นายกรัฐมนตรียินดีและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนตามข้อริเริ่มของสิงคโปร์ในการใช้เมืองหลักและรองขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน
วันนี้ (27 เม.ย.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 32 ช่วงการประชุมเต็มคณะ (Plenary) ณ ทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐสิงคโปร์ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญถ้อยแถลงดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมและสนับสนุนแนวคิดสำคัญของสิงคโปร์ในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งและมีนวัตกรรม ซึ่งสองสิ่งนี้ต้องเชื่อมโยงกันเพื่อส่งเสริมศักยภาพของอาเซียน ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในภูมิภาคและโลก เพื่อให้ประชากรของอาเซียนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น อาเซียนควรให้ความสำคัญกับ ๓ ประเด็นหลัก ดังนี้
1.การพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน ศูนย์อาเซียนเพื่อการหารือและการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นตัวขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค อีกประเด็นของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค คือการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับความท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจจากจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นกว่า 36 ล้านคน ในอาเซียน จึงหวังว่า การพัฒนาศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและมีนวัตกรรม จะช่วยอาเซียนวางแผนเรื่องนี้ในระยะยาว นอกจากนี้ อาเซียนจำเป็นต้องมีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จึงยินดีที่อาเซียนจะรับรองถ้อยแถลงผู้นำว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ และเชื่อมั่นว่าศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนในเรื่องนี้
2.นวัตกรรมในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ถึงเวลาที่จะร่วมกันเร่งผลักดันอาเซียนให้เป็นประชาคมดิจิทัล ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์และรับผิดชอบสังคมยุคใหม่ พร้อมสนับสนุนโครงการที่ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย และสนับสนุนการทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม อาเซียนต้องเริ่มศึกษาแนวโน้มสำคัญของโลก และผลกระทบของนวัตกรรมต่ออาเซียนอย่างน้อย 20 ปี ข้างหน้า เพื่อบริหารจัดการให้ประชาคมอาเซียนก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
3.การให้ความสำคัญกับประเด็นทางยุทธศาสตร์ที่จะตอบโจทย์ ทั้งในส่วนของการสร้างความเข้มแข็งและนวัตกรรม เช่น การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ในภูมิภาค
เพื่อเชื่อมข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.
2025 รวมทั้งแผนแม่บทยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง โดยมีโครงการพัฒนา
ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะช่วยบูรณาการห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ส่งเสริมเสถียรภาพทาง
เศรษฐกิจและการใช้นวัตกรรมให้เกิดพลวัตสูงสุด
ในการนี้นายกรัฐมนตรียินดีและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนตามข้อริเริ่มของสิงคโปร์ในการใช้เมืองหลักและรองขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ไทยกำลังผลักดัน Smart Economy Smart Governance Smart Agriculture และ Smart Energy Environment เป็นต้น โดยมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นตัวกลางการขับเคลื่อน อาเซียนควรให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเข้าใจด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยให้เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนเป็นพลังในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็งและนวัตกรรม