ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แถลงข่าวการค้นพบกิ้งกือไทย 91 ชนิดใหม่ของโลก เผยบางสปีชีส์มีความสวยงามไม่แพ้ "กิ้งกือมังกรสีชมพู" ตั้งสกุลใหม่ 8 สกุล สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ในด้านชีววิทยากับธรรมชาติของไทย
23 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานแถลงข่าวการค้นพบกิ้งกือไทย 91 ชนิดใหม่ของโลก ในการประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (IBD 2019)
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ทำการศึกษาความหลากหลายของสปีชีส์กิ้งกือในประเทศไทย จนค้นพบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกถึง 91 สปีชีส์ และตั้งสกุลใหม่ 8 สกุล กิ้งกือหลายชนิดที่ค้นพบใหม่มีความโดดเด่นสวยงามไม่แพ้กิ้งกือมังกรสีชมพู ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ของโลก ประจำปี 2551 จากสถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิต (IISE)
ปัจจุบันมีการรายงานการค้นพบกิ้งกือทั้งหมด 228 สปีชีส์ทั่วประเทศ โดยได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการไปมากกว่า 34 เรื่อง ทำให้ตัวอย่างกิ้งกือของไทยที่นำมาศึกษาและเก็บรวบรวมไว้มีความสมบูรณ์และมีจำนวนมากที่สุดในโลก และสามารถเข้ามาใช้เป็นฐานข้อมูลที่สำคัญของการศึกษากิ้งกือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในอนาคต :ซึ่งกิ้งกือมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศป่า ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษซากพืช เศษใบไม้ที่ร่วงหล่น อินทรียวัตถุต่างๆ ให้กลายเป็นธาตุอาหารหมุนเวียนกลับคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง จนได้รับการขนานนามว่า “โรงงานผลิตปุ๋ยเคลื่อนที่”
Cr. chula.ac.th