ทักษิณ ชินวัตร แสดงความคิดเห็นใน CARE Talk “คิดเคลื่อนไทย: พลิกฟื้นวิกฤติโควิด กับ Tony Woodsome” เกี่ยวกับกระแสคนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ สะท้อนให้เห็นความอึดอัดคับข้องใจ ของประชาชน
CARE คิด เคลื่อน ไทย เปิดห้องคลับเฮ้าส์ และไลฟ์สด CARE Talk “คิดเคลื่อนไทย: พลิกฟื้นวิกฤติโควิด กับ Tony Woodsome” โดยอีกประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมาก นั่นก็คือกระแสอยากย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่ ซึ่งนายทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงความคิดเห็น ดังนี้
1. มีความคิดเห็นอย่างไร กับกระแสอยากย้ายประเทศ ?
ทักษิณ : ผมตกใจ 4 วัน 7 แสนคน (ย้ายประเทศกันเถอะ) ผมคิดว่า สรุปแล้วเราไม่พยายามจะเข้าใจประชาชน ไม่พยายามจะเข้าใจ Gen Z และ Gen Y มันเป็นช่วงที่วิธีคิดเขาไม่เหมือนเรา
ไม่เข้าใจกัน และไม่พยายามจะเข้าใจกัน มี digital gap ระหว่างคนแก่กับเด็ก ความไม่เข้าใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความไม่อยากฟัง มีอำนาจก็ใช้ แต่อำนาจเป็นอีกเรื่อง
เราต้องพยายามเข้าใจและฟังเขา ผมดูคลิปอาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ที่ทำสำรวจเรื่องเด็กรุ่นใหม่ คนเหล่านี้กำลังมองว่า โลกมันไปตรงนี้แล้ว แล้วบ้านเรามันเป็นอย่างนี้ เรียนจบมาแล้วจะไปทางไหน อายุระหว่าง 25-35 เยอะในกลุ่ม 7 แสนคน
เมื่อก่อนมีโรบินฮู้ดไปอยู่อเมริกาเยอะ อยู่จนได้กรีนการ์ด มันมีมาช้านาน ละตินอเมริกันก็ไปกันเยอะ เพราะทุกคนเกิดมาแล้วต้องดิ้นรนเพื่ออนาคตตัวเอง สมัยก่อนไปเป็นโรบินฮู้ด แต่สมัยนี้มีข้อมูลมากกว่าสมัยก่อน บางประเทศมีคนแก่เยอะกว่าเด็ก เขาก็อยากได้วัยแรงงาน มันก็เป็นช่องว่าง
อย่างทูตสวีเดนยินดีต้อนรับ อย่าง UAE ไม่ให้ citizen แต่ให้ resident ง่ายมาก เพราะประชากรไม่พอ ต้องการประชากรมาสร้างเศรษฐกิจ
ของเราประชากรเยอะ แต่ slow down เศรษฐกิจตนเอง ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือเปล่า คนที่คิดผมได้ข่าวว่าคิดเล่นๆ แต่กระแสมาจริง การทำมาหากินในโลกยุคใหม่ มีสารพัดอย่าง
เพราะฉะนั้นเด็กก็เริ่มศึกษาว่าไปทำที่ไหนดีจะมีอนาคต มันเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องดิ้นรน อย่าไปโทษใคร เราต้องสร้างอนาคตให้เขา
ทฤษฎี Robert Berton เรื่องอาชญวิทยาบอกว่า “ถ้าช่องทางที่ถูกกฎหมายไม่เปิดให้เขา เขาต้องไปหาจากช่องทางที่ผิดกฎหมาย” มันก็เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์
ก็เขาคิดว่าเขาไม่มีอนาคตแล้วจะไป แต่เราจะต้องทำความเข้าใจ สร้างเศรษฐกิจให้เขาเห็นอนาคต เด็กที่จบใหม่ตกงานหมด GDP ต้องโตอย่างน้อย 4-5% ถึงจะ absorb คนใหม่ๆ เทคโนโลยีจะ disrupt คน ต้องพยายามเข้าใจเขา
มาบอกว่าพวกคนนี้ไม่รักชาติ บ้าไปแล้ว นี่มันไม่พยายามเข้าใจเขา วิธีคิดเขาต่างกับเราที่เกิดจากเราในยุคปากกัดตีนถีบ คนไม่เข้าใจลูก ลูกคิดอย่างหนึ่ง ตีลูก ลูกหนีหมด
เวลาปกครองลูก ต้องเหมือนเป็นเพื่อน เขาจะกล้าพูดความจริงกับเรา แล้วเด็กยุคนี้ อย่าโกหกเขานะ ทำผิด เขาให้อภัยได้ แต่โกหกไม่ได้ อย่าไปก้าวล่วงชีวิตเขา
2. กระแสอยากย้ายประเทศ มองได้ว่าเป็นกระจกสะท้อนถึงสภาพของประเทศ ผู้นำต้องพูดอะไรกับ Gen Y และ Gen Z จะพูดอย่างไร ถ้าไปแบบนักเรียนทุน มีข้อผูกมัดอะไร ?
ทักษิณ : จริงๆ แล้วผมก็นักเรียนทุนรัฐบาล แล้วผมก็กลับ ไม่ได้คิดจะอยู่ คนรายได้ดี เช่น หมอ เราเห็นหมอไม่กลับเยอะ เมื่อก่อนหมอไม่กลับ มันเป็นเรื่องทางเลือกในชีวิตของแต่ละคน บางคนได้ภรรยาที่อเมริกา
ผมว่าผู้นำ ถ้าอยู่ในสภาวะ 700,000 คน อยากย้ายประเทศต้องพูดกับเขา ผมว่าน่าจะชวนตัวแทนมานั่งคุยที่ทำเนียบ อยากให้รัฐบาลทำอะไรบ้าง
พูดกับเขาแล้วอย่าโกหก ผมคิดว่าคงต้องคุย หลังจากประชาธิปไตยหายไป การพูดคุยเป็น top down หมด two ways communication ไม่มี มีแต่ใช้กฎหมายนำ
3. ตั้งประเทศใหม่ทำได้ไหม ?
ทักษิณ : บางทีบางครั้ง ผมก็คิดอะไรบ้าๆ มีคนหนึ่งมาบอกผม ตอนนั้นตอนปีแรก ผมก็เศร้าอยากกลับบ้าน เสร็จแล้วมีคนมาบอกผมว่ามันอยู่ที่คำจำกัดความ “ถ้าคิดว่าต้องอยู่ประเทศไทยเท่านั้น เราทุกข์ตายเลย ถ้าถือว่าโลกทั้งโลกเป็นบ้าน ก็จะไม่ทุกข์มาก”
หลังจากนั้นผมก็ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินไป ความเป็นจริงโลกทั้งโลกมันถูกยึดครองเป็นประเทศนั้นประเทศนี้ไปแล้ว อยู่ๆ จะไปตั้งประเทศใหม่ไม่ได้ ยกเว้นจะไปเฉือนประเทศเขามา ไม่มีใครเฉือนให้หรอก เป็นไปไม่ได้ที่ตั้งประเทศใหม่
มีอยู่วันหนึ่งผมไปเกาะหนึ่ง เกาะนี้มี King ประเทศเขามีหลายเกาะ King ถามผมว่านี่ คุณมาบริหารเกาะนี้ให้ฉันหน่อย ผมรีบขอบคุณ แล้วหนีเลย
4. เรื่องย้ายประเทศ เรื่องของความสิ้นหวัง มันมีคนที่ตัดสินใจแล้วจะไม่กลับมา อีกส่วนหนึ่งบอกต้องไปอย่างรับผิดชอบ ในความหมายที่เขาคุยกัน คนที่อยากไปแต่ไม่มีศักยภาพ ต้องอยู่ในประเทศสิ้นหวัง จะต้องอยู่อย่างไรในภาวะสิ้นหวัง ?
ทักษิณ : บางคนก็มีศักยภาพที่จะย้าย บางคนไม่มี แต่สมัยก่อนพวกโรบินฮู้ดซื้อตั๋วไปขาเดียว ไปถึงก็อาศัยอยู่กับเพื่อน ไปรับจ้างล้างจาน
เมื่อก่อนผมก็ไปขายไก่เคนตักกี้ ไปเป็นบ๋อยโรงแรม ศุกร์เสาร์เพื่อจะได้มีตังค์ไปผ่อนรถ โอกาสในการทำงานพาร์ทไทม์เมืองนอกมันเยอะ สมมุติว่าจะไป ก็ควรจะไปที่เรามีพรรคพวกอยู่สักพักหนึ่ง เลือกบ้านถูกๆ
เรื่องความหวัง ความสิ้นหวัง เด็ก Gen Z และ Gen Y เขาอยากใช้สมองเขาเต็มที่ ถ้าเราไป capture สมองเขาไว้ เขาอึดอัด เขารู้ว่าโลกไปตรงไหน
พ่อแม่ก็ยังต้องไปเข็นรถขายของ สมมุติตัวเองจบจุฬาฯ พ่อแม่ยังเข็นรถขายของ Bill Gates เคยบอกว่า “ตายจนเป็นความผิดของรัฐบาล เพราะรัฐบาลไม่จัดสรรให้คนมีลู่ทาง”
รัฐบาลจะทำยังไงให้เศรษฐกิจมันดีกว่านี้ ทำไงถึงจะสร้างการศึกษาให้เด็กไทย จริงๆ เราอยู่ไทยก็ทำงานให้อเมริกาได้ เพราะมัน just one click away การ work from home
หลัง pandemic จะกลายเป็นเรื่องปกติ ต้องคิดด้วยสติ อย่ามีโลภ โกรธ หลง มาคิดก่อนตัดสินใจ ถ้ามันต้องไป ก็ต้องไป อยู่ก็อยู่
5. ถ้าเป็นรัฐบาล จะ Convince เด็กรุ่นใหม่อย่างไรให้เขาอยากอยู่ประเทศนี้
ทักษิณ : ถ้าผมเป็น มันคงไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ผมคงไม่ปล่อยให้คนต้องอดตาย ฆ่าตัวตาย เราต้องพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่านี้
จุดอ่อนของคนไทย ชอบทำอะไรทีละอย่าง สมมุติว่าเราแก้ปัญหาจุดที่หนึ่ง เราต้องสร้างปัญหาใหม่ ทำทีละอย่างไม่ได้ ไม่ทันกิน เราต้องแก้สิบอย่าง อะไรจะมา disrupt เราคิดเองไม่ได้ก็ซื้อมาใช้
วันนี้มันต้องส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ใช้สมองคนรุ่นใหม่ ใช้พลังกับประสบการณ์คนรุ่นเก่า แต่คนรุ่นใหม่ต้องเป็นห้วหอก ไม่ใช่แวดล้อมคุยกันแต่คนอายุ 60 กว่า
นอกจากนั้น ก็ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
6. เรื่องการบริหารจัดการวัคซีน
ทักษิณ : เรื่องโควิดต้องคิดว่ามาถึง ณ จุดนี้จะเริ่มต้นอย่างไร วันนี้อยู่ที่ทัศนคติ เหมือนที่นายกฯ พูดว่า ติดกระดุมเม็ดแรกผิดก็ผิดหมด
นายกฯ คิดว่าจะใช้อำนาจจัดการโควิด แต่จริงๆ ต้องใช้หลักความรู้วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ และสื่อให้ประชาชนเข้าใจ
ตอนนี้ เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ปล่อยให้มันลุกลาม เช่น การฉีดวัคซีนแล้วแพ้ ไม่ยอมพิสูจน์และไม่พูดให้ประชาชนเข้าใจว่ามันเป็นอะไร
วันก่อนผมฟังคลิป มีคนหนึ่งอาการหลอดเลือดอุดตัน คุณหมอเลยตรวจ ปรากฏไม่พบอะไร ให้น้ำเกลือ วันรุ่งขึ้นกลับมาปกติ สรุปที่เป็นแบบนี้เพราะพักผ่อนไม่พอ
บางทีการฉีดวัคซีนแบบให้คนจำนวนมาก คนที่มาฉีดไม่พร้อม อดนอน กลัววัคซีน เกิดจากความไม่พร้อมของผู้มารับก็มี แต่คนที่แพ้เพราะยาก็มี สำคัญคือต้องพิสูจน์ เพื่อให้เขาสบายใจ พอสบายใจแล้ว ก็ฉีดอย่างรวดเร็ว
อย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน มาแค่ 100 วัน ฉีดได้ 200 กว่าล้านโดส เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เปิดเศรษฐกิจ
วันนี้นิวยอร์กประกาศแล้วว่าจะเปิดรถไฟใต้ดินถึงสี่ทุ่ม อเมริกาจะฟื้นเร็ว เศรษฐกิจไปได้ จะให้พร้อมต้องให้ประชาชนมั่นใจ
วันนี้รัฐบาลต้องคิดเรื่องการฉีดวัคซีนเป็นการบ้านใหญ่ การคัดกรอง เช่น คลัสเตอร์คลองเตย ต้องคัดกรองเร็ว แยกคนป่วย และคนไม่ป่วยออกจากกัน คนไม่ป่วยต้องฉีดวัคซีนอย่างเร็ว ต้องคิดว่าคุณมีวัคซีนพอมั้ย มนุษย์เขามีความคิดความรู้สึก ทุกคนกลัวตาย ไม่ใช่บังคับให้ฉีด
อย่าง Sinovac มีอาการแพ้ที่หลายจังหวัด ต้องพิสูจน์ อย่าง Astrazeneca ต้องรอ สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตให้เสร็จไหม หรือไปขอซื้อวัคซีนจากประเทศมีตังค์ ที่เขามีเหลือได้ไหม บอกเขาว่าผมขอยืมมาก่อน พอมิถุนายนประเทศไทยผลิตได้ก็ส่งคืน ใช้การทูต การเจรจา
อย่าง Pfizer สิงคโปร์ อิสราเอล มีเหลือมั้ย การฉีดวัคซีนต้องเป็น Priority สิ่งสำคัญคือ ต้องมองว่าอันนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่ใช่มองเป็นอำนาจบริหารจัดการ
วัคซีนสั่งมาสองบริษัท ทำไมเลือกแค่นั้น ทั้งๆ ที่เป็นรู้กันในโลกว่าอันดับหนึ่งต้อง Pfizer กับ Moderna จีนต้อง Sinopharm ไม่ใช่ Sinovac เท่าที่ผมรู้ตอนนี้รออนุมัติ Moderna แต่ไม่มี Pfizer แล้วทุกคนต้องไปซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ ขายต่อให้โรงพยาบาล แล้วโรงพยาบาลไปซื้อแล้วมาฉีดให้ลูกค้า
วันนี้ไปดูเว็บไซต์เห็นว่ามี Pfizer เข้ามาแล้ว เป็น Emergency แต่ไม่รู้เท่าไหร่ วันนี้ใครอยากรู้ ใครขายอะไรที่ไหนข้อมูลไม่เป็นความลับก็ไปดูได้
ผมคิดว่าทำไมไม่หยิบยืม เขาบอกว่าให้มาสิบล้าน ทำไมไม่ขอมาก่อน เดือนนี้ล้านนึง เดือนหน้าล้านนึง ไม่ใช่บอกอีกหกเดือนมาเอาสิบล้าน แล้วรอ
เราต้อง Aggressive พอ ผมคิดว่ายังไงวัคซีนก็เป็นเรื่องสำคัญของโรคระบาดในครั้งนี้ทั้งด้านเศรษฐกิจ จิตวิทยา แล้วไม่ต้องหวงประชาชน ไปห้ามเขาทำไมภาคเอกชน วันนี้ต้องใจกว้าง ทุกอย่างต้องหาโซลูชั่น
7. ความเสี่ยงระหว่างติดเชื้อโควิด กับวัคซีนที่ไม่มีทางเลือก อะไรเสี่ยงกว่ากัน ?
ทักษิณ : วัคซีน ความเสี่ยงมีไม่มากนัก แต่ก็เสี่ยงเพราะเป็น Emergency License จะให้ไม่มี Side Effect เลยยาก
แต่การไม่ตื่นเต้นจนความดันขึ้น กินให้พอ นอนให้พอ ช่วยได้ อัตราแพ้ต่ำ อย่างน้อยมันก็ดีกว่า โดยเฉพาะคนที่เปราะบาง เช่น คนแก่ คนอ้วน เบาหวาน ความดัน มันฉีดเพื่อความมั่นใจทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ร้านอาหารที่สามารถประกาศได้ว่าทุกคนฉีดแล้ว
8. จริงหรือ ที่ Pfizer เข้ามาในไทยแล้ว ?
ทักษิณ : เรื่อง Pfizer มันมีเว็บไซต์ของ Pfizer และมีแผนที่ประเทศ ถ้ามันสีเหลืองแสดงว่าเข้ามาแล้ว มันมีหลักฐานอยู่ เข้าเป็น Emergency อาจจะจำนวนไม่เยอะ
9. มีโควิดเข้าไทยอีกสองสายพันธ์ุ บราซิล แอฟริกา เคลียร์ของเก่าออกไม่หมด มีของใหม่เข้ามา Sinovac อาจจะป้องกันไม่ได้ ต้องทำยังไง ?
ทักษิณ : เรื่องสายพันธุ์ใหม่ ย้อนไปร้อยสองปี ยุคไข้หวัดใหญ่สเปน มีคนตายเยอะ ตอนนั้นมันก็เป็นไวรัสตัวใหม่ในขณะนั้น มนุษย์ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ยาไม่มี วัคซีนไม่มี เลยตายกันเยอะ
ต่อมาเริ่มมียารักษา มีวัคซีนให้ฉีด ไข้หวัดนั้นก็กลายพันธ์ุ กลายเป็น Flu A Flu B มนุษย์มีภูมิคุ้มกันก็เอาอยู่
ไวรัสตัวนี้จะคล้ายกัน ยารักษาไม่มี มีแค่ยาบรรเทาอาการ ยารักษาทดลองเฟสสามแล้ว มีลองใช้ที่อินเดีย คิดว่าอีกสี่ห้าเดือนยานี้จะออกตลาด
นี่คือยารักษาโควิดโดยตรง ทำให้ RNA โควิดฝ่อ ไม่สามารถขยายตัวออกไปได้ แต่วัคซีนที่เข้ามาสองตัวแรก ต้องยอมรับว่ายังไม่ค่อยเก่ง Sinovac 54.6% และ Astra Seneca 70% มีผลข้างเคียง
ผมถึงบอกว่าให้เอาวัคซีนตัวใหม่เข้ามา เช่นให้คุณธนินท์ไปขอ Sinopharm ได้มั้ย ผลข้างเคียงน้อยกว่า Pfizer เอาเข้ามาเต็มเลยได้มั้ย
ที่ อ.เปี๋ยมบอกวัคซีนไม่ใช่คำตอบ เพราะวัคซีนได้มาน้อยและไม่หลากหลาย ถ้าเป็นผม ผมจะให้เดินสายเอามาอีก 100,000 โดสก็เอา 500,000 ก็เอา จะเก็บตังค์บ้างก็ได้ แม้จริงๆ ควรจะฟรีหมด
ผมว่าชาร์จ 1,000-2,000 ผมยอมเสียตังค์ คือ ความรู้พวกนี้มันหาได้หมด วัคซีนตัวไหน ประสิทธิภาพเท่าไหร่ อาการข้างเคียงมีอะไรบ้าง วันนี้ไม่มีอะไรเป็นความลับ
10. ประยุทธ์เตรียมตัวเองเป็น ผอ. ศูนย์แก้โควิด กทม. และ ปริมณฑล จะรอดไหม ?
ทักษิณ : ผมคิดว่าต้องกระจายอำนาจในการทำงานหรือการบริหารจัดการ มันมีสิ่งที่เรียกว่า management syndrome หนึ่งใน syndrome คือ การไม่มีความสามารถในการกระจายงาน (Inability to Delegate) เพราะคนๆ เดียวทำทุกเรื่องไม่ได้
จะ Educate ประชาชนก็ต้องรู้จริงๆ ต้องยอมศึกษาจริงๆ มันเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ บริหารจัดการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ความจริงเขตกรุงเทพ ต้องมอบหมายให้ผู้ว่า กทม.
ขณะเดียวกันผู้ว่า กทม. คนเดียวก็ไม่พอ ต้องช่วยกันกับกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสนามของทหาร โรงนอนของทหาร เอามาใช้ได้ ปล่อยทหารกลับบ้านบ้างก็ได้
11. แนะนำเรื่องการบริหารจัดการอย่างไร ?
ทักษิณ : เป็นเรื่องที่ต้องทำด่วน อย่างที่พูดเรื่องคัดกรอง โดยเฉพาะใครที่มีอาการให้รีบออกมา สมัยอิตาลี สเปน เขาคัดกรองมั่วตอนใหม่ๆ เอาคนเป็นไข้หวัดธรรมดากับโควิดไปอยู่ด้วยกัน คนเป็นหวัดธรรมดาเลยติดไปด้วย ต้องเอาคนที่ติดออกมาก่อนสำคัญที่สุด
เรื่องต่อมา สภาพความเป็นอยู่ รัฐจัดงบกรุงเทพฯ ไปเลี้ยงได้ ตอนผมเป็นนายกปีแรกๆ ผมใช้คำที่มีความหมายมากคือ Rematching Resources หรือเอาทรัพยากรที่มีอยู่กระจัดกระจายมาจัดสรร
ร้านอาหารตอนนี้ซึ่งขายไม่ได้ ทำยังไงให้ กทม. อุดหนุนร้านอาหารพวกนี้แล้วเอามาดูแลช่วงนี้ ช่วยกัน อย่างน้อยๆ วันละมื้อ
โรงพยาบาลสนาม บางทีไม่มี Social Distance บางทีเชื้อมันกระจาย บางคนกักตัวเฉยๆ ยังไม่เป็น เจอคนเป็นแล้ว
โรงแรมวันนี้ไม่มีนักท่องเที่ยว รัฐไปเหมาโรงแรมถูกๆ คืนละ 500 - 800 บาท ห้องใครห้องมัน มีห้องน้ำในตัว ผมคิดว่า resources ที่มี งบก็มี กู้มาตั้งเยอะแยะ ช่วยโรงแรมที่ไม่ค่อยไหวแล้ว ช่วยร้านอาหาร เป็นการช่วยกันในตัว
บางประเทศใช้นักศึกษาแพทย์ช่วย มันเหมือนภาวะสงครามที่ต้องระดมทุกคนมาช่วย ทหารเสนารักษ์ก็มาช่วยได้ แต่ต้องเอาเครื่องป้องกัน เช่น Face Shield หรือ PPE ให้เขา
12. การสื่อสารภาครัฐทั้งอ่อนแอ สับสน ประชาชนไม่มั่นใจควรจัดการอย่างไร ?
ทักษิณ : จริงๆ ต้องพูดให้รู้ว่านี่คือประชาชน ไม่ใช่พลทหาร ถ้าพูดกับประชาชนแบบประชาชน เราจะพูดให้เขาเข้าใจ ไม่สั่งการ ต้องสื่อสารด้วยความเข้าใจ
คนที่จะพูดก็ต้องเข้าใจว่าตัวเองจะพูดเรื่องอะไร เหมือนเราเป็นครูสอน ไม่เตรียมสอน ไม่มีความรู้ นักเรียนไม่ฟัง ต้อง ให้เขารู้ในปัญหาต่างๆ ให้เขาตัดสินใจชีวิตเขาเองได้
13. ผู้นำที่คุมกระทรวงสาธารณสุข ต้องเป็นยังไง ?
ทักษิณ : ต้องพูดแล้วนายกฯ ฟัง ถึงจะสามารถให้กระทรวงสาธารณสุขได้ เพราะเป็นกองกำลังสำคัญ ผมใช้เยอะมากตอนผมอยู่ ไม่งั้น ซาร์ หวัดนก สามสิบบาท ทำไม่สำเร็จ
ต้องร่วมมือกับ สวทช. ด้วย ฟังหมออย่างเดียวไม่ได้ ต้องฟังนักวิทยาศาสตร์ได้
14. ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ปัญหา คลัสเตอร์คลองเตย ?
ทักษิณ : เข้าใจว่ามีรถพระราชทานสี่คัน ตรวจได้คันละพันคน สี่พันคน มีแสนคนใช้เวลา 25 วัน ปัญหาคือ 25 วันคนติดหมดแล้ว ต้องระดมการคัดกรองให้เร็วที่สุด คนที่มีอาการให้แยกมาก่อน ใครมีอาการให้เดินออกมา เทสต์ก่อน
ผมห่วงที่สุด เพราะลักษณะการอยู่ร่วมกันของชุมชนแออัด ทำให้สิ่งที่เรียกว่า Social Distance เป็นไปไม่ได้ ห้องหนึ่งนอนห้าหกคน ชุมชนแออัดเหมือนประเทศยากจนทั้งหลาย เช่น เวเนซุเอล่า อินเดีย ทำให้เกิดการคัดกรองช้า ชุมชนแออัดเป็นเรื่องที่ต้องจัดการด่วนที่สุด หน่วยงานเอกชน ต้องช่วย NGOs ให้ทำงานได้
15. เราไม่อยากให้เขาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง เราจะต้องทำยังไง ?
ทักษิณ : เรื่องรัฐธรรมนูญที่ดีถูกฉีกทิ้ง ผมก็โดนฉีกมาแล้วไม่รู้จะตอบยังไง สรุปแล้วก็คือว่า ประชาชนไทยต้องสนใจการเมืองมากขึ้น เมื่อก่อนเราไม่ค่อยสนใจการเมือง ถ้าเราสนใจการเมือง การเมืองก็จะสนใจเรา อยากเห็นบ้านเมืองไปอย่างนี้ๆ ผมไม่อยากเห็นการนองเลือด
ผมไม่ใช่นักปฏิวัติ ผมเป็นนักบริหาร เป็นนักคิด แต่วันนี้ประเทศอยู่ในจุดที่ผมเป็นห่วง คนที่ปกครองประเทศไม่ให้ความตื่นตัวกับโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ไม่ให้ความสนใจว่าคนรุ่นใหม่คิดอะไรอยู่
บางที่เราไปกลัวเด็กรุ่นใหม่ กลัวความคิดเขา แล้วเราก็ต้อง Promise Future ให้เขา วันนี้ Future สำคัญ แต่เขาคิดว่าเป็นปัญหาแล้วไปขวาง คิดแต่ว่าเด็กรุ่นใหม่จะไปสั่นคลอน
16. อนาคตของประยุทธ์จะเป็นไง ?
ทักษิณ : ต้องถามคุณประยุทธ์เองว่าเบื่อหรือยัง การเมืองวันนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจโดยตรง ทุกอย่างพัง
แต่บิ๊กตู่ยืนยง มั่นคง สถาพร เพราะมี 250 เสียง ผมเชื่อว่าคราวหน้าถ้าพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนถล่มทลาย จะเปลี่ยนไป ผมคิดว่าก็ต้องดูเลือกตั้ง ผมไม่เชื่อว่าการเมืองคราวหน้าเสียงจะเป็นเบี้ยหัวแตกแบบนี้ เพราะสถานการณ์วันนี้มันแย่
17. ประเมินเศรษฐกิจไทยว่ากระทบมากน้อยแค่ไหนจากโควิด ?
ทักษิณ : ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่สี่อย่างหลัก 1) การส่งออก 2) การท่องเที่ยว 3) เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และ 4) เศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งอย่างที่ 4 ตอนนี้สะดุดอย่างมากเพราะล็อกดาวน์
ส่วนท่องเที่ยว แซนด์บ็อกซ์ที่ภูเก็ตก็ต้องเลื่อน เป็นโรคเลื่อน เศรษฐกิจฟื้นยาก กู้เงินมาก็ไม่ได้ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร
เงินใช้เรื่องการเมืองมากไป ต้องเลิกคิดเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ ต้องคิดว่าจะแก้ปัญหาชาติและแก้ปัญหาความเชื่อมั่นอย่างไร จะกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้ยังไง
ที่มา FB : CARE คิด เคลื่อน ไทย