svasdssvasds

"วิธีรับมือปัญหา" ลองมองในองศาที่ต่างออกไป อาจเห็นทางออกชัดขึ้น

"วิธีรับมือปัญหา" ลองมองในองศาที่ต่างออกไป อาจเห็นทางออกชัดขึ้น

เชื่อว่าโลกนี้คงไม่เคยมีใครไม่มีปัญหาในชีวิต ทุกคนล้วนแต่เคยเจอ เคยเผชิญกับปัญหากันทั้งนั้น น่าแปลกที่หลายคนกลับรับมือกับปัญหาได้ดี ปัญหาใหญ่ถูกมองเป็นปัญหาเล็กหรือบางทีเรามองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาแต่เพื่อนเรากลับไม่คิดว่าเป็นปัญหา

"วิธีรับมือปัญหา" เริ่มต้นที่ความคิดเรา 

ทัศนคติหรือมุมมองที่มีต่อปัญหาที่แตกต่างกัน มีที่มาจากหลายปัจจัย เช่น ประสบการณ์เดิมที่มีต่อเรื่องที่เกี่ยวข้อง การมองโลกในทางบวกหรือทางลบซึ่งเป็นทัศนคติที่มองโลกโดยรวม รวมถึงความขี้กังวลซึ่งเป็นพื้นบุคลิกภาพของแต่ละคน เป็นต้น

ไม่ว่าความแตกต่างของมุมมองที่เรามีต่อปัญหาจะเกิดจากอะไรก็ตาม แต่เราคงไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าเรื่องนี้มีผลต่อ "การแก้ปัญหา" อย่างแน่นอน ถ้าเรามองว่าปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย อุปสรรคเป็นเหมือนด่านในเกมที่เราต้องฝ่าข้ามไป เพื่ออัปเลเวลไปเล่นในระดับที่สูงขึ้น เราก็คงรู้สึกสนุกที่จะฝ่าฟันก้าวข้ามปัญหาหรืออุปสรรคนั้น

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีทัศนคติและมุมมองที่เป็นบวก เมื่อต้องเผชิญกับปัญหา และไม่ใช่ทุกปัญหาเราจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องท้าทายน่าสนุกเหมือนๆ กัน บทความนี้มีมุมมองให้เราเลือกมองปัญหาในองศาที่ต่างออกไป เพื่อช่วยให้เรามีกำลังใจในการรับมือกับปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

"วิธีรับมือปัญหา" เริ่มต้นที่ความคิดเรา 

วิธีรับมือปัญหา” ด้วยการมองปัญหาในองศาที่ต่างออกไป

  • แบบแรก : ปัญหาคือสิ่งที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในทางที่ไม่ดีนัก หรือการทำอะไรแล้วได้ผลลัพธ์ไม่เป็นที่พึงพอใจ

การคิดแบบนี้เท่ากับว่าเราสามารถลงมือทำอีกครั้งเพื่อสร้างผลลัพธ์ครั้งใหม่ หรือเรียนรู้จากความผิดพลาดครั้งเดิม ซึ่งการลงมือทำในครั้งถัดไปเราต้องทำต่างออกไปจากเดิม การหาวิธีใหม่ๆ มาจัดการเรื่องเดิมย่อมมีโอกาสสร้างผลลัพธ์ที่ต่างออกไป

เหมือนกับโทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ในตำนานที่ทดลองเปลี่ยนวัสดุทำไส้หลอดไฟไปเรื่อยๆ นับหมื่นชนิด จนพบว่าถ่านคาร์บอนที่ทำจากด้ายฝ้ายมีคุณสมบัตินำไฟฟ้าและทนความร้อนได้สูง ทำให้สามารถคิดค้นประดิษฐ์เป็นหลอดไฟที่เหมาะกับการใช้งานในบ้านเรือนทั่วไป กลายเป็นการปฎิวัติวิถีชีวิตของคนในสังคมช่วงปลายปี 1800

  • แบบที่สอง : ปัญหาคือโอกาสหรือช่องว่างให้เราสามารถพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่เกิดขึ้นให้ดียิ่งขึ้น

วิธีคิดแบบนี้เป็นแนวคิดพื้นฐานของกระบวนการปรับปรุงงานแบบ Continuous Improvement หรือ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งบริษัทรถยนต์โตโยต้าใช้ในกระบวนการผลิตรถยนต์มาหลายสิบปี

การคิดแบบนี้ช่วยให้เราไม่คิดว่าปัญหาเป็นทางตัน ไม่ได้เป็นจุดสิ้นสุด ปัญหาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้นหรือภาษากระบวนการปรับปรุงงานเรียกว่า Opportunity For Improvement (OFI) คือโอกาสสำหรับการปรับปรุงพัฒนาได้ดีขึ้น  

“วิธีรับมือปัญหา” ด้วยการมองปัญหาในองศาที่ต่างออกไป

หลีกเลี่ยงการติดกับดักการแก้ปัญหาด้วยความคุ้นเคย

นอกจาก Mindset หรือกรอบความคิดที่เรามีต่อปัญหาจะส่งผลต่อการแก้ปัญหาแล้ว คนส่วนใหญ่เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่เราคิด “วิธีรับมือปัญหา” ที่เร็วสุด คือ "จะรีบกระโดดลงไปแก้ปัญหา ตามความคุ้นเคย" เช่น ถ้าเราลืมหยิบกระเป๋าสตางค์มา หลายคนจะเลือกหยิบยืมเพื่อน โดยลืมนึกไปว่าเดี๋ยวนี้เราสามารถกดเงินจากตู้ ATM ผ่านการขอรหัสจากมือถือ เป็นต้น

หรือบางทีมีแนวทางแก้ปัญหาเยอะแยะเต็มไปหมด แต่เราก็คิดเอาทางที่ง่ายเข้าว่า เช่น คิวซื้อบัตรรถไฟฟ้ายาวมาก แต่ไม่อยากเสียเวลาต่อคิว เลยไปกดซื้อบัตรที่เครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ ปรากฎว่ารีบมากใช้แบงค์ร้อยซื้อบัตรราคา 16 บาท ได้เงินทอน 84 บาทเป็นเหรียญหลายแบบ ก็สร้างปัญหาใหม่ให้หนักกระเป๋าเล่น เป็นต้น 

ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นเป็นเรื่องขำๆ ที่เจอกันในชีวิตประจำวัน แต่หลายครั้งเราก็ใช้วิธีเดียวกันนี้กับเรื่องใหญ่ๆ และสำคัญในชีวิตด้วยเหมือนกัน เช่น ติดหนี้บัตรเครดิตใบแรก ก็ไปเปิดบัตรเครดิตใบที่สองมาใช้หนี้บัตรเครดิตใบแรก และเปิดบัตรใบที่ 3 ใบที่ 4  เพิ่ม เพื่อปิดหนี้บัตรใบก่อนหน้า ทำแบบเดิมซ้ำๆ จนสุดท้ายเป็นหนี้บัตรเครดิตนับสิบใบ

หลีกเลี่ยงการติดกับดักการแก้ปัญหาด้วยความคุ้นเคย

เพื่อหลีกเลี่ยงการติดกับดักการแก้ปัญหาด้วยความคุ้นเคยทำให้ปัญหาเดิมลุกลามใหญ่ขึ้น หรือปัญหาเดิมกลายเป็นปัญหาใหม่ที่ซับซ้อนกว่าเดิม เรามาดูไกด์ไลน์สำหรับการเลือกพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถเอาไปใช้ได้กันดีกว่าค่ะ

ปัญหาไม่ใช่ปัญหา แต่มุมมองที่มีคือ “ปัญหา” ของเรา

ทุกครั้งที่ต้องแก้ปัญหาสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวให้ลองใช้เช็กลิสต์ 2 ข้อต่อไปนี้ตรวจสอบดูว่าเราควรไปต่อกับแนวทางแก้ปัญหานี้หรือไม่

  • ใช้วิธีนี้ จะทำให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำหรือไม่
  • แก้ด้วยวิธีนี้แล้ว จะเกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมหรือเปล่า

เช็กลิสต์ “วิธีรับมือปัญหา” ควรไปต่อ หรือ พอแค่นี้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนในปัญหาการเงินที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยการยืมเงินเพื่อน แน่นอนว่าไม่ผ่านข้อแรก เพราะเดือนถัดไปยังใช้จ่ายเหมือนเดิม มีรายได้เท่าเดิม ปัญหาการเงินชักหน้าไม่ถึงหลังจะไม่หนีหายไปไหน การแก้ปัญหาแบบนี้ คือ "การแก้ปัญหาแล้วเกิดปัญหาเดิมซ้ำ"

ถ้าใช้บริการเงินด่วน เงินกู้ วิธีนี้จะทำให้เกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้น เพราะมีดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเข้ามาด้วย นอกจากเงินไม่พอใช้แล้วยังมีหนี้พร้อมดอกเบี้ยก้อนใหญ่เพิ่มปัญหาเข้ามาอีก แถมถ้าเป็นหนี้นอกระบบก็มีสิทธิ์เจอนักเลงตามทวงหนี้ได้อีก

ดังนั้นทั้งการยืมเงินเพื่อนและการกู้เงิน จึงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีสำหรับกรณีรายได้กับรายจ่ายไม่สมดุลกันอย่างแน่นอน การแก้ปัญหาแบบนี้มีแต่จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

แล้วแบบนี้จะมีวิธีจัดการกับปัญหา หาทางออกอย่างไรดี

แน่นอนว่ามีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการหางานพิเศษทำเพิ่ม ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาใหม่ก็ได้นะ เช่น เวลาพักผ่อนลดลงมีผลต่อสุขภาพ แต่แน่นอนว่าไม่เกิดปัญหาเดิมซ้ำ จนกระทั่งการตัดค่าใช้จ่ายบางรายการออก ซึ่งอาจจะทำให้เราต้องลดมาตรฐานการใช้ชีวิตประจำวันลง  ซึ่งการแก้ปัญหาแบบนี้อาจจะเกิดปัญหาใหม่เช่นกัน แต่ก็เป็นแค่เพียงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ไม่เป็นไปทางที่หวังไว้อีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น

“การแก้ปัญหาที่ดีคือแก้ให้ขาด ต้องไม่เกิดปัญหาเดิมซ้ำและต้องไม่เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม”

ไกด์ไลน์ที่ช่วยเราคัดกรองวิธีแก้ปัญหา 2 ข้อนี้จะช่วยเป็นแนวทางคร่าวๆ ให้เราไม่ติดกับดักวังวนการแก้ปัญหาเดิมซ้ำๆ หรือสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม

เหตุการณ์ที่ยกมานั้นเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยให้เราเห็นภาพที่ชัดเจน แต่ในชีวิตจริงหลายปัญหามีความซับซ้อนและมีเงื่อนไขที่ยุ่งยาก แต่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ยุ่งยากขนาดไหนต่างก็มีคาถาสำหรับการแก้ปัญหาแบบเดียวกันคือ

“การแก้ปัญหาที่ดีคือแก้ให้ขาด ต้องไม่เกิดปัญหาเดิมซ้ำและต้องไม่เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม” ถ้าวิธีนี้ยังแก้ไม่ได้ก็หาวิธีอื่นต่อไป ถ้าเราไม่ยึดหลักการนี้ในการพิจารณาวิธีแก้ปัญหา ใช้วิธีด้นสดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ  ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า จะเกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าเดิมไปเรื่อยๆ

หากเราไม่มี “วิธีรับมือปัญหา” ที่ดีพอ ก็จะทำให้เราหมดกำลังใจและหมดแรงไปกับแก้ปัญหา ในทางตรงกันข้ามถ้าเราแก้ปัญหาแล้วไปเจอปัญหาใหม่อย่างน้อยเราก็แก้ปัญหาเดิมได้ขาด เหมือนการเล่นเกมที่เราสามารถผ่านด่าน เอาชนะเกมนี้ไปได้ ทำให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นและพร้อมเจอกับด่านต่อไปที่มีอุปสรรคและความยากที่ต่างออกไปเท่านั้น

บทความ : เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบเม้ามอยเทคนิคและเคล็ดลับการทำงานผ่านตัวหนังสือ

ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

บทความอื่นที่น่าสนใจ

related