svasdssvasds

ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างมีเงื่อนงำ กระทบก่อสร้าง-เปิดบริการล่าช้า

ล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างมีเงื่อนงำ กระทบก่อสร้าง-เปิดบริการล่าช้า

บีทีเอส คาด คดีที่ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เหตุยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มกลางคัน ที่ศาลฯ รับฟ้องแล้ว จะได้ข้อยุติปลายปีนี้ ซึ่งการล้มประมูลดังกล่าว ก็ส่งผลให้การก่อสร้าง การเปิดให้บริการ ต้องล่าช้าออกไปอีก

กลายเป็นประเด็นอย่างต่อเนื่องสำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงมีนบุรี-บางขุนนนท์ (สุวินทวงศ์) ที่ส่อแววฮั้วประมูล เนื่องจากที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้เปลี่ยนเงื่อนไขรายละเอียดการประกวดราคา (ทีโออาร์)

โดยใช้เกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนนและข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน หลังเปิดรับซองประมูลจากเอกชนทั้ง 2 รายแล้ว อีกทั้งยกเลิกการประมูลโครงการกลางคัน เป็นเหตุให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ยื่นฟ้องศาลทั้ง 3 แห่ง เพื่อขอความเป็นธรรม

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคำฟ้อง

โดยเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้รับคำฟ้องคดีที่บีทีเอสซียื่นฟ้องผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา36 ทั้ง 7 คน  ในกรณียกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท ในคดีหมายเลขดำที่ อท 30/64 ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผยว่า ขณะนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้รับคำฟ้องคดีที่บีทีเอสซียื่นฟ้องผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา36 ทั้ง 7 คน  ในกรณียกเลิกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

เบื้องต้นศาลฯ นัดไต่สวนคดีดังกล่าวอีกครั้งภายในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้  ปัจจุบันทางบริษัทได้ยื่นฟ้องต่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวม 3 คดี  ประกอบด้วย คดีในศาลปกครองสูงสุดอีก 2 คดี คือ 1.ยื่นอุทธรณ์กรณีศาลปกครองพิจารณาจำหน่ายคดี 2.ฟ้องการยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ 3. คดีในศาลอาญาครั้งนี้

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา

บีเอเอส ขอดูทีโออาร์ ก่อนยื่นประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ส่วนในประเด็นจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ ถ้ามีการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กล่าวว่า "หาก รฟม.เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่ บริษัทคงต้องดูก่อนว่าทีโออาร์จะกำหนดมาแบบใด ถ้าออกมาใช้หลักเกณฑ์เดิมที่เคยทำเป็นปกติ โดยใช้คะแนนด้านราคา 100 คะแนน เราก็ยืนยันยื่นประมูลแน่นอน

“แต่ถ้า รฟม.ยืนยันจะใช้คะแนนด้านเทคนิคพิจารณาด้วย 30 คะแนน ก็คงต้องขอประเมินก่อนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่"

สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ประเมินข้อเสนอทั้ง 2 รูปแบบนั้น มีความได้เปรียบเสียเปรียบ คือ การกำหนดใช้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน รฟม.มีการกำหนดด้วยว่าผู้รับเหมาไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะปัจจุบันผู้รับเหมาไทยที่มีประสบการณ์ขุดเจาะอุโมงค์มีเพียง 3 ราย โดยประเด็นการได้เปรียบเสียบเปรียบนี้ บีทีเอสได้ส่งความเห็นไปยัง รฟม. เมื่อครั้งที่มีการสอบถามประกอบการพิจารณาร่างสัญญาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่แล้วในช่วงที่ผ่านมา

คาด คดีที่บีทีเอส ยื่นฟ้อง รฟม. จะได้ข้อยุติปลายปีนี้

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ขณะเดียวกันศาลฯ ได้มีคำสั่งรับฟ้องกรณีที่บริษัทฯ ยื่นฟ้องผู้ว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และจะเปิดโอกาสให้ รฟม. หรือจำเลยส่งคำคัดค้านภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหมายแจ้งนัด ซึ่งจะดำเนินการหรือไม่ก็ได้  โดยมั่นใจว่าคดีดังกล่าวจะได้ข้อยุติหรือความชัดเจนในช่วงปลายปี 2564 

“โครงการฯนี้มีมูลค่าถึงแสนล้าน ซึ่งบริษัทไม่ได้การคัดค้านการประมูล แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นมีความไม่ชอบมาพากล เราต้องการให้คนอื่นๆ เห็นว่าเราถูกรังแก แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ากระบวนการยุติธรรมโปร่งใสหรือไม่"  พ.ต.อ.สุชาติ กล่าว

สำหรับการฟ้องร้องคดีต่อศาลแพ่งนั้น ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับทนายความ ซึ่งต้องใช้เอกสารในการฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบประกอบเพื่อดำเนินการ ในกรณีที่หน่วยงานภาครัฐเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท แต่กลับยกเลิกประมูลกลางคัน โดยที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนเตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาโครงการฯ แล้ว ส่งผลให้บริษัทเกิดความเสียหาย จากการการยกเลิกประมูลโครงการฯ ในครั้งนี้

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

เตรียมยื่นฟ้องคณะกรรมการอีก 1 ชุด ร่วมลงนามยกเลิกการประมูล

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความของบีทีเอส  กล่าวว่า ขณะนี้บีทีเอสได้รับข้อมูลใหม่ ว่ามีคณะกรรมการอีก 1 ชุด ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้ลงนามร่วมกันยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งที่ผ่านมา ทำให้จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้ด้วย เพราะถือว่ามีส่วนทำให้โครงการเสียหาย  ซึ่งจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศาลพิจารณาต่อไป

ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า มีข้อเท็จจริงเดียวกับที่นำมาฟ้องต่อศาลอย่างไรหรือไม่ โดยทนายนำเรียนศาลว่า เป็นกรณีบุคคลภายนอกไปร้องเรียนต่อดีเอสไอ  ซึ่งมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สอดคล้องกัน แต่มีการหยิบประเด็นการฮั้วประมูลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาลฯ จะให้เจ้าหน้าที่ศาลมีหนังสือสอบถามพร้อมส่งคำฟ้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวคงอยู่ที่กระบวนการของศาลฯ ลากยาวถึงปลายปีนี้แน่นอน หาก รฟม.ไม่เร่งรัดดำเนินการเปิดประมูลโครงการฯ ส่งผลต่อการเปิดให้บริการแก่ประชาชนล่าช้าออกไปเลยเป้าหมายที่วางไว้

related