บทเรียนรับมือโควิด19 เวียดนามถือเป็นอีกหนึ่งประเทศในอาเซียนที่ได้รับคำชม เพราะมีประชากรเกือบถึง 100 ล้านคน แต่ ณ ปัจจุบันยังคุมโควิด19ได้ดี มีนโยบายที่ชัดเจนตรงเป้า และที่สำคัญพวกเขาพัฒนาวัคซีนผ่านขั้นตอนที่ 2 แล้ว และแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ชัดเจน
ประเทศ เวียดนามได้รับคำชมเชยอย่างกว้างขวางที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19ได้อย่างรวดเร็ว ผ่านการตรวจเชื้อประชาชนจำนวนมากแบบมีเป้าหมายที่ชัดเจน และโครงการกักกันโรคที่เข้มงวดและรวมศูนย์คล้ายๆการเป็น Single Command ซึ่งทำให้เวียดนามมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 2,865 คน เสียชีวิต 35 คน (อัพเดทวันที่ 28 เมษายน2021 ) จากประชากรทั้งหมด 98 ล้านคน... เป็นสถิติดีที่สุดชาติหนึ่งในทวีปเอเชีย
สิ่งที่เวียดนามทำและจับตาแทบไม่กระพริบ นั่นคือระวังผู้ติดเชื้อโควิดจากเพื่อนบ้าน หลุดรอดเข้าประเทศ เพราะพวกเขาไม่อยากซ้ำรอยในหลายๆประเทศ ที่เจอการระบาดอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม แถลงเมื่อวันพุธที่ 28 เมษายน เตือนประชาชนว่า การแพร่ระบาดของโควิด19 รอบใหม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ และให้เฝ้าระวังขั้นสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างวันหยุดที่กำลังจะมาถึง และขอให้ประชาชนมีความพร้อมเพรียงและแน่วแน่ในการป้องกันโควิด19
กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม ยังเผยอีกว่า จังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับกัมพูชา จำเป็นต้องเพิ่มการเฝ้าระวังการเดินทางข้ามชายแดนเข้าเวียดนามอย่างผิดกฎหมาย เพราะสถานการณ์ในกัมพูชา มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จากประมาณ 500 คน เป็น 11,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 82 คน
ขณะที่สปป.ลาวที่มีพรมแดนติดกับเวียดนามเช่นกัน ก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวนับแต่วันเสาร์ เป็นมากกว่า 600 คน
ส่วนที่ไทยนั้น ที่แม้จะไม่มีพรมแดนติดกับเวียดนาม แต่ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในเดือนเมษายนเดือนเดียว เป็นเกือบ 62,000 คน และตัวเลขเสียชีวิต เกือบแตะเลข 200 คนแล้ว ทำให้เวียดนามระวัง ยกการ์ดสูงขั้นสูงสุด เพราะไม่อยากเห็นตัวเลขแบบไทย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เวียดนาม พยายามทำภายใต้สถานการณ์โควิด19ระบาด นั่นก็คือการพัฒนาวัคซีนของตัวเอง ซึ่ง ณ เข็มนาฬิกาเดินไป ห้วงเวลานี้ วัคซีน "นาโนโคแวกซ์" (Nanocovax) วัคซีนต้านโควิด19 ตัวแรกที่พัฒนาในประเทศเวียดนาม เดินทางผ่านขั้นตอนที่ 2 แล้ว และคาดว่า กำลังทดลองในมนุษย์ ในสเตทที่ 3 ในช่วงวันที่ 5 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
โดยวัคซีน "นาโนโคแวกซ์" ของเวียดนาม คาดว่าจะพร้อมใช้งานในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้และจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการกับประชาชนเวียดนามในปี 2022
ทั้งนี้ "นาโนโคแวกซ์" เป็นวัคซีนที่พัฒนาไปได้ไกลที่สุด แต่เวียดนามก็ยังมี วัคซีนอีกสองตัวคือ Covivax เพิ่งเสร็จสิ้นการทดลองระยะที่หนึ่งในอาสาสมัคร ขณะที่วัคซีนของบริษัท Vabiotech จะเริ่มทำการทดลองในอาสาสมัครในมนุษย์ในเดือนมิถุนายนนี้
แต่ถึงกระนั้น ในช่วงเวลาที่เวียดนามทดลองวัคซีนของตัวเอง แต่รัฐบาลก็เดินแผนคู่ขนานไปพร้อมๆกัน โดยเร่งฉีดวัคซีนตัวอื่นๆที่จัดหามาใหกับประชาชน โดยตอนนี้ ฉีดวัคซีนไปเกิน 3 แสนโดสแล้ว หลักๆมาจากแอสตร้าเซนเนก้า และจะเร่งยอดฉีดให้ถึง 9 แสนโดส ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเวียดนามซึ่งเป็นหนึ่งในพลังหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ทรุดตัวลงอย่างหนัก หลังเกิดวิกฤตโควิด19 ระบาดทั่วโลก ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องปิดพรมแดน ระงับการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินมาเยือนเวียดนามลดลงเหลือเพียง 3.7 ล้านคนในปี 2563 จากที่เคยทำสถิติสูงถึง 18 ล้านคนในปี 2019
แต่เวียดนามก็พยายาม หานโยบายแก้สถานการณ์ อาทิ ในบางจังหวัด อาทิ จังหวัด กว๋างนัม (Quang Nam) เมืองชายฝั่งในภาคกลางของเวียดนาม วางแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มีหลักฐานแสดงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 หรือ วัคซีนพาสปอร์ต พร้อมเอกสารรับรองผลการตรวจโควิดเป็นลบ เข้าพักในรีสอร์ทที่เมืองดีซวิน (Duy Xuyen) และ เมืองนุยทัญ (Nui Thanh) เป็นเวลา 5 ถึง 10 วัน โดยไม่ต้องกักตัว เพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวโดยเร็วที่สุด
หากมองเรื่องตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อโควิด 19 , ข้อมูล ณ 28 เมษายน ไทยรั้งอันดับ 103 ของโลก โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 61,699 ราย ผู้ติดเชื้อรายวัน เคยมีสูงสุดถึง 2,839 คน ผู้เสียชีวิต 178 คน
ขณะที่ปัจจุบันเวียดนาม ตัวเลขดีกว่าไทย โดยพวกเขารั้งอันดับ 177 มีผู้ติดเชื้อรายวันยังไม่ขึ้นถึง 3,000 คน ตัวเลขอยู่ที่ 2,857 คน และติดเชื้อรายวันก็ยังอยู่ใน แค่ 8 คน ส่วนผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 35 คนเท่านั้น