SHORT CUT
เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ นิทามอมตะของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) สร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กรการกุศลมากมายสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กรการกุศลมากมาย
ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) นักเขียนชาวเดนมาร์กมีผลงานชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ลูกเป็ดขี้เหร่ เงือกน้อย ราชินีหิมะ ฯลฯ ที่ล้วนมีตอนจบสวยงาม และให้แง่คิดกับชีวิต แต่ถ้าถามว่านิทานเรื่องไหนที่มีตอนจบแสนเศร้าที่สุด แต่ก็ยังทิ้งความประทับใจไว้ได้ เรื่องนั้นต้องเป็น “เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ” แน่นอน
“เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ” (The Little Match Girl) เป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของแอนเดอร์เซน นิทานเรื่องนี้เล่าถึงเด็กหญิงพยายามขายไม้ขีดไฟ แต่ไม่มีใครสนใจ ในหิวโหยและความหนาวเหน็บของช่วงสิ้นปี เธอจุดไม้ขีดไฟทีละก้านเพื่อให้ตัวเองอบอุ่น ทุกครั้งที่จุดไฟขึ้น เธอจะเห็นภาพสวยงามที่ทำให้เธอรู้สึกสุขใจ เช่น เตาผิงอันอบอุ่น อาหารมื้อใหญ่ และต้นคริสต์มาสที่สวยงาม ซึ่งล้วนเป็นความสุขที่คนยากจนแบบเธอไม่มีวันได้เอื้อมถึง
ในที่สุด เธอจุดไม้ขีดไฟอีกครั้งและเห็นภาพของคุณยายที่รัก ซึ่งเป็นคนเดียวที่เคยดูแลและรักเธออย่างแท้จริง เด็กหญิงจุดไม้ขีดไฟทั้งหมดเพื่อให้อยู่กับคุณยายให้นานที่สุด และในความฝันนั้น เธอและคุณยายได้ลอยขึ้นสู่สวรรค์ด้วยกัน
เช้าวันรุ่งขึ้น ผู้คนพบร่างไร้วิญญาณของเด็กหญิงที่นอนหนาวตายอยู่ในมุมหนึ่งของถนน แต่ใบหน้าของเธอกลับแสดงความสงบสุข ราวกับว่าเธอได้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากในโลกนี้แล้ว
ความโดดเด่นของนิทานเรื่องนี้อยู่ที่การสะท้อนความเป็นจริงของสังคมในยุคนั้น แอนเดอร์เซนใช้เรื่องราวของเด็กหญิงเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำและความยากจนใน ศตวรรษที่ 19 ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดช่องว่าง ระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่ม การใช้แรงงานและการหาประโยชน์จากเด็กมีแพร่หลายมาก และ ถนนในเดนมาร์กเต็มได้วยพ่อค้าแม่ค้าวัยรุ่นที่พยายามหาเลี้ยงชีพ
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นิทานเรื่องนี้เป็นที่จดจำคือการนำเสนอเรื่องราวที่ตรงไปตรงมา ไม่มีแม่มด ไม่มีตัวร้าย มีแต่ความจริงของชีวิตที่โหดร้าย แม้จะเป็นนิทานสำหรับเด็ก แต่แอนเดอร์เซนกลับเลือกที่จะเล่าถึงความทุกข์ยากและความตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบในนิทานทั่วไป ทำให้นิทานเรื่องนี้มีความลึกซึ้ง และช่วยกระตุ้นสังคมได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ “เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ” โดนวิจารณ์พุ่งเป้าไปที่ทำให้ความยากจนและความตายกลายถูกมองในแง่โรแมนติก ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก เพราะการนำเสนอความตายของเด็กหญิงคือการละทิ้งความทุกข์ยากเพื่อไปหาคุณยายบนสวรรค์ ราวกับแอนเดอร์เซนจะสนับสนุนให้คนยากจนจบชีวิตตัวเองแทนการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด
อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่ได้ถูกใจทุกคน ทว่าตั้งแต่ “เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ” ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1845 มันได้กลายเป็นเครื่องมือทรงพลังในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความยากจนและการใช้แรงงานเด็ก การบรรยายอย่างชัดเจนถึงความทุกข์ทรมานของเด็กในเรื่องนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กรการกุศลมากมาย
ในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแอนเดอร์เซน มีการจัดงานการกุศลประจำปีเพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กยากไร้ งานนี้เรียกว่า "วันเด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ" (Little Matchgirl Day) ซึ่งจัดต่อเนื่องมายาวนานกว่า 50 ปี งานนี้สะท้อนถึงผลกระทบที่ยั่งยืนของเรื่องราวดังกล่าว
สรุปแล้ว ถึงจะเป็นนิทานเด็กที่ดูไม่เด็ก แต่ “เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ” ได้สะท้อนให้เห็นความจริงอันโหดร้ายของสังคม ที่คนยากจนถูกละเลยและถูกมองว่าไร้ความหมาย แม้จะต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิต แต่พวกเขากลับไม่ได้รับโอกาสหรือความช่วยเหลือใด ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง