เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน เผย วัคซีนซิโนแวค ใกล้ได้รับการรับรองจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO คาดว่า จะมีผลภายในสัปดาห์หน้า และหากผ่านการรับรองขึ้นมา ประเทศไทยก็น่าจะมีประสิทธิภาพในการสู้โควิด-19ได้ดีขึ้น
ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน เปิดเผยข้อมูลผ่านทาง blockdit และยืนยันว่า ณ ขณะนี้ วัคซีนซิโนแวคที่ประเทศไทยได้ใช้เป็นหลักนั้น ใกล้จะได้รับการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แล้ว
โดย ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร แสดงความคิดเห็นว่า Final Review จากองค์การอนามัยโลกต่อวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ออกมาเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา ผลการพิจารณาดังกล่าวน่าจะทำให้คนไทยและเทศที่ฉีด หรือวางแผนจะฉีดซิโนแวคอุ่นใจมากขึ้น โดยชิโนแวคสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ขึ้นไป แม้กระทั่งคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้มีโรคประจำตัว
สรุปการพิจารณาของ SAGE ต่อชิโนแวค ได้ดังนี้
- ป้องกันอาการโควิด-19 ได้ที่ระดับ 67%
- ป้องกันการแอดมิดเนื่องจากโควิด-19 ได้ 85%
- ป้องกันการเข้า ICU เนื่องจากโควิด-19 ที่ระดับ 89%
- ป้องกันการเสียชีวิตเนื่องจากโควิด-19 ที่ระดับ 80%
มติของ SAGE ของ WHO: "มีความมั่นใจในระดับสูง” (High level of confidence) ในเรื่องประสิทธิภาพ (Efficacy)
ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เผยว่า หาก วัคซีนซิโนแวคได้รับการรับรองจาก องค์การอนามัยโลก WHO ก็คาดว่า สหภาพยุโรป หรือ อียู จะขึ้นทะเบียนชิโนแวคตามมาในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะส่งผลให้ชิโนแวคสามารถใช้ได้ในอีกเกือบ 30 ประเทศสมาชิก
การอนุมัติในครั้งนี้ยังหมายถึงการเดินหน้าโครงการโคแว็กซ์ (COVAX) ของ องค์การอนามัยโลก WHO ที่ต้องการกระจายวัคซีนช่วยเหลือผู้คนในประเทศด้อยพัฒนาที่กำลังตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนวัคซีนโควิด-19
นอกจากนี้ ก็มีข่าวอีกว่า ประเทศจอร์เจียเตรียมจะนำเอาวัคซีน ซิโนแวคไปฉีดให้ประชาชนของตนเองในวันที่ 24 พฤษภาคม ศกนี้ และ ต้นเดือนพฤษภาคม วัคซีนซิโนฟาร์มได้รับอนุมัติจาก WHO และชิโนแวครอผ่านในเร็ววันนี้
อีกไม่นานก็น่าจะถึงคิวของคันชิโน วัคซีนแบบเข็มเดียวของจีน และวัคซีนตัวอื่นๆ หากเป็นเช่นนั้นจริง ปี 2021 จะไม่เพียงเป็นปีที่จีนคิดค้นและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้มากที่สุด และได้รับการขึ้นทะเบียนของ WHO เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ยังจะมีจำนวนวัคซีนที่ผ่านการรับรองมากที่สุดอีกด้วย ...
ขณะนี้ มีวัคซีนซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์กรอนามัยโลกแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.วัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ของสหรัฐและเยอรมนี 2. วัคซีนแอสตราเซเนกา/ออกซฟอร์ด จากสหราชอาณาจักร แบบที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย และบริษัทเอสเค ไบโอ ของเกาหลีใต้ 3. วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันของสหรัฐ 4 วัคซีนโมเดอร์นาของสหรัฐ และ 5. วัคซีนซิโนฟาร์มของจีน
ทั้งนี้ สำหรับวัคซีนซิโนแวค มีการใช้ใน 45 ประเทศทั่วโลก โดย อย. ใช้เกณฑ์การประเมินมาตรฐานเดียวกับของ WHO โดยการทดลองระยะ 3 ที่บราซิล สามารถป้องกันการติดเชื้อเกิน 50% ป้องกันความรุนแรงของโรค 78% และป้องกันการตายได้ 100%
เมื่อดูประเทศที่ใช้จริง พบว่าที่ประเทศชิลีใช้ป้องกันการติดเชื้อได้ 67% ป้องกันป่วย 85% ป้องกันอาการหนัก 89% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 80%
ขณะที่การศึกษาของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ พบว่าถ้าฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็ม ผ่านไป 1 เดือนจะมีภูมิต้านทานขึ้นสูง 99.4% สูงกว่าคนที่ได้รับเชื้อโดยธรรมชาติ