) และ 22 พ.ค. ตรวจไปทั้งหมด 501 คน (รอผลจาก ศบค.) ซึ่งเท่าที่ทราบจากประชาชนในตลาด แจ้งว่าตอนนี้ผู้เข้ารับการตรวจของวันที่ 22 พ.ค. บางรายได้รับการแจ้งผลตรวจบ้างแล้ว และดูเหมือนว่าจะเยอะซะด้วย
น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุอีกว่า หลังจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก ก็ยังคงมีปัญหาใหญ่อีก 1 ปัญหาคือ แรงงานต่างด้าวที่ไม่มีพาสปอร์ต ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือ เรียกง่ายๆ คือ แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุก เพราะไม่มีเอกสารยืนยันและระบุตัวตน กลุ่มนี้มีอยู่อีกกว่าหลายร้อยคน อาศัยปะปนรวมกลุ่มกันอยู่กับแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย รวมถึงอาศัยอยู่ในตึกหอพัก อพาร์ทเม้นท์ และบ้านเช่าร่วมกับคนไทยบางส่วน
"หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ความหวังในการควบคุมโรคดูเหมือนจะยากขึ้น เราจำเป็นต้องนำคนกลุ่มนี้แยกออกจากชุมชนก่อน แล้วเร่งปูพรมฉีดวัคซีนให้คนที่เหลือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงาน แรงงานต่างด้าว รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงทั้งหมด" น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ
คนเหล่านี้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
และประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อนาคตเราอาจจะขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นหากเรานำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบแล้ว ยังได้ในเรื่องของการตรวจสอบอัตตลักษณ์ ป้องกันปัญหาอาชญากรรมในอนาคต และรัฐควรจัดให้มีกองทุนที่มีลักษณะ กองทุนสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าว ให้พวกแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนรอบนี้ทุกคน ต้องช่วยกันจ่ายเงินเข้ากองทุน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของประเทศเรามากจนเกินไปในอนาคต
อย่างไรก็ตามระหว่างที่มีการปิดตลาดบางกะปิ 14 วัน ทางผู้บริหารตลาด ควรมีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณสุข และสุขอนามัยภายในตลาด ตามนโยบายของคณะกรรมควบคุมโรค กรุงเทพมหานคร อย่าปล่อยให้การปิดตลาด 14 เป็นเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น แต่ต้องถือโอกาสยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความสะอาดของตลาด และคุณภาพชีวิตของประชาชนไปในตัว
หากทางตลาดสามารถปรับปรุงได้ดีมีมาตราฐานความสะอาดแล้ว กรุงเทพมหานครอาจจะพิจารณาเปิดก่อนกำหนด 14 วันก็ได้ แต่หากปิดแล้วทำแค่ขัดล้างทำความสะอาด ไม่ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความสะอาด โรคระบาดและโรคอื่นๆก็จะกลับมาอีกเหมือนเดิม
ด้าน น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า ได้ลงพื้นที่เขตหนองจอกกับ นายศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม.เขตหนองจอก ไปพบผู้จัดการตลาดหนองจอก ที่เป็น 1 ใน 10 ของตลาดที่ถูกสั่งปิดตามคำสั่งของ กทม. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พ.ค. แต่ทว่าจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองเชิงรุก หรือการแยกกักตัวกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการปิดตลาดแต่ร้านค้าก็ย้ายไปขายของบริเวณโดยรอบแทน
ผลที่เกิดขึ้นคือวันนี้ตลาดหนองจอกจากวันที่ปิดมีผู้ติดเชื้อเพียง 2 คน วันนี้โรคเริ่มแพร่กระจายจนมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 20 คน ตัวเลขที่ปรากฎเป็นคนที่แสดงอาการแล้วจึงไปตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง คำถามที่เกิดขึ้นคือ “เหตุการณ์ที่ตลาดหนองจอก กำลังจะซ้ำรอยเดิมกับตลาดบางกะปิ หรือไม่
ก่อนหน้านี้คลัสเตอร์ตลาดบางกะปิ จากที่ ส.ส. โอ๋ ฐิติภัสร์ รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีคนติดเชื้อในตลาดแล้วอย่างน้อย 59 คน ซึ่งเป็นคนละตัวเลขกับข้อมูลที่ยืนยันจากหน่วยงานภาครัฐ จนเป็นที่มาของข้อเรียกร้องการเร่งตรวจเชิงรุก วันแรกของการตรวจจำนวน 845 คนพบผู้ติดเชื้อแล้ว 137 คน หรือคิดเป็น 16% ในขณะที่ผลการตรวจเชิงรุกในวันที่ 21และ22 กำลังรอผลการยืนยัน แม้ตัวเลขยังยืนยันไม่ครบทั้งหมดแต่ก็เห็นแนวโน้มชัดเจนว่าผลรวมจะออกมาเป็นอย่างไร นั่นยังไม่นับรวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณตลาดบางกะปิอีกกว่า 400 คน ที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง
หากเราไม่เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อพร้อมแยกกักตัวคนที่มีความเสี่ยงสูงไม่ให้มาร่วมปะปนกับผู้อื่น พร้อมจัดให้เอกชนที่เป็นเจ้าของตลาดปรับปรุงปัญหาสุขอนามัยของตลาดในระหว่างที่โดนคำสั่งปิดตามประกาศของ กทม. เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่าพ่อค้าแม่ค้าในตลาดนั้นต้องหาเลี้ยงปากท้องรายวันเพื่อใช้ประทังชีพ เมื่อสั่งปิดตลาดก็ต้องไปหาสถานที่ใหม่เพื่อขายของ ดังนั้นหากไม่เร่งแยกคัดคนติดเชื้อและคนเสี่ยงออกจากพื้นที่ก็จะไม่มีวันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อได้
นอกจากนี้การป้องกันการแพร่ระะบาดที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน เมื่อตัวเลขคนสูงอายุและผู้ป่วยกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงลงทะเบียนรับวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เราจะมีวิธีการบริหารวัคซีนอย่างไรเพื่อกระจายไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มอาชีพผู้ให้บริการที่ต้องพบปะกับผู้คนเป็นจำนวนมาก พร้อมบริหารวัคซีนให้กระจายตามความจำเป็นของพื้นที่ที่แพร่ระบาด ไม่ใช่ปล่อยให้วัคซีนกระจายไปในจังหวัดที่แพร่ระบาดต่ำ ในขณะที่พื้นที่สีแดงเข้มอย่าง กทม.และอีกหลายจังหวัดต้องรอคอยวัคซีนต่อไป