svasdssvasds

สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชู Hospitel แก้วิกฤต ! เคลียร์ข้อสงสัย เตียงล็อก ?

สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชู Hospitel แก้วิกฤต ! เคลียร์ข้อสงสัย เตียงล็อก ?

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชู Hospitel แก้ปัญหาผู้ป่วยโควิดล้นโรงพยาบาล พร้อมเคลียร์ข้อสงสัย โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ล็อกเตียงเพื่อผู้ป่วยบางกลุ่ม ?

จากสถานการณ์โควิด 19 ระบาดระลอกใหม่ ยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลักพันหลายวันติดต่อกัน ทำให้ผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาภายในสถานพยาบาลได้ ตามที่รัฐกำหนดเป็นนโยบายว่า ผู้ติดเชื้อทุกรายต้องอยู่ในโรงพยาบาล

SPRiNG สัมภาษณ์ ศ.ดร.นพ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ถึงแนวทางการดำเนินการในส่วนของสมาคมเอกชน โดยเฉพาะการพยายามจัดหาเตียงหรือสถานที่รองรับ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาของโรงพยาบาลให้ได้มากที่สุด

พร้อมสอบถามถึงข้อสงสัย เกี่ยวกับสาเหตุที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง เตียงไม่พอรองรับผู้ป่วย เพราะเตียงเต็ม หรือเตียงล็อก ? ซึ่ง นพ.เฉลิม ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ ดังต่อไปนี้

โรงพยาบาลเอกชน มีวิธีแบ่งความรับผิดชอบในการรับผู้ป่วยเข้าทำการรักษาอย่างไร ?

อย่างที่เราทราบกัน ผู้ป่วยโควิด 19 จะได้รับการรักษาฟรี ไม่ว่าจะรักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน ซึ่งในกรณีที่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โรงพยาบาลเอกชนก็ได้รับเงินชดเชยจาก สปสช. ที่ได้ตั้งเป็นราคากลางมาตรฐานเอาไว้ โดยมีข้อกำหนดว่าโรงพยาบาลใด ตรวจและพบเชื้อ จะต้องรับผู้ป่วยคนนั้นเข้าทำการรักษา

ซึ่ง นพ.เฉลิม ได้อธิบายว่า ทางสถานพยาบาลได้แบ่งผู้ป่วยโควิด 19 ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มสีเขียว : ผู้ติดเชื้อที่อาการไม่หนัก เชื้อยังไม่ลงปอด

กลุ่มสีเหลือง : เชื้อลงปอด

กลุ่มสีแดง : เชื้อลงปอด อาการหนัก

และจากสถานการณ์ที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสูง จนมีแนวโน้มว่า เตียงในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน อาจไม่เพียงพอ นพ.เฉลิม จึงได้อธิบายถึงการดำเนินงานของโรงพยาบาลเอกชน ในรูปแบบ Hospitel เพื่อแก้ปัญหาการรองรับผู้ป่วย

“ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน ถ้ากลุ่มโรงพยาบาลไหนที่ให้บริการตรวจหาโควิด 19 ก็ได้มีการขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนนั้นๆ ช่วยขยายเป็น Hospitel (โรงแรม + โรงพยาบาล) เพื่อรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่น สมมติมีผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล A โรงพยาบาล A จะต้องไปพัฒนา Hospitel เพื่อรองรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว

“ส่วนในกรณีผู้ป่วยในกลุ่มสีเหลือง และสีแดง เป็นความรับผิดชอบรวมกันของโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน โดยมีกรมการแพทย์เป็นผู้บริหารจัดการ เนื่องจากในการระบาดครั้งที่ 3 ผู้ป่วยมีอาการเชื้อลงปอดเป็นจำนวนมาก”

Hospitel ก็ได้รับเงินชดเชยจาก สปสช. เช่นกัน ดังนั้นทั้งผู้ป่วยที่มีประกันสังคม และไม่มี ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นผู้ป่วยต้องการเข้าพักใน Hospitel โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกินวงเงินที่ สปสช. ชดเชย

เฉลิม หาญพาณิชย์

ปัญหาการตรวจโควิด-19 ในแล็บบางแห่ง ที่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วย

ตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ด้วยข้อกำหนดที่ว่า โรงพยาบาลใดตรวจพบเชื้อ จะต้องรับผู้ป่วยรายนั้นเข้าทำการรักษา ถ้าในกรณีเตียงของโรงพยาบาลเต็ม ก็ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในเครือ แต่มีอีกกรณีหนึ่ง ที่ทำให้การรับผู้ป่วยเข้าทำการรักษามีปัญหาติดขัด นั่นก็คือ

“ในกรณีของคลินิกแล็บต่างๆ ที่ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด 19 แต่ไม่เตียงรองรับ เข้าใจว่า ตอนนี้มีคำสั่งจากกรมสนับสนุนการบริการฯ ขอให้ยุติการตรวจไปแล้ว เพราะมันจะกลายเป็นว่า พอตรวจพบเชื้อ แต่ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย แล้วก็จะกลายเป็นภาระของกลุ่ม (โรงพยาบาล) อื่นไปน่ะครับ”

บุคลากรทางการแพทย์

ปัญหาเตียงในโรงพยาบาลเอกชน ไม่พอรองรับผู้ป่วย เพราะเต็ม หรือล็อก ?

จากกรณีที่ผู้ป่วยโควิด 19 หลายราย หลังตรวจพบเชื้อแล้ว ยังไม่สามารถเข้าทำการรักษาได้ ต้องรอการประสานหาเตียง เนื่องจากเตียงในโรงพยาบาลเอกชน มีจำนวนไม่เพียงพอ  

แต่ก็เกิดข้อสงสัยตามมาว่า เตียงไม่พอ เพราะจำนวนผู้ป่วยมาก  ? หรือเตียงไม่พอ เพราะมีการล็อกเตียง เพื่อเตรียมให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่มีประกัน หรือกลุ่มชาวต่างชาติ ? SPRiNG สอบถามถึงประเด็นนี้แบบตรงๆ โดยทาง นพ.เฉลิมได้ชี้แจงว่า

“ทางสมาคมฯ ได้ขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชน เช่น ตรวจที่โรงพยาบาลใด โรงพยาบาลนั้นก็ต้องรับผู้ป่วยเข้าทำการรักษา อันนี้คือกรอบใหญ่ ไมใช่ตรวจหาเชื้ออย่างเดียว พอผลตรวจออกมาบวก แล้วไม่รับรักษา อันนั้นคือไม่ได้ และอาจจะมีความผิดด้วยนะครับ

“(ในการแก้ปัญหาการรองรับผู้ป่วย) โรงพยาบาลเอกชนพยายามจะเปิด Hospitel ขึ้นมา แต่เราต้องยอมรับว่า อัตราการติดเชื้อมันสูงมาก แล้วการเปิด Hospitel จะต้องทำงานร่วมกับทางโรงแรมเป็นหลัก บางที่ก็อาจดำเนินการช้า คนไข้ก็คาอยู่ในระบบ

และเมื่อ SPRiNG ถามย้ำ “คุณหมอยืนยันได้หรือไม่ครับ ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนแห่งใด ล็อกเตียง ให้กลุ่มผู้มีประกัน กับกลุ่มชาวต่างชาติ ?”

นพ.เฉลิม กล่าวว่า “จริงๆ เราขอร้องไปแล้วครับ เราได้ยินข่าวพวกนี้เหมือนกัน แต่เนื่องจากว่าตอนนี้เนี่ย แม้กระทั่ง Alternative Hospital Quarantine เราได้หยุดไว้ก่อน  เพื่อเอาทรัพยากรมาช่วยคนไทยทั้งหมดครับ”

แพทย์

แนวทางให้ผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก กักตัวเองที่บ้าน มีความเป็นไปได้หรือไม่ ในเร็วๆ นี้

แม้กฎหายกำหนดว่า ผู้ป่วยโควิด 19 ทุกคน ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่เมื่อเกิดกรณีเตียงเต็ม ผู้ป่วยหลายรายที่อาการไม่หนัก ก็ต้องรอการประสานหาเตียง และจำเป็นต้องกักตัวเองอยู่ที่พักไปพลางๆ ก่อน

และหากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในอัตราเฉลี่ยวันละกว่าพัน อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้ แนวทางการการกักตัวอยู่บ้าน สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่หนัก จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่ง นพ.เฉลิม ได้ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ดังนี้

“(ตอนนี้สถานพยาบาล) ล้นหมดน่ะครับ ต่างคนต่างช่วยกัน เพื่อเอาคนที่ค้างในระบบออกมา แล้วเปิด Hospitel ให้มาก เคลียร์เอาผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวไปสู่ Hospitel เพื่อเตรียมโรงพยาบาลไว้รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองกับสีแดง เพราะอาทิตย์ที่แล้ว เราพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่เชื้อลงปอดเยอะมากครับ

“โดยส่วนตัว เชื่อว่าโรงพยาบาลล้นทุกแห่ง เพราะครั้งนี้ระบาดกันวันเป็นพัน แล้วต้องอยู่ในโรงพยาบาล 14 วัน ทำให้ต้องเพิ่มเตียงขึ้นอีก 40 % ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ผมเชื่อว่า กำลังรีบทำ Hospitel ขึ้นมา เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ทางโรงพยาบาลตรวจแล้วพบเชื้อ

“ส่วนข้อเสนอการกักตัวที่บ้าน ได้มีการร่างคร่าวๆ ขึ้นมา ในกรณีที่ไม่สามารถรับเข้ามาอยู่ในระบบการดูแลของโรงพยาบาลได้ทั้งหมด เรียกว่า  Home Isolation เหมือนในต่างประเทศ แต่ยังไม่ประกาศใช้นะครับ แต่มีร่างขึ้นมาหมดแล้ว แต่ยังไม่ประกาศใช้ เพราะไม่แน่ใจว่า แต่ละ Home Isolation จะกลายเป็น Super Spreader หรือไม่

“แต่ถ้ามันล้นกันจริงๆ ภาระที่ 3 คือโรงพยาบาลสนามครับ จากโรงพยาบาลสนาม ถ้ามันยังรองรับไม่ได้ มันจะกลายเป็น Home Isolation แต่ตอนนี้ยังไม่ประกาศใช้ครับ”

สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชู Hospitel แก้วิกฤต ! เคลียร์ข้อสงสัย เตียงล็อก ?

ภาพโดย mohamed Hassan จาก Pixabay 

ภาพโดย cromaconceptovisual จาก Pixabay 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดหลักเกณฑ์! สธ.ปรับแนวทาง ผู้ป่วยโควิดไม่รุนแรง กักตัวที่บ้านได้

อะไรคือ‘Hospitel’และทำไมรัฐถึงเร่งหาโรงแรม รองรับผู้ป่วยโควิดระลอกใหม่

related