ธนาคารแห่งประเทศไทย จับมือ ศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี และธนาคารกว่า 21 แห่ง นำร่องช่วยประชาชนแก้หนี้ใน มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ช่วงวันที่ 14 ก.พ. - 14 เม.ย. วาง 3 แนวทางผ่อนปรน ชำระหนี้ด้วยดอกเบี้ยต่ำ ตั้งเป้าเคลีย 3 แสนคดีสำเร็จ
ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี พร้อมสถาบันการเงิน 21 แห่ง นำร่องช่วยประชาชนแก้หนี้ใน มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ช่วงวันที่ 14 ก.พ. - 14 เม.ย. วาง 3 แนวทางผ่อนปรน ชำระหนี้ด้วยดอกเบี้ยต่ำ ตั้งเป้าเคลีย 3 แสนคดีสำเร็จโดยเปิดเผยว่า คลีนิกแก้หนี้ มีลูกหนี้เข้าร่วมแล้ว 1.1 หมื่นรายรวมมุลค่าหนี้อยู่ที่ราว 3.5 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีการใช้ ทางด่วนแก้หนี้ อีกราว 1.3 แสนรายซึ่งสามารถช่วยเหลือได้ราว 60%
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ล่าสุด ธปท.ร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 21 แห่ง ช่วยให้เจ้าหนี้และลูกหนี้หาทางออกในกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐาน โดยจัดงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์-14 เมษายน 2564 ซึ่งประชาชนที่มีหนี้บัตรและสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นหนี้ดีที่ยังผ่อนชำระปกติแต่เริ่มขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือหนี้เอ็นพีแอล ทั้งที่ยังไม่มีการฟ้อง อยู่ระหว่างฟ้อง หรือที่มีคำพิพากษาแล้ว สามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมในครั้งนี้เพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาที่มีกับเจ้าหนี้ได้ และเพื่อป้องกันโควิด-19 จึงจัดการไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์ (Online mediation)
ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ลูกหนี้จะได้รับในงานนี้จะมีความผ่อนปรนค่อนข้างมาก โดยมี 3 แนวทางให้เลือก คือ 1.จ่ายเฉพาะเงิน ดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อทำเสร็จตามสัญญา โดยผ่อนจ่ายเป็นระยะเวลา 3 ปี 2.จ่ายเฉพาะเงินต้น โดยผ่อนจ่ายเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยในปีที่ 1-3 จะต้องชำระเงินต้นให้ได้ 80% ของเงินต้น และปีที่ 4-5 ชำระอีก 20% และ 3.ผ่อนชำระตามแนวทางคลินิกแก้หนี้ ระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 4-7% และดอกเบี้ยค้างยกให้เมื่อทำเสร็จตามสัญญา
ส่วนกรณีลูกหนี้สถานะดี แต่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว โดยค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน สามารถแปลงสินเชื่อระยะสั้น เป็น สินเชื่อระยะยาว (เทอมโลน) สูงสุด 48 งวด อัตราดอกเบี้ย 12% และสามารถคงวงเงินในบัตรเครดิตได้ และไม่มีผลต่อประวัติการชำระหนี้ผ่านข้อมูลเครดิตบูโร
สำหรับเป้าหมายโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล” จากข้อมูลสถิติการฟ้องร้อง พบว่า มีจำนวนคดี 2 ล้านคดี โดยเป็นคดีแพ่งและพาณิชย์จำนวน 1.3 ล้านคดี ซึ่งในจำนวนคดีดังกล่าวใน 5 อันดับแรก จะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต กู้ยืม กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เช่าซื้อรถ ซึ่งธปท.ตั้งเป้าปี 2564 ต้องการไกล่เกลี่ยคดีให้ได้ 1 ใน 4 ของคดีแพ่งที่มีอยู่ 1.3 ล้านคดี หรือคิดเป็นการช่วยเหลือไกล่เกลี่ยราว 3 แสนคดี
“โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้ และภาพรวมต่อระบบ โดยลูกหนี้ไม่ถูกฟ้องร้อง และเจ้าหนี้ได้รับหนี้คืน และจำนวนคดีในชั้นศาลจะลดลง รวมถึงเอ็นพีแอลน่าจะปรับลดลงด้วย ซึ่งจากการวิจัยจะช่วยลดต้นทุนของประชาชน สถาบันการเงิน และระบบการเงินโดยรวมลง 25% และลดต้นทุนในการดำเนินการได้ถึง 82% และลดการเสียโอกาสทางธุรกิจเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถกรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี ธปท. และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วม และจะได้รับการติดต่อกลับภายใน 1 อาทิตย์”
นางธัญญนิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาวิกฤตโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนในวงกว้าง ธปท. ได้มีมาตรการเพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่ม “ทางด่วนแก้หนี้” เพื่อเป็นช่องทางเสริมสำหรับประชาชนและธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อน โดยที่ผ่านมามีประชาชนเข้ามาใช้ช่องทางดังกล่าวแล้วจำนวน 1.3 แสนราย และพบว่าอัตราการให้ความช่วยเหลือลูกค้าสำเร็จประมาณ 60%
นอกจากนี้ ยังมีช่องทาง “คลินิกแก้หนี้” เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระและเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) กับผู้ให้บริการเพียงรายเดียวหรือหลายราย รวมทั้งหนี้ที่อยู่ในกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษาแล้ว ซึ่งมีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับหลักเกณฑ์เพื่อช่วยลูกหนี้ได้ดีขึ้น โดยลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอลก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จากเดิมกำหนดวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทั้งนี้ ปัจจุบันมีลูกหนี้ที่เข้ากระบวนการลงนามแล้วกว่า 1.1 หมื่นราย มูลหนี้รวมกว่า 3,500 ล้านบาท
“ธปท.จะช่วยรับเรื่องและเป็นตัวกลางในการส่งข้อมูล ติดต่อหรือเจรจากับผู้ให้บริการทางการเงินในกรณีจำเป็น เราเชื่อว่าทั้ง 2 ช่องทาง ทั้งทางด่วนแก้หนี้ และคลินิกแก้หนี้ จะเป็นช่องทางที่จะช่วยเจรจาลูกหนี้กับเจ้าในการปรับโครงสร้างหนี้ และในอนาคตจะช่วยลดการเกิดเป็นหนี้เอ็นพีแอลได้”