ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพฯ วิเคราะห์การหักเหลี่ยมเฉือนคม ระหว่างบีทีเอส กับ รฟม. ในศึกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้ การที่ รฟม.จะบรรลุวัตถุประสงค์ ใช้เกณฑ์ประเมินใหม่ มีความเป็นไปได้ยาก และทำให้การดำเนินการยิ่งล่าช้า
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่ากรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก วิเคราะห์การหักเหลี่ยมเฉือนคม ระหว่างบีทีเอส กับ รฟม. ในศึกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เพิ่มดีกรีร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ ดังต่อไปนี้
แม้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศขอรับฟังความคิดเห็นของเอกชนผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในการประมูลรอบ 2 โดยใช้เกณฑ์ใหม่ไปเมื่อเร็วๆ นี้แล้วก็ตาม แต่คงไม่ง่ายที่ รฟม.จะใช้เกณฑ์ใหม่ได้ตามปรารถนา เพราะมีการดำเนินการทางกฎหมายกันอย่าง “หักเหลี่ยม เฉือนคม” ที่ต้องเกาะติด อย่ากะพริบตา
หลังจาก รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์การประมูล บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ผู้ซื้อซองประมูลรายหนึ่งได้ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้เกณฑ์ใหม่ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โดยศาลได้ระบุไว้ในคำพิพากษาตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล “จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย” รฟม.ไม่เห็นด้วย จึงเดินหน้าสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง แต่ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม.ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน (เส้นทางสายเดือด ก่อนล้มประมูล ! “สามารถ” เปิดปมปัญหา รถไฟฟ้าสายสีส้ม)
หลังจาก รฟม.ล้มการประมูลรอบแรกอย่างน่ากังขาไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 รฟม.ได้ยื่นถอนอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด นอกจากนี้ รฟม.ยังได้ขอให้ศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีด้วย เพื่อไม่ต้องพิจารณาคดีอีกต่อไป
เหตุที่ล้มการประมูลรอบแรก รฟม.อ้างว่าถ้ารอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งลงมา จะทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า แต่ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรนั้นไม่มีใครทราบ ที่น่าคิดก็คือ หากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง จะทำให้โอกาสที่ รฟม.เปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ใหม่ได้ยากมาก
แม้ว่า รฟม.ได้ถอนอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดพร้อมกับได้ขอให้ศาลปกครองกลางจำหน่ายคดีก็ตาม แต่บีทีเอสรู้ทัน จึงได้ชิงฟ้องเพิ่มเติมต่อศาลปกครองกลางไว้ก่อนที่ รฟม.จะขอให้ศาลปกครองกลางจำหน่ายคดี โดยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ รฟม.เปลี่ยนเกณฑ์การประมูลไว้แค่ 5 แสนบาท ซึ่งประเมินจากการทำให้บีทีเอสเสียเวลาในการเตรียมเอกสารประมูล
เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลปกครองกลางจึงต้องพิจารณาคดีนี้ต่อไป หากศาลฯ มีคำสั่งให้ รฟม.ชำระค่าเสียหายให้แก่บีทีเอสก็แสดงว่าการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เหตุผลที่บีทีเอสยื่นฟ้องผู้บริหาร รฟม.และผู้เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีน้ำหนักมากขึ้น ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จะพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องของบีทีเอสหรือไม่ในวันที่ 15 มีนาคมนี้
ที่สำคัญ หากศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ รฟม.ชำระค่าเสียหายให้แก่บีทีเอสก่อนที่ รฟม.จะเปิดประมูลรอบ 2 โดยต้องการใช้เกณฑ์ใหม่ จะทำให้ รฟม.ยากที่จะดื้อดึงใช้เกณฑ์ใหม่อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงอาจจะมีการใช้เทคนิคยื้อการพิจารณาของศาลปกครองกลาง เช่น อาจจะขอให้ศาลฯ เปลี่ยนองค์คณะตุลาการก็ได้ หรืออาจจะใช้วิธีการอื่นที่ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีต้องล่าช้าออกไป
ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นเกม “หักเหลี่ยม เฉือนคม” ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง ซึ่งอาจจะทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไปอีกหลายปี ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการให้ รฟม.ใช้เกณฑ์เดิมซึ่งมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว จะทำให้ประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด
ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง