ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคำฟ้องของ “บีทีเอส” ปม รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม นัดไต่สวน 27 กรกฎาคม และอาจยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย
เมื่อวานนี้ พ.ต อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งรับคำฟ้องของบีทีเอส กรณีผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 รวม 7 คน แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการประมูลดังกล่าว เบื้องต้น ศาลฯ นัดไต่สวนในวันที่ 27 ก.ค.นี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ (ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ! บีทีเอส เตรียมอุทธรณ์ หลังศาลปกครองฯ จำหน่ายคดี)
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับคำฟ้องของบีทีเอส ปม รฟม.และคณะกรรมการ ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
พ.ต อ.สุชาติ กล่าวว่า ศาลฯ ได้เปิดโอกาสให้ รฟม. ส่งคำแถลงภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหมายแจ้งนัด ซึ่งจะดำเนินการหรือไม่ก็ได้ ในเบื้องต้น ศาลฯ นัดพร้อมในวันที่ 27 ก.ค.นี้ แต่อาจมีการเลื่อนนัดไต่สวน เนื่องจากต้องพิจารณาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่มั่นใจว่าคดีนี้จะได้ข้อยุติหรือความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้
ขณะเดียวกันศาลฯ ยังได้มีการสอบถาม กรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำการส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ให้สอบสวนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
โดย นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความบีทีเอส ยืนยันว่า มีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สอดคล้องกัน แต่เป็นการฟ้องร้องของบุคคลภายนอก ที่หยิบยกประเด็นการฮั้วประมูลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาลฯ จะนำประเด็นนี้ มาประกอบการพิจารณาด้วย
ส่วนกรณีที่ รฟม. จะเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่หรือไม่นั้น อยู่ที่การตัดสินใจของ รฟม. แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนหลังจากนี้บีทีเอสจะดำเนินการฟ้องร้องเพื่อระงับการประมูลหรือไม่ ขณะนี้ยังไม่ขอตอบในส่วนนี้ เพราะต้องดูเงื่อนไขการเปิดประมูลครั้งใหม่เสียก่อน
เตรียมยื่นฟ้องเพิ่มเติม
ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความบีทีเอส เปิดเผยว่า ขณะนี้บีทีเอสได้รับข้อมูลใหม่ว่ามีคณะกรรมการอีก 1 ชุด ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ม.36 ได้ลงนามร่วมกันยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งที่ผ่านมา ทำให้จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้เพิ่มเติมด้วย เพราะถือว่ามีส่วนทำให้โครงการเสียหาย ซึ่งทีมทนายจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศาลพิจารณาต่อไป
อีกทั้งปัจจุบันทีมทนายยังอยู่ระหว่างประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกประกวดราคา เพื่อส่งให้ศาลแพ่งพิจารณาโดยเร็วที่สุด
และแน่นอนว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นโครงการงานประมูลที่มีมูลค่าสูง เมื่อรัฐประกาศประมูล และมีเอกชนไปยื่นข้อเสนอ เอกชนต้องดำเนินการศึกษาข้อมูลโครงการ ทำรายละเอียดในการยื่นข้อเสนอ ถือเป็นการลงทุน การยกเลิกประมูลครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างความเสียหาย