ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
นาวาเอกสรรพสิทธิ์ สงกุมาร รองผู้อำนวยการกองนาวิกเวชกิจ โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ แพทย์ที่ได้รับมอบภารกิจไปร่วมดูแล 13 หมูป่า ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนที่2 ว่า...
“ทีมแพทย์ฉุกเฉินทหารเรือช่วยเหลือหมูป่า 7 กรกฎาคม 61 ช่วงบ่าย
หลังทานอาหารกลางวันเสร็จผมเปลี่ยนชุดเป็น เสื้อแขนยาวแนบเนื้อกางเกงขายาวแนบเนื้อไว้ข้างในใส่รองเท้าสำหรับลงน้ำได้ เพื่อเดินสำรวจถ้ำ โดยมีน้องพยาบาลเวชศาสตร์ฯ ที่ทำงานอยู่กับทีมซีลและเคยเข้าออกถ้ำมาหลายครั้งเป็นผู้นำทาง ผู้ที่เข้าไปสำรวจกับผมคือ 05,10,11
การเดินทางเริ่มจากปากถ้ำ เข้าไปเดินลงบันไดจากนั้นก็ลุยน้ำตื้นๆ เหมือนลำธารเข้าไปต่อด้วยทางขึ้นที่เป็นหินแบบบันได ซึ่งจุดนี้จะเรียกจุดดำลงถ้าผมเข้าใจไม่ผิดนะและลุยลงไปในโถงน้ำลึกประมาณอกของผม จุดนี้จะมีช่วงที่มิดหัวต้องเกาะเชือกเพื่อลอยตัวเข้าไป แล้วจะต่อด้วยทางลุยน้ำประมาณเข่า จนกระทั่งพ้นส่วนนี้
จากนั้นจะต่อด้วยเนินโคลน ต่อจากเนินโคลนจะเป็นส่วนที่เป็นโขดและแง่งหินซึ่งถ้ามองมาด้านข้างด้านล่างจะเหมือนเราไต่หน้าผาอยู่ ส่วน พ้นจากนี้ก็จะเป็นปากทางเข้าโถง 3 ซึ่งลักษณะเป็นปากปล่องลงไป ตลอดทางที่ผมกล่าวมาซึ่งขอโทษด้วยที่ไม่สามารถประมาณระยะทางให้ทราบได้เนื่องจากไม่เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่ตามทางจะมีทีมงานคอยช่วยกันในเรื่องการสูบน้ำออกตลอดเวลาและตามเส้นทางที่ผ่านน้ำก็จะมีท่อสูบน้ำเป็นระยะๆตลอดทาง จุดปากทางเข้าโถง 3 ก็เช่นเดียวกันมีท่อน้ำขนาดใหญ่วางอยู่หลายท่อ ผมเห็นตรงปากทางมีคนค่อนข้างเยอะ จึงพักคอยบนท่อน้ำ
สักพัก 05 ก็เรียกให้ปีนลงไปดูตรงปากปล่องทางเข้าการปีนลงค่อนข้างยากลำบากเนื่องจากแคบพอควรต้องบิดตัวหลบแง่งหินลงไปดูแค่ปากทางดำเข้าเนื่องจากไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ดำน้ำไปและผมไม่ได้ตั้งใจจะดำน้ำอยู่แล้วเนื่องจากไม่ชำนาญ เพื่อดูปากทางดำลงเรียบร้อยก็เดินกลับมา ออกมาที่ปากถ้ำลองดูเวลาผมใช้เวลาชั่วโมงครึ่งโดยประมาณในการเดินเข้าและออกมา
จากนั้นก็กลับมาวางแผนต่อที่เต็นท์เวชศาสตร์ฯ ที่คิดอย่างแรกตอนนั้นคือหลังจากรับเด็กขึ้นมาจากปากทางโถง 2 แล้วเด็กควรห่อด้วยเปล SKED ก่อนแล้วจึงส่งลงมาโดยที่คิดเบื้องต้นคือตรงจุดที่เป็นแง่งหินทั้งหมดรวมถึงเนินโคลน ควรใช้คนยืน 2 ฟากและรับเปลส่งต่อกันมาเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุของคนหามเปลแต่มันต้องใช้คนหลายคนมาก เมื่อมาถึงบริเวณน้ำลึกจะเอาเปลใส่ Floating basket แล้วลอยต่อตามน้ำมา จนถึงจุดดำลงที่โถง 1 และยกเปลขึ้นมาเดินต่อถึงปากถ้ำเพื่อส่งต่อให้ ทบ. ช่วงบ่ายแนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนโดยทีมสหรัฐที่มาขอดูเปล SKED ที่เต็นท์ของเรา รวมถึงพี่ซีลที่เป็นผู้ควบคุมโถง 2
ในตอนเย็นมีช่วงที่ทีมช่วยเหลือทั้งหมดมารวมกันและทำการ Dry run การช่วยเหลือเด็ก ออกแนว Table top นิดๆ เท่าที่ผมจำได้และพอเข้าใจคือใครอยู่ตรงส่วนไหน จะทำอะไร นักดำคนไหนจะเข้าไปแค่ไหนเอาถังไปกี่ใบ stand by ตรงจุดไดบ้าง ในส่วนที่ทีมแพทย์ทร.เกี่ยวข้องคือเมื่อเด็กขึ้นมาที่โถง 3 จะต้องเข้าไปดูแลเด็กในจุดแรก ตรงจุดนี้จะมี Medic ต่างชาติอยู่เพื่อเพื่อดูแลนักดำน้ำต่างชาติด้วย หลังจากเราดูแลและประเมินเด็กว่าสามารถไปต่อได้ก็จะพาเด็กดำน้ำจากโถง 3 มา โถง 2 ซึ่งจะมีทีมแพทย์ประเมินเด็กอีกครั้ง
เมื่อพร้อมก็จะนำใส่เปล SKED เคลื่อนย้ายลงมาตามแผนที่ได้ปรึกษากันไว้ จนนำส่งถึง แพทย์ทบ.ที่ปากถ้ำ เมื่อซักซ้อมความเข้าใจเสร็จก็แยกย้ายกัน มีทีมต่างชาติตามมาที่เต็นท์เพื่อนัดหมายให้เรานำเปล SKED เตรียมไว้พรุ่งนี้เขาจะนำไปด้วย 2 เปล เผื่อใช้ในโถง 3 ด้วย ที่เหลือเราวางแผนว่าจะเตรียมไว้ที่โถง 2 ตรงปากทางขึ้นตามแผนที่วางไว้เดิม ถึงเวลานี้เรามีเปล SKED จำนวน 10 เปล เนื่องจาก ร้องขอมาเพิ่มจาก โรงเรียนนาวิกเวชกิจ,พัน.พ.นย.,พัน.พ.สอ.รฝ. ประมาณว่าเปล SKED ที่อยู่กรุงเทพและสัตหีบเกือบทั้งหมดรวมอยู่ที่เรา รวมถึงทางกองอำนวยการทางการแพทย์ เชิญหมอทหารเรือมาเพิ่มอีก 2 คน คือพี่แดง นาวาเอก พรศักดิ์ ผลเจริญสมบูรณ์ วิสัญญีแพทย์และน้องหยิก นาวาเอก ณัฐศักดิ์ วรเจริญศรี อายุรแพทย์ (Chest and ICU) ถือว่าค่อนข้างพร้อมทีเดียว
สำหรับทีมทหารเรือ ตอนกลางคืนตอนที่คุณหมอแฮริสกลับมาจากการดำน้ำเข้าไปพบเด็กๆ ทีมแพทย์ได้เข้าประชุมร่วมกันอีกครั้ง โดยคุณหมอแฮริสบอกว่าทุกคนที่อยู้ด้านในมีสุขภาพกายและจิตใจที่ค่อนข้างดี ทั้งทีมหมูป่าและทีมซีลรวมถึงหมอภาคย์ด้วย เขาได้อธิบายแนวทางการช่วยเหลือให้ทุกคนทราบและทุกคนยินดีมากที่จะได้ออกมา ดังนั้นให้ทุกคนเตรียมตัวสำหรับวันพรุ่งนี้ หลังจากนั้นทีมแพทย์ทหารเรือก็ได้มาปรึกษาหารือกันอีกครั้งในเรื่องที่จำเป็นจะต้องมีแพทย์อยู่ในโถง 3 หรือไม่ มีทั้งแนวคิดที่ว่าน่าจะมีเนื่องจากหากมีอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นการให้ออกซิเจนและช่วยนวดหัวใจในทันทีอาจช่วยได้หรือช่วยซื้อเวลาได้ก่อนจะนำเด็กดำน้ำต่อออกมา เวลาที่ใช้ในการผ่านโถง 3 และดำมาถึงปากทางในโถง 2 คือประมาณ 10 นาที อีกแนวคิดคือคิดถึงความเสี่ยงของแพทย์ที่จะดำน้ำเข้าไปในโถง 3 ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้ เทียบกับการซื้อเวลาที่อาจจะช่วยได้ไม่มากเท่าไร เนื่องจากเด็กยังต้องดำน้ำออกมาอีกเทียบกับการที่เอาเด็กออกมาทำทุกอย่างเต็มที่เมื่อพ้นน้ำออกมาแล้ว การถกเถียงไม่ได้ข้อยุติชัดเจนแต่ก็ได้นำเรียนกับ ผบ.หน่วยซีลถึงความกังวลที่เกิดขึ้น ผบ.ท่านรับทราบและเดินเข้าประชุมกองอำนวยการร่วมต่อ ส่วนพวกเราก็กลับที่พักเพื่อเตรียมตัวสำหรับวันรุ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง >> เปิดบันทึกฉบับเต็ม! ทีมแพทย์ช่วย 13 หมูป่าในถ้ำหลวง (ตอน1)