โลกหมุนเร็วขึ้นแล้วจริงๆ ! ปีที่แล้วโลกหมุนเร็วขึ้น แต่ปีนี้คาดว่าจะหมุนเร็วยิ่งกว่า
ปี 2563 นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับโลกใบนี้แล้ว ยังเกิดปรากฏการณ์โลกหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นสูงสุดในรอบครึ่งศตวรรษ โดยสปริงขอสรุปปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำนักงานบริการระหว่างประเทศว่าด้วยระบบอ้างอิงและการหมุนของโลก (IERS) ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้เปิดเผยว่า ปี 2563 เวลาทางดาราศาสตร์ของโลกสั้นลง นับตั้งแต่ทศวรรษ 60 (ปี 2503 – 2512) ซึ่งหมายความว่า โลกของเราหมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
ซึ่ง IERS ได้ระบุว่า ในปี 2563 มีถึง 28 วัน ที่โลกหมุนรอบตัวเองเร็วกว่าค่าเวลามาตรฐาน โดยวันที่โลกหมุนรอบตัวเองเร็วที่สุดคือ 19 กรกฎาคม
โดยเฉลี่ยแล้ว โลกจะหมุนรอบตัวเองใช้เวลาเฉลี่ย 86,400 วินาที แต่ในวันดังกล่าว โลกหมุนรอบตัวเองเร็วกว่าเวลามาตรฐาน 1.4602 มิลลิวินาที (1 มิลลิวินาที = 0.001 วินาที)
เพจ Environman ได้ให้ข้อมูลว่า “นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์ไม่ได้กังวลถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว เพราะทราบดีว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการหมุนของโลกที่แปรปรวน อาทิ ความกดของชั้นบรรยากาศ กระแสน้ำในมหาสมุทร ลม การเคลื่อนไหวของแกนโลก การดึงดูดของดวงจันทร์ ระดับหิมะตก และการกร่อนของภูเขา ฯลฯ
“แต่พวกเขาก็สงสัยว่า ภาวะโลกร้อน อาจมีส่วนทำให้โลกหมุนเร็วขึ้น เนื่องจากหมวกน้ำแข็ง และน้ำแข็งที่สูงก็เริ่มหายไปมากขึ้น”
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลผ่านเพจเฟซบุ๊ก “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ว่า การที่โลกหมุนเร็วขึ้นหรือช้าลงเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวล หรือส่งผลกระทบกับคนทั่วไป
แต่อาจจะส่งผลกระทบกับบางสายงาน ที่ต้องใช้เวลาที่แม่นยำสูง เช่น ดาราศาสตร์ การนำทาง การเดินทางในอวกาศ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่ความคลาดเคลื่อนแค่วินาทีเดียว ก็มีผลกระทบสูง
ก่อนหน้านั้น โลกมีแนวโน้มหมุนช้าลงเรื่อยๆ ทำให้มีการทดวินาทีเพิ่มแล้วหลายครั้ง ให้กับเวลามาตรฐานโลก เพื่อที่อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเวลา อย่างเครื่องนำทางด้วยจีพีเอส (GPS) จะได้ทำงานถูกต้อง
แต่จากการโลกหมุนเร็วขึ้นในปี 2563 จึงมีการเสนอให้ทดวินาทีหักลบ (negative leap second) เพราะมีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2564 นี้ โลกจะหมุนรอบเร็วขึ้นไปอีก โดยเฉลี่ยอาจมากกว่าปกติ วันละ 0.05 มิลลิวินาที ทำลายสถิติของปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ยังไม่มีประกาศจาก IERS ว่าจะดำเนินการอย่างใด
อ้างอิงจาก
เฟซบุ๊ก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
เฟซบุ๊ก : Environman
www.bbc.com/thai
www.businessinsider.com
www.timeanddate.com
ภาพโดย Miroslava Chrienova จาก Pixabay
ภาพโดย PIRO4D จาก Pixabay
ภาพโดย TeeFarm จาก Pixabay