ข่าวเก่าอย่าแชร์ “ศาลยกฟ้องจำเลยไม่ใส่แมสก์ เผยเป็นเหตุการณ์ ปี 63 ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าฯศรีสะเกษ ไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้าน แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับปรับเงินจำเลย เพราะผู้ว่าฯเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
กรณีมีการแชร์ในโลกออนไลน์ ระบุศาลจังหวัดกันทรลักษ์พิพากษายกฟ้องผู้ต้องหา ฐานความผิดกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไปโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถานหรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ใด ๆ เพราะคำสั่งผู้ว่าฯไม่ใช่กฎหมายนั้น
แหล่งข่าวระบุว่า ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวเก่า เกิดขึ้นปี 2563 โดยวันที่ 15 เมษายน 2563 ศาลจังหวัดกันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ พิพากษายกฟ้องจำเลย ฐานความผิดกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไปโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถานหรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ใด ๆ
โดยศาลเห็นว่า ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6) กำหนดแต่เพียงว่า ห้ามมิให้ผู้กระทำการใด ๆ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป โดยไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งกำหนดการกระทำการเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว
ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติให้บุคคลจะต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายนี้ใช้ในการกระทำความผิดและกำหนดโทษไว้ เมื่อการไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากเคหสถานไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามและกำหนดโทษไว้ ประกอบกับลำพังเพียงแต่การไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากเคหสถาน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นประกอบ ไม่น่าจะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์
ในปีเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษากลับสั่งปรับจำเลย เนื่องจากมีความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค โดยวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 9 ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด กำกับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ กำนดให้เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ผู้ร่วมงาน ผู้ร่วมกิจกรรม ลูกจ้าง ผู้ใช้บริการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง (6) ห้ามผู้ใดกระทำการหรือกระทำการใด ๆ อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป
ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน (ขณะเกิดเหตุเมื่อปี 2563) มีการแพร่ระบาดของโรค โควิด 19 หลายประเทศ รวมถึงไทยในหลายจังหวัด รวมถึง จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตราย มีความรุนแรงสูง และสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ติดเชื้อและถึงแก่ความตายจำนวนมาก
ต่อมา ผู้ว่าฯศรีสะเกษออกคำสั่งที่ 1485/2563 เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ โควิด 19 ให้ประชาชนในพื้นที่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถานหรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ใด ๆ ดังนั้น ผู้ว่าฯจึงเป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และตามข้อกำหนดในมาตรา 9 ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
โดยจำเลยทั้งสองออกนอกเคหสถาน โดยขับรถจักรยานยนต์ไปตาม ถ.สายกันทรลักษณ์-กันทรารมย์ โดยไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถาน จึงเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสอง มีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), 51 ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งสองอายุ 18 ปีเศษ และเป็นนักศึกษา ยังอยู่ในวัยเล่าเรียน สมควรลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยทั้ง 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30