ปัจจุบัน การปนเปื้อนของพลาสติก และไมโครพลาสติกในมหาสมุทร เกิดจากการทิ้งขยะที่สร้างขึ้นบนบกลงสู่ทะเล คิดเป็นปริมาณมากกว่า 8 พันล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการทิ้งขยะจากรถบรรทุกลงสู่ทะเล 1 คันในทุกๆ 1 นาที
WWF ร่วมกับมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียเปิดงานวิจัยล่าสุด พบมนุษย์อาจบริโภคพลาสติกขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกายประมาณ 5 กรัมต่อสัปดาห์ เทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบ คิดเป็นปริมาณพลาสติกกว่า 2,000 ชิ้น หรือ 21 กรัมต่อเดือน 250 กรัมต่อปี
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลสำนักงานใหญ่ หรือ WWF International เปิดเผยว่า งานวิจัย “No Plastic in Nature: Assessing Plastic Ingestion from Nature to People” ธรรมชาติต้องปราศจากพลาสติก: ค้นหาปริมาณพลาสติกจากแหล่งธรรมชาติสู่วงจรบริโภคของมนุษย์ จัดทำขึ้นโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ในออสเตรเลีย
งานวิจัยชิ้นนี้ เป็นงานประมวลผลข้อมูลเชิงวิชาการครั้งแรกของโลก ที่รวบรวมข้อมูลการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคไมโครพลาสติกในมนุษย์ทั้งสิ้นกว่า 50 ฉบับ การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดการศึกษาต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจ และค้นหาความจริง ถึงผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อร่างกาย และสุขภาพของมนุษย์
มาร์โค แลมเบอตินี่ ผู้อำนวยการทั่วไป WWF International กล่าวว่า ผลการวิจัยเป็นการเน้นย้ำให้เห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่ทุกภาคส่วนจะต้องก้าวเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษของขยะพลาสติกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศ ที่เป็นผู้ควบคุมและออกกฎหมาย ก่อนที่วงจรห่วงโซ่อาหารของมนุษย์จะปนเปื้อนด้วยไมโครพลาสติกจนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ปัจจุบัน การปนเปื้อนของพลาสติก และไมโครพลาสติกในมหาสมุทร เกิดจากการทิ้งขยะที่สร้างขึ้นบนบกลงสู่ทะเล คิดเป็นปริมาณมากกว่า 8 พันล้านตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับการทิ้งขยะจากรถบรรทุกลงสู่ทะเล 1 คันในทุกๆ 1 นาที
มลพิษพลาสติกไม่ได้คุกคามเพียงแค่ระบบนิเวศทางทะเล สัตว์น้ำสายพันธุ์ต่างๆ เท่านั้น แต่ได้คืบคลานเข้ามาสู่วงจรห่วงโซ่อาหารของมนุษย์แล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เรากำลังบริโภคพลาสติกแบบไม่รู้ตัวอยู่ทุกวัน
ดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่องานอนุรักษ์ WWF ประเทศไทย กล่าวถึง โครงการ Your Plastic Diet หรือ “กินอยู่ไม่รู้ตัว” ว่า นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เมื่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฟื่องฟู ทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่าปริมาณที่เคยผลิตทั้งหมดในทศวรรษก่อนหลายเท่าตัว โดยอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ เป็น พลาสติกที่ผลิตออกมาเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์ซึ่งกลายเป็นขยะ และ 1 ใน 3 ของขยะพลาสติกเหล่านี้ได้รั่วไหลลงสู่มหาสมุทร
กระบวนการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดการปนเปื้อนของพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกที่แตกตัวเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก และปะปนเข้าสู่วรจรห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล ซึ่งเมื่อมนุษย์บริโภคอาหารทะเล ไมโครพลาสติกเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ในที่สุด
พลาสติกมีอยู่ทุกที่ ทั้งในน้ำที่เราดื่ม ในอากาศที่เราหายใจ ในอาหารที่เรารับประทาน วันนี้นอกจากการที่เราจะลดการใช้ถุงพลาสติกตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว การสร้างขยะให้น้อยลงก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น
เราสามารถประเมินปริมาณพลาสติกที่เราบริโภคเข้าไปในแต่ละวันได้ที่ โครงการ Your Plastic Diet และร่วมลงชื่อสนับสนุนโครงการได้ โดยตอนนี้น่ายินดีที่คนหันมาตระหนักและใส่ใจในสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกแล้วมากกว่า 1.5 ล้านคน