svasdssvasds

ม็อบเยาวชนปลดแอก ในมุมมอง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล "รัฐบาลต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่"

ม็อบเยาวชนปลดแอก ในมุมมอง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล "รัฐบาลต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่"

สปริงนิวส์สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อดีตผู้นำนักศึกษา ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ถึงปรากฏการณ์ม็อบเยาวชนปลดแอก การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจารย์มองว่า สิ่งที่นักศึกษาเรียกร้อง มีเหตุผล และรัฐบาลก็ต้องรับฟัง

ปรากฏการณ์ม็อบคนรุ่นใหม่ ที่กระจายไปในหลายพื้นที่ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ กำลังบอกอะไรกับสังคมไทย ?

สปริงนิวส์สัมภาษณ์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำฯ คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งในฐานะที่เขาเคยเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ทำให้สิ่งที่เขาวิเคราะห์และเสนอแนะ น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะสิ่งที่บอกเล่า เกิดจากการเรียนรู้ด้วยชีวิต สั่งสมเป็นประสบการณ์ หล่อหลอมมาจากการต่อสู้ ความเจ็บปวด ความคาดหวัง ฯลฯ และได้ถ่ายทอดออกมา ผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

สปริงนิวส์ : จากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่ตอนนี้มีกระจายไปหลายพื้นที่ และหลายสถาบันการศึกษา หากให้วิเคราะห์ คุณคิดว่า มีจุดเริ่มต้นจากอะไร ?

ผศ.ดร.ปริญญา : ผมคิดว่านี่คือภาคต่อของแฟลชม็อบ ที่เป็นการแสดงออกของนักศึกษาในช่วงก่อนการแพร่ระบาด (โควิด-19) หลังจากมีการยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่งไป แต่ผมไม่ได้หมายความว่า คนที่ออกมาตอนแฟลชม็อบหรือตอนนี้ จะเลือกพรรคการเมืองพรรคนั้นกันทุกคนนะครับ

แต่ถ้ามองย้อนไปที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ก็เริ่มตั้งแต่ปี 2549 นักศึกษา ถ้าตอนนี้อยู่ปี 1 เขาก็เห็นความขัดแย้งตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ถ้าอยู่ปี 2 เห็นความขัดแย้งมาตั้งแต่ 5 ขวบ อยู่ปี 3 ปี 4 ก็ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ 7 ขวบ แล้วเห็นแบบนี้มาตลอด 14 ปี

พอมีการเลือกตั้ง จึงเกิดความคาดหวังว่า จากนี้ไปบ้านเมืองจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่ปรากฏว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาให้ใน 5 ปีแรกหลังเลือกตั้ง จะมี ส.ว.ที่ คสช. แต่งตั้ง มาเป็นคนเลือกนายกฯ...

สิ่งที่รอคอยมานาน เลือกตั้งครั้งแรก ประเทศจะกลับมาเป็นปกติ ปัญหาทั้งหลายตั้งแต่เขาอายุ 4 - 5 ขวบ จนบัดนี้เข้ามหาวิทยาลัย มันจะผ่านไป แต่ปรากฏว่า มันไม่ผ่านไป

ดังนั้นผู้ใหญ่ก็ต้องมองนิสิตนักศึกษาแบบเข้าใจว่า เขาย่อมต้องมีความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ พอมีเลือกตั้งเขาอาจจะเลือกในแบบซึ่งแตกต่างไปจากผู้ใหญ่ เพราะเขาอยากเห็นสิ่งที่มันแตกต่างออกไป

แต่ก็ดันเกิดการยุบพรรคพรรคนี้ ซึ่งในทางกฎหมายผมมองว่าไม่น่าจะถึงขั้นนั้น ในทางการเมือง ยิ่งไม่น่า ให้เขาสู้ในสภาดีกว่า ยุบแล้วเกิดอะไรขึ้นล่ะ มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของแฟลชม็อบ แล้วตอนนี้ก็คือภาคต่อ

ผมจึงอยากให้รัฐบาลมองการแสดงออกอย่างเข้าใจ อย่าไปกีดกัน ขัดขวาง จับกุม เพราะมันจะทำให้ปัญหาลุกลามหนักกว่าเดิม

ผมคิดว่าผู้ใหญ่โดยเฉพาะท่านนายกฯ ต้องรับฟังแล้วต้องรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกแบบนี้ เรื่องนี้ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะการชุมนุมต่างๆ มันมีที่มาจากความคับข้องใจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านมีฐานะที่ใกล้เคียงหรือเทียบเคียงได้กับสิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือว่า คุณทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นมาก่อน คือเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง

ในสมัยคุณทักษิณ ก็มีคนเอาทักษิณ ไม่เอาทักษิณ มีคนชอบคุณยิ่งลักษณ์ ไม่ชอบคุณยิ่งลักษณ์

แล้วตอนช่วงต้นปีที่มีวิ่งไล่ลุง ก็มีเดินเชียร์ลุง ถ้ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาให้ดี เรื่องของม็อบขับไล่นายกฯ ก็จะยิ่งลุกลาม

และผมเรียนว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ อย่าไปกีดกันเขา อย่าไปห้ามไม่ให้เขาแสดงออก ถ้านักศึกษาไปนอกมหาวิทยาลัย ก็ยิ่งไม่ปลอดภัย ให้พวกเขาแสดงออกในรั้วมหาวิทยาลัยดีแล้วครับ

ม็อบเยาวชนปลดแอก ในมุมมอง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล \"รัฐบาลต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่\"

สปริงนิวส์ : คุณมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง กับข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก  3 ข้อ คือ 1. ยุบสภา 2. อย่าคุกคามประชาชน และ 3 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ?

ผศ.ดร.ปริญญา : ผมว่าข้อที่รัฐบาลทำได้ง่ายที่สุดก็คือ ข้อที่เขารู้สึกว่าถูกคุกคาม คือที่ผ่านมา อาจจะมีบางส่วนที่ไม่ใช่การคุกคาม แต่เป็นการไปติดตามเพื่อหาข่าว ทั้งตำรวจ สันติบาล หน่วยข่าวกรองของทหาร

นักศึกษาเมื่อรู้ว่าถูกตาม ทั้งที่เจตนาอาจเป็นไปเพื่อติดตามหาข่าว แต่นักศึกษารู้สึกว่า นี่เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพ หรืออาจไปคุกคามจริงๆ ก็เป็นไปได้ ใช่ไหมครับ

ดังนั้นผมคิดว่าเรื่องแรกรัฐบาลต้องทำให้ความรู้สึกแบบนี้หมดไป แล้วก็มองการชุมนุมเป็นการแสดงออก ชุมนุมในขอบเขตรัฐธรรมนูญ คือไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เป็นการแสดงออกตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ และตามระบอบประชาธิปไตย ก็ส่งเสริมไปเลย แทนที่จะไปกีดกันปิดกั้น

แล้วตำรวจไม่ควรไปปะทะกับนักศึกษา คือเข้าใจว่าตำรวจก็ถูกใช้ ถูกสั่ง แต่ว่าวิธีการอย่างนี้จะทำให้สถานการณ์แย่ลง

เรื่องที่สอง ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญมีมูลเหตุให้คนรู้สึกว่า ต้องแก้ เพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อเทียบกับฉบับอื่นๆ ที่ผ่านมา

แม้จะมีการทำประชามติ แต่ว่าฝ่ายที่เขาเห็นต่าง เขาก็แสดงออกไม่ได้ โดนดำเนินคดีไปก็หลายคดี

เนื้อหาข้างในก็มีปัญหา โดยเฉพาะ 5 ปี หลังเลือกตั้ง มันชัดเจนว่า ส.ว. ก็คือสิ่งที่มาแทน สนช. มีบทบาทอำนาจหน้าที่เหมือนกัน คือเลือกนายกฯ

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ จะเชียร์รัฐบาล หรือไม่เชียร์รัฐบาล จะชอบนักศึกษา หรือไม่ชอบนักศึกษา แต่เนี่ยคือข้อเท็จจริง ซึ่งผมคิดว่ามันก็เป็นเหตุและเป็นประเด็นสำคัญ

ดังนั้นรื่องการแก้รัฐธรรมนูญผมคิดว่า มีมูลเหตุให้เรียกร้อง รัฐบาลต้องฟัง และต้องฟังอย่างตั้งใจ เพื่อนำไปสู่การเเก้ปัญหา

ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่เราต้องเห็นต่างกันภายใต้กติกา แต่ถ้ากติกามีปัญหาซะเอง เขาอยากแก้ก็ต้องฟังเขา

เพราะกติกานี้เขาไม่มีส่วนรวม แล้วเนื้อหามีความไม่เป็นธรรมอยู่ ถ้ากติกาไม่เรียบร้อย การอยู่ร่วมกันในแบบเห็นต่างกันภายใต้กติกา มันก็ลำบาก ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องฟัง ท่านนายกฯ ต้องฟังในสิ่งเหล่านี้

ม็อบเยาวชนปลดแอก ในมุมมอง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล \"รัฐบาลต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่\"

สปริงนิวส์ : ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงเรื้อรังต่อไป ?

ผศ.ดร.ปริญญา : ตอนนี้เห็นจะแก้รัฐธรรมนูญลำบาก เพราะต้องมี ส.ว. 1 ใน 3 เห็นด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ผ่านมา ขอเพียงมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา คือ ส.ส. และ ส.ว. ก็แก้รัฐธรรมนูญได้แล้ว

แต่ฉบับนี้เขาวางกลไกเอาไว้ว่า ไม่ให้แก้ ถ้าหาก คสช. ไม่เห็นด้วย โดยต้องการเสียง ส.ว. ถึง 1 ใน 3 แล้วยังมีด่านอื่นๆ อีก

ก่อนหน้านี้ก็คิดกันว่า คงต้องรอให้ ส.ว. ชุดแรก หมดวาระไปก่อน ให้มี ส.ว.มาตามปกติถึงจะมีโอกาสในการแก้ แต่ดูเหมือนนักศึกษาเขาจะไม่รอน่ะซิ ผมคิดว่าก็เป็นข้อที่ต้องรับฟัง

ยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ ปี 2534 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็แก้ทันที 4 ประเด็นเลย นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ประธานสภาผู้แทนฯ ต้องเป็นประธานรัฐสภา อำนาจ ส.ว. ที่มันเลยเถิดก็ตัดออกไป

ในปี 2538 ก็มีการแก้ไขใหญ่... และแม้ว่าจะแก้แล้ว แต่ในปี 2539 ก็ยังมาตั้งต้นร่างใหม่ทั้งฉบับ จนมาเป็นรัฐธรรมนูญ ปี 2540

ม็อบเยาวชนปลดแอก ในมุมมอง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล \"รัฐบาลต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่\"

สปริงนิวส์ : ช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 หลายคนมองว่าเป็นการชุมนุมที่กดดันรัฐบาลได้สำเร็จ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในฐานะที่คุณเป็นผู้นำนักศึกษาในช่วงเวลานั้น มีความคิดเห็นอย่างไรกับความเข้าใจเช่นนี้ และมีข้อเท็จจริงอะไรบ้าง ที่ต้องการบอกเล่า ?

ผศ.ดร.ปริญญา : เดือนพฤษภาคม ปี 2535 มีคนเสียชีวิต 44 ศพ เพราะถูกปราบ แล้วผู้สูญหาย ที่เชื่อว่าเสียชีวิตทั้งหมด ก็มีประมาณ 200 - 300 ราย ผมถามว่า เราต้องมาตายกันอีกไหม ผมคิดว่ามันน่าจะพอ

และผมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนักศึกษาในช่วงนั้น ก็พูดโดยสรุปว่า ตอนนั้นเราไม่ได้ชนะเพราะการชุมนุมนะครับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องลาออก เพราะทำคนตาย ผมพูดอย่างนี้เพื่อให้เรามองเป็นบทเรียน

อย่างตอน 14 ตุลาคม 2516 ที่จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออก ก็เพราะมีคนตาย 72 ราย ในวันที่เกิดการปราบปราม

แล้วก็เป็นที่ทราบกันในตอนนั้นมีความขัดแย้งในกองทัพ มีอีกขั้วอำนาจหนึ่งในกองทัพ ที่ต้องการโค่นจอมพลถนอม

นี่จึงเป็นที่มาของคำถาม “ใครคือไอ้โม่ง ?” เช้าตรู่ วันที่ 14 ตุลาคม ตอนที่นักศึกษาสลายตัวแล้ว เพราะรัฐบาลยอมรับจะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญและเลือกตั้ง

ช่วงกลางดึกวันที่ 13 ตุลาคม รถเมล์หมด นักศึกษาก็มารอ ตอนตีห้า วันที่ 14 ตุลาคม แต่ปรากฏว่า พอช่วงเดินผ่านสวนจิตรดา ก็มีตำรวจมากั้นไว้ ไม่ให้ผ่าน แล้วใช้กระบอง แก๊สน้ำตา ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่สูญเสียเลือดเนื้อขึ้นมา

ทั้งที่การชุมนุมสลายแล้ว แต่ใครบางคนไม่ยอมให้จบ ใช้มาเป็นเหตุในการโค่นจอมพลถนอม

ผมคิดว่า นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้จากความผิดพลาดในอดีต อย่าไปมองแค่ว่า 14 ตุลา 16 คือชนะ พฤษภา 35 คือชนะ มันมีที่มาของมัน

แล้วในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ดูซิครับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยึดทำเนียบรับบาล ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ สุดท้ายชนะเพราะอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค หมายถึงการชุมนุมก็สิ้นสุดลง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ไม่ใช่รัฐบาลยอมถอยเองนะครับ

ตอน นปช. ที่สี่แยกคอกวัว 1 เดือน แล้วก็มาที่ราชประสงค์อีก 2 เดือน ก็จบด้วยเหตุการณ์นองเลือด ซึ่งไม่ควรจะเกิด

ตอนที่ กปปส. ก็ 6 เดือน ที่ชัตดาวน์กรุงเทพฯ แล้วจบด้วยอะไรครับ จบด้วยการปฏิวัติ

คือผมคิดว่า ตอนนี้เสียงของนักศึกษา คือการแสดงออกครับว่า เขารู้สึกอัดอั้นกับการเมืองที่ผู้ใหญ่ทำเอาไว้ ผมจึงท้าทายนิสิตนักศึกษาในตอนนี้ จะแสดงออกอย่างไร ให้แตกต่างไปจากที่ผู้ใหญ่เคยทำผิดพลาด 14 ปีที่ผ่านมา (2549 - 2563)

ก็เชิญชวนให้ดูที่ผ่านมา แล้วผมเชื่อว่า นักศึกษาจะสามารถทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปได้

ม็อบเยาวชนปลดแอก ในมุมมอง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล \"รัฐบาลต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่\"

สปริงนิวส์ : การที่ได้เห็นนักศึกษามีความสนใจเรื่องบ้านเมือง ในฐานะที่เป็นอาจารย์ และเคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง ?

ผศ.ดร.ปริญญา : บางทีเราก็ชอบพูดว่านิสิตนักศึกษาไม่สนใจบ้านเมือง ไม่สนใจการเมือง เราชอบพูดแบบนี้กัน แต่พอเขามาสนใจการเมือง เราก็ไปห้ามเขา ไปปิดกั้นเขา

ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีนะครับ ที่คนตื่นตัว เพราะการเมืองคือเรื่องของเรา อนาคตบ้านเมืองเปลี่ยนได้ด้วยตัวเรา

ดังนั้นเราอย่าไปมองเขาในทางลบ อย่าไปปิดกั้นเขา อย่าไปขับไล่ไสส่งเขาจากมหาวิทยาลัย ถ้าเขามาขอใช้สถานที่ เมื่อเขาทำไปโดยสงบ ชุมนุมโดยสันติวิธี มหาวิทยาลัยจะไปห้ามเขาทำไม อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยก็ดีแล้ว สิทธิตามรัฐธรรมนูญรับรองอยู่แล้วในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ

แล้วผมมองว่า การที่คนรุ่นนี้ตื่นตัว เป็นผลดีต่อบ้านเมืองระยะยาว เพราะพวกเขาเป็นคนที่จะเอาใจใส่บ้านเมืองต่อไป ตราบชั่วชีวิตของเขา

เพียงแต่ว่า เราก็ไม่อยากเห็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นอีก เรื่องนี้ท้าทายนักศึกษา ทำยังไงให้แตกต่างไปจาก กปปส. หรือ นปช. ที่ผ่านมา

ซึ่งบ่อยครั้งมาก หรือแทบทุกครั้ง การชุมนุมมันโตขึ้นเพราะรัฐบาลเองน่ะแหละ ไปเพิ่มความไม่พอใจ ไปจับกุมไปปราบปราม กลายเป็นลุกลาม รัฐบาลต้องมองเรื่องนี้ในแบบที่ว่า นี่คือการแสดงออกของนิสิตนักศึกษา

ผมก็เชื่อว่า คนที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี คนที่เป็น ส.ว. ก็มีลูกมีหลานในวัยนักศึกษาอยู่ไม่ใช่น้อย พวกเขาที่มาชุมนุมก็คือลูกหลานของเราทั้งนั้น รัฐบาลก็อย่าไปรังเกียจ อย่าไปปิดกั้น

ส่วนนักศึกษาเองก็ต้องระวัง ยุคนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนเนี่ยใครจะมาเขียนป้ายอะไร ภาพจะออกทางหน้าหนังสือพิมพ์ได้ ก็ต้องผ่านการคัดกรองจากบรรณาธิการ

แต่ยุคนี้เป็นยุคโซเชียลมีเดีย หากใครสักคนพกป้ายแล้วกาง ถ่ายภาพปั๊บ ลงโซเชียล มันก็เผยแพร่ไปทันทีเลย

ยกตัวอย่าง สมัยที่คุณยิ่งลักษณ์จะให้ผ่าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรมคุณทักษิณ ก็เกิดการประท้วง

ธรรมศาสตร์ก็มีการประท้วงเรื่องนี้ ปรากฏว่า มีศิษย์เก่าคนหนึ่ง เอาป้ายที่เตรียมมาจากบ้าน ข้อความว่า “เหลืองแดง (ธรรมศาสตร์) มาแล้ว แดงเหลือง (จปร.) อยู่ไหน”

คือสีประจำสถาบันคือ เหลืองแดง กับแดงเหลือง ก็ถูกมองทันทีว่า เป็นพวกเชิญชวนทหารมาปฏิวัติ ทั้งๆ ที่เป็นป้ายของคนสองคน

เราก็ต้องระมัดระวังในเรื่องพวกนี้ แล้วผมอยากบอกตำรวจว่า ต้องแสวงหาความร่วมมือกับนักศึกษา ตำรวจก็น่าเห็นใจ เพราะถูกสั่งมา แต่ถ้าตำรวจมาคอยตั้งข้อหาจับกุม ตำรวจก็จะกลายเป็นศัตรูกับนักศึกษาไป

นักศึกษาเอง ก็อย่าไปมองตำรวจเป็นศัตรู เพราะต้องเข้าใจว่า เขาถูกสั่งมา ก็ต้องทำให้การชุมนุมปลอดภัย ไม่มีมือที่สาม ไม่มีเหตุแทรกซ้อน ไม่มีเรื่องไม่พึงประสงค์ ก็ต้องร่วมมือกันครับ

ม็อบเยาวชนปลดแอก ในมุมมอง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล \"รัฐบาลต้องฟังเสียงคนรุ่นใหม่\"

สปริงนิวส์ : สมมติว่า ถ้าตอนนี้คุณเป็นนักศึกษา แล้วสภาพบ้านเมืองเป็นแบบนี้ จะออกมาร่วมการชุมนุมหรือไม่ ?

ผศ.ดร.ปริญญา : ผมพูดอย่างนี้แล้วกัน ตอนที่มีการยึดอำนาจ (ก่อนพฤษภาทมิฬ) คือเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ตอนเริ่มชุมนุม คือเมษายน 2535 แค่ 1 ปี กับ 2 เดือน แต่ตอนนี้ตั้งแต่ ปี 2557 ถึง ปี 2563 ก็ 6 ปี

สมัยปี 2535 แค่ปีเดียว แต่ตอนนี้ตั้ง 6 ปี ดังนั้นผมก็อยากให้ผู้ใหญ่มองนักศึกษาแบบเข้าใจ

สมัย 14 ตุลา จอมพลถนอมปฏิวัติ (ตัวเอง) ปี 2514 เหตุการณ์ชุมนุมเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2516 ก็แค่ 2 ปี

ฉะนั้นผมคิดว่าจะไปบอกนักศึกษาให้กลับไปเรียนหนังสือ ไปทำอย่างอื่น ผมว่าต้องเข้าใจว่าเขามีสิทธิ์ที่จะพูด ที่จะแสดงออก เพียงแต่ว่าทำอย่างไร ให้มันเป็นไปโดยที่ไม่นำไปสู่ความสูญเสีย หรือความขัดแย้ง แตกแยก

คนเราเห็นต่างกันได้ เป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็แสดงออกไปตามวิถีทางระบอบประชาธิปไตย

สปริงนิวส์ : ขออนุญาตถามย้ำนะครับ สมมติว่า ถ้าตอนนี้คุณเป็นนักศึกษา จะออกมาร่วมการชุมนุมหรือไม่ ?

ผศ.ดร.ปริญญา : ผมพูดอย่างนี้ไม่ได้ เพราะมันคนละยุคสมัยกัน ผมไม่ใช่นักศึกษาแล้วในตอนนี้

ผมพูดในฐานะที่เป็นนักวิชาการ ผมพูดได้อย่างมากคือ ผมเคยมีบทเรียนอะไร แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แต่ละคนก็คิดกันเองได้ ผมก็แค่บอกว่าผมมีประสบการณ์อย่างไร ผมคิดเห็นอย่างไร

แต่จะให้บอกว่า ถ้าผมเป็นรัฐบาล เป็นนักศึกษา ผมจะทำอย่างไร ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

ผมเพียงแต่เสนอว่า 1. การแสดงออกเป็นสิทธิ ถ้ายังอยู่ในขอบเขต เป็นการแสดงออกที่รัฐบาลจะไปปิดกั้นเขาไม่ได้

2. เราต้องฟังกัน และผมคิดว่า ที่นักศึกษาพูดก็มีเหตุผล หมายถึงสิ่งที่นักศึกษาแสดงออก มันก็มีเหตุผลของเรื่องอยู่

อย่างน้อยนี่มัน 6 ปี แล้ว ตั้งแต่ยึดอำนาจ แล้วเขาก็เติบโตมากับการเมืองแบบนี้ คือ มีรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มียึดอำนาจ 2 ครั้ง มีเหตุการณ์นองเลือด มีเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ ตั้งแต่เขา 4 - 5 ขวบ จนเติบโตมา จนเรียนมหาวิทยาลัย ผมจึงคิดว่า ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจตรงนี้ รับฟังเขา แล้วมาหาทางให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้

related