svasdssvasds

หมอเฉลิม เผยวัคซีนโควิด 19 ทางเลือก ที่รัฐไฟเขียวให้ รพ.เอกชน จัดหา คืออะไร ?

หมอเฉลิม เผยวัคซีนโควิด 19 ทางเลือก ที่รัฐไฟเขียวให้ รพ.เอกชน จัดหา คืออะไร ?

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ยัน รพ.เอกชนยังได้รับไฟเขียวจากรัฐ ให้จัดหาวัคซีนโควิด 19 ทางเลือก ไขข้อสงสัย ทำไม รพ.เอกชน จัดหาวัคซีนได้ แต่ภาคธุรกิจเอกชน (สภาหอการค้าไทย) ไม่ได้ไปต่อ ? วัคซีนทางเลือกคืออะไร แตกต่างจากวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาอย่างไร ?

การจัดหาวัคซีนในภาคเอกชน ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากประธานสภาหอการค้าไทย ประกาศว่า มีการร่วมมือกันกว่า 40 องค์กร และแบ่งการทำงานเป็น 4 ทีม เพื่อช่วยรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19 โดยเฉพาะการช่วยจัดซื้อ เพื่อนำมาแก้วิกฤตในประเทศ

แต่แล้วไม่กี่วันมานี้ ระหว่างการประชุมกับสภาหอการค้าไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ก็แจ้งว่า รัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนโควิด 19 ได้เพียงพอ ดังนั้นเอกชนไม่จำเป็นต้องเข้ามาช่วย ทำให้หลายคนเข้าใจว่า รัฐบาลปิดกั้น ไม่ให้เอกชนเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด 19

SPRiNG ได้มีโอกาสถามไถ่ข้อข้องใจกับ ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และเป็นหนึ่งในคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ลงนามแต่งตั้งโดยนายกฯ

ซึ่งหมอเฉลิมได้ให้ข้อมูลว่า การจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสภาหอการค้าไทย พร้อมทั้งยืนยันว่า โรงพยาบาลเอกชนยังคงเดินหน้าจัดซื้อวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชนต่อไป  

เฉลิม หาญพาณิชย์ โรงพยาบาลเอกชน ยังสามารถเดินหน้าจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 ต่อไปได้

เมื่อวานนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นภาคเอกชน ที่นำโดยสภาหอการค้าไทย ในการจัดหาวัคซีนโควิด 19 แต่เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ทางภาคเอกชนสนใจนั้น จะส่งมอบวัคซีนให้ได้ในไตรมาสที่ 4 (ต.ค. – ธ.ค.) ของปีนี้ ซึ่งล่าช้า และอาจทับซ้อนกับการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล ดังนั้นทางภาคธุรกิจเอกชนจึงไปช่วยรัฐบาลในด้านอื่นแทน เช่น การกระจายวัคซีน เป็นต้น   

ส่วนการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด 19 ของโรงพยาบาลเอกชน ก็ยังเดินหน้าต่อไป ตามกลไกคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

สอดคล้องกับสิ่งที่หมอเฉลิมกล่าวกับ SPRiNG ว่า โรงพยาบาลเอกชน ยังได้รับอนุญาตให้จัดหาวัคซีนทางเลือกต่อไป โดยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้   

“เดิมที สภาหอการค้าไทยต้องการวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่บริษัทจะส่งให้ได้ในไตรมาสที่ 4 (ต.ค. – ธ.ค.) เขาก็เลยไม่เอา ถ้ารัฐบาลจะสั่งซื้อจอหน์สันแอนด์จอห์นสัน ก็จะได้ในไตรมาส 4 แต่หากไม่ซื้อ เอกชน (โรงพยาบาลเอกชน) ก็จะซื้อ เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน

“ตอนนี้มันเริ่มมีกระแสบางอย่างที่แปลกๆ และมันเป็นทั้งโลก ถ้าจะเข้าประเทศจีน ต้องฉีดวัคซีนของจีน หรือหากลูกหลานเราจะกลับไปเรียนอังกฤษ ก็ต้องฉีดวัคซีนของไฟเซอร์”

เฉลิม หาญพาณิชย์

วัคซีนโควิด 19 ทางเลือก คืออะไร ?

อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ วัคซีนทางเลือกก็คือ วัคซีนโควิด 19 ที่โรงพยาบาลเอกชนจัดซื้อ แต่ต้องไม่ใช่วัคซีนบริษัทเดียวกับที่รัฐบาลจัดซื้อ เพื่อให้ประเทศมีวัคซีนโควิด 19 ที่หลากหลาย

โดยวัคซีนโควิด 19 ที่รัฐบาลจัดซื้อ จะฉีดให้ประชาชนฟรี แต่ถ้าเป็นวัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนจัดซื้อมา ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน จะต้องเสียค่าใช้จ่าย และสามารถเลือกได้ว่า จะฉีดวัคซีนของบริษัทใด แต่ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและให้คำแนะนำของแพทย์ด้วย เพราะวัคซีนบางตัวอาจเหมาะสมกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่เหมาะสมกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง  

“ตอนนี้รัฐบาลลมีการจัดซื้อวัคซีน 2 บริษัท คือ ซิโนแวค กับแอสตร้าเซนเนก้า แล้วท่านนายกฯ ก็ได้ติดต่อขอซื้อ สปุตนิก วี ของบริษัทกามาเลยา ส่วนท่านรองฯ อนุทิน ก็ได้ติดต่อไฟเซอร์

“ส่วนวัคซีนจอนห์นสันแอนด์จอห์นสัน ตอนนี้ได้ขึ้นทะเบียน (ผ่านการรับรองของ อย.ประเทศไทย) ถ้ารัฐบาลจัดซื้อ ก็จะมีวัคซีน 5 บริษัทที่จะนำไปฉีดฟรีให้กับประชาชน แต่ถ้ารัฐไม่เอา เอกชนก็จะจัดซื้อ

“โดยวัคซีนที่เอกชนพยายามจัดซื้อเพื่อนำเข้ามา โดยไม่ผ่านองค์การเภสัชกรรม คือ ซิโนฟาร์ม ของประเทศจีน ส่วนโมเดอร์นา ราคาค่อนข้างสูง เป็นการดำเนินการผ่านองค์การเภสัชกรรม โดยองค์การเภสัชกรรมนำเข้า แล้วมาขายต่อให้เอกชน”   

เฉลิม หาญพาณิชย์

การนำเข้าวัคซีนโควิด 19 โดยภาคเอกชน

หมอเฉลิมได้อธิบายว่า ในการจัดซื้อวัคซีน เอกชนสามารถติดต่อไปยังบริษัทวัคซีนต่างๆ ได้เลย แต่ต้องเป็นในนามบริษัทที่จดทะเบียนกับ สำนักงานอาหารและยา หรือ อย. ไม่ใช่ในนามโรงพยาบาลเอกชน

“เอกชนที่จะนำเข้าวัคซีนโควิด 19 ต้องมีบริษัทจดทะเบียนให้ถูกต้องกับ อย. ไม่ใช่ซื้อในนามโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นโรงพยาบาลเอกชนต้องไปเปิดบริษัท (บางโรงพยาบาลอาจมีบริษัทด้านนี้อยู่แล้ว) เพื่อนำวัคซีนเข้ามา แล้ว อย. ถึงจะให้ใบอนุญาต 

“โดยสามารถติดต่อไปที่บริษัทวัคซีนต้นทางเลย หากติดขัดตรงไหน รัฐก็จะช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อให้มีวัคซีนมากยี่ห้อ และมากที่สุด”

และเพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น หมอเฉลิมจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า “สมมติบริษัทเอจะทำสัญญาจัดซื้อกับบริษัทวัคซีนนั้นๆ องค์การเภสัชกรรม ก็จะออกเอกสารรับรองให้ ก็จะทำให้การดำเนินการจัดซื้อวัคซีนเป็นไปโดยง่ายขึ้นน่ะครับ”

การดำเนินการจัดซื้อวัคซีนทางเลือก ของโรงพยาบาลเอกชน มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ? 

หมอเฉลิมได้ให้ข้อมูลว่า การจัดซื้อวัคซีนทางเลือกของโรงพยาบาลเอกชน ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว

“วัคซีนโควิด 19 จะได้ช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับว่าเอกชนรายนั้นๆ ได้ดีลกับบริษัทผลิตวัคซีนไปนานเท่าไหร่ บางกลุ่มอาจดีลไปเมื่อ 3 - 4 เดือนที่แล้ว มีการทำสัญญาต่างๆ เรียบร้อย ก็อาจจะนำเข้ามาวัคซีนโควิดได้ประมาณต้นเดือนมิถุนายน โดยโมเดอร์นา (ดำเนินการผ่านองค์การเภสัชกรรม) น่าจะได้ช่วงปลายไตรมาสที่ 3 (ก.ค. – ก.ย.) ส่วนซิโนฟาร์ม อาจจะนำเข้าได้เร็วกว่านั้น”

วัคซีนโควิด 19

ราคาค่าฉีดวัคซีนทางเลือก ที่จะให้บริการกับประชาชน

ตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ หากเป็นวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อ จะเป็นการฉีดฟรีให้กับประชาชน แน่ๆ ก็คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับ วัคซีนซิโนแวค และที่มีแนวโน้มว่าจะได้ แต่ยังไม่รู้จะเข้ามาเมื่อใด ก็คือ สปุตนิก วี กับ ไฟเซอร์ แต่จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ยังไม่มีข้อสรุป สุดท้ายแล้วจะเป็นโควต้าของรัฐบาล หรือโรงพยาบาลเอกชน

วัคซีนทางเลือกของเอกชน ก็ได้แก่โมเดอร์นา กับซิโนฟาร์ม ส่วนราคาค่าฉีดวัคซีน ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดที่ชัดเจน แต่มีหลักการคร่าวๆ ดังนี้

“ในคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อตกลง วัคซีนทางเลือก ขอให้เป็นราคาควบคุมในอัตราเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติราคาวัคซีน 1 พันบาท บวกค่าบริการในการฉีด บวกค่าประกัน หากยี่ห้อเดียวกัน ราคาก็จะเท่ากัน”

โควิด 19

วัคซีนรัฐบาล วัคซีนทางเลือก ครอบคลุมวัคซีนทุกประเภท

หมอเฉลิมกล่าวว่า วัคซีนโควิด 19 มี 3 ประเภท ได้แก่ 1. mRNA 2. Viral Vector และ 3.วัคซีนเชื้อตาย ซึ่งวัคซีนที่รัฐบาลจัดซื้อ และกำลังจะจัดซื้อ รวมถึงวัคซีนทางเลือกของเอกชน ก็มีความหลากหลายและครอบคลุมทั้ง 3 ประเภทนี้

“ไฟเซอร์ (รัฐบาลจัดซื้อ) กับโมเดอร์นา (วัคซีนทางเลือก) เป็นวัคซีนประเภท mRNA ส่วนวัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ซิโนแวค (รัฐบาล) ซิโนฟาร์ม (วัคซีนทางเลือก) ที่กำลังโด่งดังอยู่ตรงนี้ ส่วน Viral Vector ก็คือแอสตร้าเซนเนก้า กับสปุตนิก วี วัคซีนทั้งหมดที่จะนำเข้ามา จึงครอบคลุมครบทั้ง 3 ประเภท”

และทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องราวของวัคซีนทางเลือก ที่เกิดจากการปรับยุทธศาสตร์ สู้โควิด 19 ของรัฐบาล เปลี่ยนมารบด้วยวัคซีน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั่วโลกใช้ โดยหลายประเทศได้ดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ

และจากความสำเร็จในควบคุมการระบาดของอิสราเอล อังกฤษ และสหรัฐฯ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงเป็นอย่างมาก ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วัคซีนคือคำตอบ และทางออกจากวิกฤตนี้...ที่แท้จริง  

related