อดีตผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ เขียนบทความ มีเรือดำน้ำไปทำไม ยกไทยเสียเปรียบด้านภูมิศาสตร์ ในอดีตเคยถูกปิดอ่าวไทยถึง 3 ครั้ง แต่การจะมีต้องตอบประชาชนถึงความจำเป็น ความคุ้มค่า เพื่อประกันความเสี่ยงอย่างครบถ้วน
เพจเฟซบุ๊ก "กองทัพเรือ โดยโฆษกกองทัพเรือ" เผยแพร่บทความของ พลเรือเอก ภาณุ บุญยวิโรจน์ อดีตผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ ซึ่งมีใจความว่า อ่านให้จบ จะรู้ว่ามีเรือดำน้ำไปทำไม....แม้ในบริบทข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์
โดยสรุปคือ ประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ อ่าวไทยเป็นอ่าวปิดลึกเข้ามาในคาบสมุทร ในอดีตก็เคยถูกปิดอ่าวมาแล้ว 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ฮอร์ลันดาเอาเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยามาปิดทางออกสู่ทะเลของไทย คงจำเรื่อง “บุพเพสันนิวาศ” ได้นะครับ
ครั้งที่ 2 เหตุการณ์ ร.ศ.112 สมัยรัชการที่ 5 ที่ฝรั่งเศสมาปิดปากอ่าวไทย จนต้องเสียดินแดนไปเกือบเท่ากับขนาดประเทศไทยในปัจจุบัน
ครั้งที่ 3 ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรือดำน้ำสหรัฐฯ มาจมเรือขนส่งน้ำมันชื่อ เรือหลวงสมุย บริเวณปากอ่าวไทย ทหารเรือสละชีพไป 36 นาย มีผลทำให้ไม่สามารถขนส่งน้ำมันจากทางทะเลเข้าสู่ประเทศได้ กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจแทบจะหยุดชะงัก ประชาชนก็เดือดร้อนกันทั่ว
ทั้ง 3 เหตุการณ์น่าจะทำให้ทุกคนตระหนักแล้วว่า จุดอ่อนด้านภูมิศาสตร์ของไทย ผู้รุกรานสามารถใช้ประโยชน์สร้างความเสียหายให้กับประเทศได้มากมายมหาศาลอย่างไร
ส่วนทางแก้ไข ต้องดูว่าต่างประเทศทำกันอย่างไร โดยขอเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมัน จะทำให้เห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น กล่าวคือ เยอรมันก็เหมือนกับประเทศไทยกลับหัว มีทะเล 2 ฝั่ง แต่ถูกคั่นด้วยประเทศที่ 3 ท่าเรือหลักคือ Hamburg และ Wilhelmhaven อยู่ในทะเลบอลติกและทะเลเหนือ ซึ่งเส้นทางการเดินเรือจะต้องผ่านหลายประเทศ แม้จะมีคลองคีล แต่ในยามสงครามก็ถูกปิดกั้นโดยง่ายจากทุ่นระเบิดวางโดยข้าศึก จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการป้องปรามต่อประเทศที่จะมาคุกคามเส้นทางเดินเรือ และขนส่งพลังงานเข้าสู่ประเทศ ด้วยการคงประจำการเรือดำน้ำพลังงานไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุดชั้น 212A จำนวน 6 ลำ แม้จะยกเลิก Warsaw Pack ไม่มีภัยคุกคามที่เด่นชัดแล้วก็ตาม และที่น่าสังเกตุคือ ทะเลบอลติกและทะเลเหนือ มีความลึกน้ำเฉลี่ยใกล้เคียงกับอ่าวไทย แต่กองทัพเรือเยอรมันกลับสร้างเรือดำน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 สาเหตุหนึ่งคือเรือดำน้ำเป็นอาวุธทางรุก ยากต่อการตรวจพบ และให้ปฏิบัติการได้นานขึ้น สามารถเล็ดรอดเข้าไปทำลายกำลังหลักของฝ่ายตรงข้ามได้ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่อาณาเขตทางทะเลของตน พื้นที่ปฏิบัติการหลักจึงอยู่ภายนอก ซึ่งจะยิ่งสร้างอำนาจการป้องปรามให้สูงยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “Nowhere to be seen but present everywhere” แปลเป็นไทยง่ายๆว่า “มองไม่เห็นตัว แต่สร้างความสะพรึงกลัวไปทั่ว” ด้วยเหตุนี้ความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ อาจไม่ได้มาจากภัยคุกคามเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการป้องปราม เพื่อลดข้อเสียเปรียบด้านภูมิศาสตร์ ทำให้ผู้รุกรานที่อาศัยเงื่อนไขความขัดแย้งที่มีอยู่ ต้องยับยั้งชั่งใจว่าอาจถูกกระทำก่อน หรือถูกโจมตีตลบหลังจากภายนอก ทำให้ผลที่ได้รับไม่คุ้มกับความสูญเสีย จึงเลิกล้มความตั้งใจที่จะรุกรานในที่สุด
การที่จะตอบว่า “มีเรือดำน้ำไปทำไม” นอกจากการอุดช่องโหว่ด้านข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆเกี่ยวข้องอีกมากที่จะแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่า เช่น ประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การรับประกันเสรีภาพในการประกอบกิจกรรมเศรษฐกิจทางทะเล และการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนกับระบบเศรษฐกิจทางทะเลของไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังต้องตอบคำถามต่อสาธารณชนอีกจำนวนมาก อาทิ อะไรคือความเสี่ยงที่ต้องจัดหาเรือดำน้ำในสภาวะการณ์เช่นนี้ ทำไมไม่ลงทุนกับการปราบเรือดำน้ำจะดีกว่าหรือไม่ , ความคิดจัดหาเรือดำน้ำถือว่าล้าสมัยหรือไม่เพราะในอนาคตจะมีโดรนใต้น้ำล่าทำลายเรือดำน้ำแล้ว , อ่าวไทยตื้น เรือประมงและอุปกรณ์ก็เยอะไม่เป็นอุปสรรคต่อปฏิบัติการของเรือดำน้ำหรือ , เมื่อซื้อมาแล้วมีความสามารถจะดูแลรักษาให้พร้อมใช้ตลอดอายุการใช้งานหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ตนเห็นว่าจำเป็นต้องมีคำตอบให้ประชาชนผู้เสียภาษีอากรได้ทราบถึงความจำเป็น ความคุ้มค่า และความทันใช้งานเพื่อประกันความเสี่ยงอย่างครบถ้วน
ที่มา :
https://1.bp.blogspot.com/-JOSfJ4Fwcyo/X1Age3942XI/AAAAAAAAAAY/jAPzVm9XJb0TkIfQdHAbXhY2zRv7RhF1ACLcBGAsYHQ/s361/Thailand+map.gif