SHORT CUT
สรุปข้อคิดการทำงานจาก 'พีระมิดสามสุข' เพื่อให้ชีวิตรอดจาก Burnout ในเวทีอีเว้นท์ Work Life Festival 2024 งานสำหรับคนที่อยากพัฒนาตัวเอง
Burnout หรือที่เรียกว่า "ภาวะหมดไฟ" เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานและนักเรียน นักศึกษา สาเหตุหลักๆ มักมาจาก ปริมาณงานที่มากเกินไป ความเครียดเรื้อรัง ขาดความสมดุลในชีวิต ขาดแรงสนับสนุน รวมถึงอาจแบกความหวังจากคนรอบข้างสูงเกินได้ด้วยเช่นกัน
วันที่ 3 พ.ย. 67 ในงาน Work Life Festival 2024 บนเวที “WORK ไร้ BALANCE 2024” ณ Paragon Hall ชั้น 5 ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาแบ่งปันมุมมองดีๆ “วิธีทำงานอย่างไรไม่ให้ Burnout ?”
โดย ศ.ดร.นภดล ได้เผยวิธีคิดแบบ “พีระมิดสามสุข” ที่จะช่วยให้เราจัดลำดับชีวิตให้มีความสุขทั้งเรื่องสุขภาพ สังคม และมีงานที่ดีได้ไม่ยาก
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักความสุข 3 แบบ จากฮอร์โมนความสุขเสียก่อน ได้แก่ เซโรโทนิน ออกซิโทซิน และโดพามีน ซึ่งแต่ละตัวมีบทบาทดังนี้
1. เซโรโทนิน
คือการกิน นอน และออกกำลังกาย ส่งผลดี คือ นอนหลับดี ความจำดี อารมณ์ดี
2. ออกซิโทซิน
คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว ส่งผลดี คือ เกิดความรักความผูกพัน เกิดขึ้นแล้วจะไม่ค่อยหายไป ข้อดีคือฮอร์โมนเกิดขึ้นแล้วจะอยู่ยาว
3. โดพามีน
คือการตั้งเป้าหมายและทำให้บรรลุเป้าหมายนั้น (ความสำเร็จ) ส่งผลดี คือ รู้สึกดีเมื่อทำสำเร็จตามเป้าหมาย ข้อเสียคือ ฮอร์โมนอยู่ไม่นาน และเกิดภาวะเสพติดได้
สรุปแบบง่ายๆ คือ “เซโรโทนิน = นอน, ออกซิโตซิน = สังคม, โดพามีน = งาน”
ศ.ดร.นภดล เล่าว่า โดยธรรมชาติ คนไทยจะมุ่งไปที่ ‘โดพามีน’ ก่อน แล้วก็ใส่เต็มกับงาน นอนก็ไม่นอน ความสัมพันธ์กับเพื่อนไม่มี เหวี่ยงใส่เพื่อนร่วมงาน ทะเลาะกับคนในครอบครัว ครอบบครัวแตก ทำให้ไม่ได้รับ ฮอร์โมน ‘เซโรโทนิน’ และ ‘ออกซิโทซิน’ อย่างเพียงพอ สุดท้ายงานพุ่ง แต่มันจะไม่ยั่งยืน และชีวิตพังในที่สุด
จริงๆ แล้ว ชีวิตเราควรเป็น ‘พีระมิดสามสุข’ ซึ่งชิ้นส่วนฐานด้านล่างที่เป็นความสุขที่แข็งแรงที่สุดคือ ‘เซโรโทนิน (นอน)’ หมายความว่าอันดับแรกเราต้องพักผ่อนให้เพียงพอก่อน หากพักผ่อนเพียงพอ อารมณ์เราจะมั่นคง ไม่เหวี่ยงกับคนรอบข้าง มีสังคม ซึ่งก็คือ ‘ออกซิโทซิน (สังคม)’ ชิ้นส่วนพีระมิดชั้นที่ 2 และสุดท้ายก็จะนำเราไปสู่ชิ้นสวดชั้นบน ซึ่งก็คือ ‘โดพามีน (งาน)’ ที่จะช่วยให้เราทำงานได้ดีเป็นผลลัพธ์สุดท้าย
การที่จะมีความสุขในชีวิตได้นั้น มันขึ้นอยู่กับว่า “เราโฟกัสเรื่องอะไร เราจะเห็นแต่เรื่องนั้น” เช่น เมื่อเราโฟกัสเรื่องความสุข เราก็จะมองเห็นความสุขได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าโฟกัสแต่ความทุกข์เราก็จะเห็นแต่ ความทุกข์ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเราแตกต่างกัน
ศ.ดร.นภดล ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่ชีวิตดีมาก โพสต์แต่สิ่งดีๆ ในโซเชียล กับคนที่ชีวิตแย่มาก โพสต์บ่นแต่เรื่องทุกข์บนโซเชียล จริงๆ แล้ว พวกเขาอาจจะมีความทุกข์ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน แต่คนหนึ่งกลับเลือกโฟกัสแต่ความทุกข์ จนลืมมองเห็นความสุขที่เข้ามาในชีวิตนั่นเอง
แน่นอนหลายอย่างในชีวิตราควบคุมไม่ได้ และเมื่อเราต้องอยู่กับมัน จึงอยากให้เราใช้วิธีง่าย แต่ได้ผลนั่นก็คือ ลองเขียนขอบคุณสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในงานอย่างน้อย 3 ข้อ ทุกคืนก่อนนอน ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แค่วันนี้ไปทำงานออฟฟิศ ‘กาแฟอร่อย’ หรือ ‘แอร์เย็นก็ได้’ แล้วเขียนมันทุกวัน เพื่อให้สมองเราไปจับกับความสุขได้ง่าย แล้ววันหนึ่งเราจะรู้สึกว่า ชีวิตเราก็ดีเหมือนกันนะ ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ๆ อย่างที่คิด นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้แข็งแรงอีกด้วย
สิ่งสำคัญคือลองมองความสุขให้เป็นแบบ ‘พีระมิดสามสุข’ ที่มี กิน นอน ออกกำลังกาย เป็นพื้นฐานสำคัญ แล้วจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง แล้วสุดท้ายเราจะทำงานได้สำเร็จผล ถ้าทำแบบนี้จะไม่ Burnout แน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง