svasdssvasds

10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้

10 เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้

10 เรื่อง เกี่ยวกับโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่วัคซีนโค-19 ที่ไทยใช้มีอยู่ในเวลานี้ อาจอาไม่อยู่ โดยผู้เชี่ยวชาญจัดให้เป็นสายพันธุโควิด-19 ที่ดื้อวัคซีนมากที่สุดในเวลานี้

1. สายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบครั้งแรกในเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว

โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ B.1.351 ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักกล่าวในทำนองเดียวกันว่า เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลมากที่สุด พบครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ในเขตเนลสัน แมนเดลา เบย์ ประเทศแอฟริกาใต้

2. กลางเดือนกุมภาพันธ์ พบชายไทย ติดโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เดินทางมาจากต่างประเทศ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยว่า ชายไทย อายุ 41 ปี อาชีพรับซื้อพลอยในประเทศแทนซาเนีย ได้เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม และเข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) ซึ่งผลการตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้

แต่ในเวลานั้น อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ยืนยันว่า ไม่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์นี้ในไทย เพราะเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และไม่มีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้เพิ่มในไทย ณ ช่วงเวลานั้น

3. โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ระบาดหนักในมาเลเซีย จนต้องประกาศล็อกดาวน์

มาเลเซีย หนึ่งเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีการระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ จนมีการประกาศล็อกดาวน์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา  

โดยมีผลตั้งแต่เริ่ม 12 พฤษภาคม -7 มิถุนายน 2564 เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันทะยานขึ้นสูง

โควิด-19

4. นพ.ยง โพสต์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม กังวลโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ เข้าไทย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เคยโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ถึงความกังวลว่า โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ จะเข้าแพร่ระบาดในเข้าไทย

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งขณะนี้ คือการระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซีย จะพบว่ามีทั้งหมด 5 สายพันธุ์นี้ สายพันธุ์ที่ถือว่าจะต้องระวังการแพร่ระบาดอย่างมากคือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351

“จากการดูในฐานข้อมูลจำนวน 74 สายพันธุ์ในมาเลเซียที่เผยแพร่สาธารณะ พบว่าเป็นสายพันธุ์นี้ถึง 31 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของมาเลเซียที่ระบาดอยู่

“ดังนั้นสายพันธุ์นี้จึงมีโอกาสที่จะเข้ามาสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ ได้มาก เรามีพรมแดนติดกัน อย่างเช่นสายพันธุ์อังกฤษ ระบาดหนักในประเทศไทยขณะนี้ไม่ได้บินมา แต่เดินข้ามพรมแดนธรรมชาติ จึงเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศไทยขณะนี้

“สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่อยู่ในมาเลเซีย เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ไม่ควรให้สายพันธุ์นี้มาระบาดในประเทศไทยได้”

5. พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ในคลัสเตอร์ตากใบ จ.นราธิวาส

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม หลังจากมีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ จ.นราธิวาส ต่อมากระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงว่า จากการสุ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวจำนวน 3 ราย และได้ทำการรักษาจนหายป่วยแล้ว โดยผู้ป่วยรายแรกมีประวัติสัมผัสกับผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองมาจากมาเลเซีย 

พร้อมทั้งยืนยันว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ 

6. หมอศิริราช เผย แอสตร้าฯ กับซิโนแวค อาจเอาโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ไม่อยู่

หลังจากที่มีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ตากใบ จ.นราธิวาส ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็ได้ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  

“วัคซีนที่ได้ผลกับสายพันธุ์นี้ (แอฟริกาใต้) ได้แก่ไฟเซอร์ (และอาจรวมถึง โมเดอร์นา ด้วย) ที่ 75% , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่ 64-66% และโนวาแวกซ์ ที่ 60.1% (สำหรับ non-HIV)

“ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า เหลือแค่ 10.4% สำหรับซิโนแวค ถ้าเทียบระดับ antibody ที่ขึ้นหลังฉีดแล้ว คาดว่าคงแทบไม่ได้ผลเช่นกัน”

“อาจถึงเวลาที่ภาครัฐจะต้องเปลี่ยนนโยบาย เร่งนำเข้า ไฟเซอร์ , โมเดอร์นา และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มาให้เพียงพอและครอบคลุมประชากรครับ ถ้าปล่อยให้ B.1.351 ระบาดนี่ อาจดูไม่จืดเลย”

วัคซีนโควิด-19

7. เป็นสายพันธุ์ ที่ดื้อวัคซีนมากที่สุด

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลถึงสาเหตุที่โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ดื้อวัคซีนมากที่สุด ดังนี้

“สาเหตุหลักที่ทำให้โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ดื้อต่อวัคซีนและ antibody มาก คือการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484 บน spike protein ที่เป็น E484K คือเปลี่ยนกรดอะมิโนจาก glutamate ไปเป็น lysine มีผลทำให้ antibody จับกับ spike protein ได้ยก

“นอกจากนี้การกลายพันธุ์ในตำแหน่งอื่นที่สำคัญคือ N501Y ที่เหมือนกับสายพันธุ์อังกฤษ ทำให้เชื้อจับกับตัวรับบนผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น แถมยังเจอ K417N ซึ่งทำให้เชื้อจับกับเซลล์ได้ดีขึ้นด้วย

“ในปัจจุบัน B.1.351 (โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้) เป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อวัคซีนและ antibody ที่สุด รองลงมาคือ สายพันธุ์บราซิล ซึ่งมี E484K เช่นกัน

8. CONI ยัน โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ลดประสิทธิภาพวัคซีน

กลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ได้ลงพื้นที่ร่วมสอบสวนโรค ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 22 พฤาภาคม โดยส่วนหนึ่งของรายงานก็ระบุว่า

“เชื้อสายตระกูล B.1.351 มีการกลายพันธุ์ในตําแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ต่อไวรัส และลดประสิทธิภาพการทํางานของวัคซีน แต่มิได้แปลว่า วัคซีนจะใช้ไม่ได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนประชากรผู้ไดรับวัคซีนให้สูงขึ้นเพื่อเกิดการป้องกันระดับประชากร”

9. หมอธีระวัฒน์ เปรียบถ้าเทียบกันแล้ว สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ระดับเจ้าพ่อ สายพันธุ์อังกฤษเด็กอนุบาล

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า จากสายพันธุ์ ที่ทั่วโลกมีการจับตาอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล สายพันธุ์อินเดีย และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้ นั้น เป็นสายพันธุ์เจ้าพ่อเบอร์ 1

ส่วนสายพันธุ์อังกฤษ ที่ระบาดในไทยตอนนี้นับว่า เด็กอนุบาล เพราะสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้น มีความสามารถในการแพร่กระจายโรคได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการรุนแรง และผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า สายพันธุ์ดังกล่าวดื้อต่อวัคซีนแทบทุกชนิด

10. สรุป : โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ

แม้วันนี้กระทรวงสาธารณสุข จะแถลงว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ระบาดในประเทศไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจเท่าใดนัก

เพราะในประเทศมาเลเซีย ที่มีพรมแดนติดกับไทย ยังมีการระบาดอย่างหนัก และสาเหตุที่สายพันธุ์ดังกล่าวเข้ามาไทยได้ ก็เนื่องมาจากการลักลอบเข้าเมือง ฉะนั้นแล้ว นับจากนี้ภาครัฐจะต้องเข้มงวดในการตรวจตราด้านชายไทย-มาเลเซีย เพื่อไม่เกิดการลับลอบเข้าเมือง ที่อาจะนำไปสู่การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ในไทย ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่พอทำได้ในเวลานี้ ในแง่ของการป้องกัน

โดยอีกสิ่งที่น่าเป็นกังวลเป็นอย่างมากนั่นก็คือ ในกรณีที่หากเกิดการระบาดขึ้น รัฐได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างไร หลังจากมีข้อมูลระบุว่า วัคซีนโควิด-19  ที่ไทยมีอยู่ในเวลานี้ อาจไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์ดังกล่าว

ส่วนการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 อื่นๆ ว่าจะเป็น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์จอหน์สัน ฯลฯ ก็ยังไม่มีความชัดเจน...

และเพราะความไม่ชัดเจนต่างๆ นี่แหละ ที่ทำให้ประเทศไทย ต้องตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ได้แต่ลุ้นไปวันๆ ว่า สถานการณ์จะไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้

อ้างอิง

รายงานสำหรับประชาคมวิทยาศาสตร์ เรื่องการระบาดในประเทศไทยของเชื้อ B.1.351 วันที่ 22 พฤษภาคม 2563

South Africa coronavirus variant: What is the risk?

"หมอธีระวัฒน์" เผยโควิด "สายพันธุ์แอฟริกา" จัดเป็นเจ้าพ่อ สายพันธุ์อังกฤษแค่อนุบาล

ส่อง 4 อันดับ'โควิด 19' สายพันธุ์ไหน ดื้อต่อวัคซีน

สธ.ติดตามเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แอฟริกาใต้ หวั่นกระทบผลวัคซีนป้องกันโควิด19

'โควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้' ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง

โควิด-19 สายพันธ์ุแอฟริกาใต้ : มานพ พิทักษ์ภากร

โควิด-19 สายพันธ์ุแอฟริกาใต้ : ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ 

คลัสเตอร์ตากใบ “สายพันธุ์แอฟริกาใต้” พบต้นตอจากผู้ป่วยรายแรกสัมผัสภรรยาลอบเข้าไทยจากมาเลเซีย

โควิดสายพันธุ์แอฟริกาแผลงฤทธิ์ รัฐบาลมาเลย์สั่งล็อกดาวน์รอบใหม่กว่าครึ่งเดือน

 

 

 

 

related