สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง แก้รัฐธรรมนูญ กับ ผบ. เหล่าทัพ ผลสำรวจระบุ ปชช. 75.4 % เห็นด้วยกับ “ชวน” แก้ รธน. ! ผบ.เหล่าทัพ ไม่ต้องเป็น ส.ว.
วันที่ 5 ม.ค. 62 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลการศึกษาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ กับ ผบ.เหล่าทัพ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ Qualitative ( Research) จำนวน 1,162 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2-4 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงข้อเสนอของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในการแก้รัฐธรรมนูญ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ไม่ต้องเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 เห็นด้วย เพราะไม่เหมาะสมที่รับเงินซ้อนหลายทาง ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ สำคัญสุด ทำตรงนั้นให้ดีที่สุดต่อชาติบ้านเมือง ควรแยกออกให้ชัดเจน อำนาจฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรทำทุกอย่างชัดเจน เป็นอิสระจากกัน และหน้าที่ ส.ว. ไม่ใช่หน้าที่ของเหล่าทัพ เป็นต้น
ในขณะที่ร้อยละ 24.6 ไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย และไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เร่งแก้เศรษฐกิจก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงกลุ่มคนที่พูดแล้วทำให้รู้สึกว่า เศรษฐกิจแย่ที่สุด พบว่าจำนวนร้อยละ 43.7 ระบุเป็น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล , รองลงมาคือ ร้อยละ 20.7 เป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน , ร้อยละ 12.8 , เป็นนักวิชาการ , ร้อยละ 2.6 เป็นหมอดู และร้อยละ 20.2 ระบุอื่นๆ เช่น พูดกันเองปากต่อปาก นักธุรกิจ นักศึกษา คนทุกกลุ่ม เป็นต้น
ที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อถามถึงความรู้สึก ถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ พบว่ากลุ่มคนรู้สึกเฉยๆ ลดฮวบลงจากร้อยละ 77.4 ในเดือนตุลาคม 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 42.8 ในช่วงต้นเดือนมกราคมนี้ แต่กระจายไปอยู่ในกลุ่มคนรู้สึกไม่ดี มีผลเสีย ร้อยละ 30.7 และกลุ่มคนรู้สึกดี มีผลดี ร้อยละ 26.5
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่ากลุ่มคนที่มีความหวังจะก้าวต่อไปข้างหน้า ลดลงจากร้อยละ 68.5 ในเดือนตุลาคม 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 52.2 ในต้นเดือนมกราคม และกลุ่มคนรู้สึกกลัวที่จะเดินต่อไปข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 31.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 47.8
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวว่า การประเมิน (Evaluation Poll) ตั้งแต่ต้นปีนี้ ทำตามกรอบประเมินแบบสากลที่มีประเมินก่อนประเมินระหว่างและประเมินตอนจบของรัฐบาล จึงไม่เร็วเกินไปที่ประเมินตอนนี้ และย่อมดีกว่าที่มีข้อมูลชี้ให้เห็นแต่เนิ่นๆ ว่า รัฐบาลบริหารอารมณ์ของประชาชนยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะถ้ามีประสิทธิภาพ อารมณ์ของผู้คนคงไม่เป็นแบบทุกวันนี้
โดยดูจากข้อมูลที่สำรวจจะเห็นว่า อารมณ์คนเปลี่ยนไปในทางที่แก้ยากมากขึ้นในหลายเรื่อง เช่น คนจะไม่รู้สึกเฉยอีกแล้ว ถ้ายุบพรรคอนาคตใหม่ แต่จะรู้สึกไม่ดี มีผลเสียเพิ่มขึ้น คนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้น
ทำให้โจทย์และความท้าทายซับซ้อนอ่อนไหวมากขึ้น และต้นตอที่ทำให้คนมองว่าเศรษฐกิจแย่ คือ คนที่ออกมาพูดของฝ่ายรัฐบาลเอง ที่พูดแล้วยิ่งทำให้คนรู้สึกแย่ ผลที่ตามมาคือ คนรู้สึกหวังที่จะก้าวต่อไปลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณอันตราย ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเร่งปฏิรูปตัวเองด้านการบริหารอารมณ์ของสาธารณชน หรือทำอะไรก็รีบทำ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกดี “เดี๋ยวสายไป”