SHORT CUT
A Christmas Carol วรรณกรรมคลาสสิก ที่ให้แง่คิดข้ามกาลเวลา สะท้อนถึงความขี้งกของนายทุน แม้ในวันคริสต์มาส ต้องให้ผีมาสอน
ช่วงเทศกาลคริสต์มาส หรือช่วงเวลาใกล้สิ้นปี เป็นเวลาที่เราต่างมองหาความอบอุ่นและความสุข ไม่ว่าจะผ่านงานเฉลิมฉลอง งานดนตรี หรือในเรื่องราวต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีนี้มีสื่อความบันเทิงเกี่ยวกับคริสต์มาสมากมาย แต่อาจไม่มีเรื่องใดที่มีชื่อเสียง และเทียบเท่ากับ เรื่อง A Christmas Carol หรือชื่อไทยคือ ‘คืนปาฏิหาริย์วันคริสต์มาส’ ของ ‘ชาลส์ ดิกคินส์ (Charles Dicken) ’
วันที่ 19 ธันวาคม ปี 1843 เรื่อง “A Christmas Carol” ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรก และได้กลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของโลกในเวลาต่อมา ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวที รวมถึงภาพยนตร์หลายครั้ง เนื่องจากตัวเรื่องมีข้อคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตัวเองและการมีน้ำใจต่อผู้อื่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทศกาลคริสต์มาส
A Christmas Carol ถูกเขียนขึ้นในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ ผ่านตัวละครและเหตุการณ์ที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมในสังคม ชนชั้นแรงงานและคนยากจนต้องทำงานหนักในสภาพที่ย่ำแย่ ขณะที่ชนชั้นนายทุนมีเงินมากมาย ซึ่ง ‘เอเบเนเซอร์ สครูจ’ ตัวเอกของเรื่องก็คือหนึ่งนายทุนเหล่านั้น
เรื่องราวเล่าถึง ‘เอเบเนเซอร์ สครูจ’ นายธนาคารผู้มั่งคั่ง แต่เย็นชาและตระหนี่ถี่เหนียว เขาปฏิเสธคำเชิญไปฉลองคริสต์มาสจาก เฟรด หลานชายของเขา และปฏิบัติต่อพนักงานของเขา บ็อบ อย่างไร้ความเมตตา ยิ่งไปกว่านั้น สครูจยังเย้ยหยันผู้ที่มาขอความช่วยเหลือเขาในช่วงคริสต์มาสอีกด้วย
แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไป ค่ำคืนหนึ่ง สครูจถูกหลอกหลอนโดยวิญญาณของ มาร์ลีย์ หุ้นส่วนธุรกิจผู้ล่วงลับ และใช้ชีวิตหลังความตายอย่างทุกข์ทรมาน มาบอกเขาว่า คืนนั้น เขาจะต้องเจอวิญญาณ 3 ตน และเตือนให้เขาเปลี่ยนแปลงตนเองก่อนจะสายเกินไป
วิญญาณตนแรกปรากฏตัวในฐานะ ‘วิญญาณแห่งอดีต’ ซึ่งพาสครูจย้อนกลับไปเห็นวัยเด็กและวัยหนุ่มสาวของตนเอง เขาได้เห็นช่วงเวลาที่เคยมีความสุข ไปจนถึงความรักที่ล้มเหลวเพราะ ความโลภในทรัพย์สมบัติ ความทรงจำที่เจ็บปวดนั้น ทำให้สครูจเริ่มตระหนักถึงสิ่งที่เขาสูญเสียไป โดยเฉพาะภาพของคนรัก
ความทรงจำเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งที่เขาแทบจะทนไม่ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณของการต่อต้านตัวเอง เพราะสำหรับสครูจในปัจจุบันที่แตกต่างกับตัวเองในวัยเด็ก ทำให้เขาเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม แม้สครูจจะปฏิเสธอดีต แต่การมาเยือนของวิญญาณตนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการกะเทาะเปลือกที่แข็งกระด้างขั้นแรกออกไป
ตนถัดไป คือ ‘วิญญาณแห่งปัจจุบัน’ พาสครูจไปชมความสุขของผู้คนในวันคริสต์มาส โดย ครอบครัวของบ็อบ ลูกจ้างของเขา และเปรียบเสมือนชนชั้นแรงงานในวรรณกรรมเรื่องนี้ แต่ถึงแม้จะยากจน ครอบครัวของบ็อบกลับมีความอบอุ่นเต็มไปด้วยความรัก จึงทำให้สครูจเริ่มรู้สึกผิดที่เข้มงวดกับบ็อบเกินไป และเริ่มหันมามองความเลวร้ายของตัวเอง ที่ไม่มีเวลาให้กับครอบครัวเลยแม้แต่น้อย
สุดท้าย คือ ‘วิญญาณแห่งอนาคต’ ปรากฏตัวในรูปของเงามืด และพาสครูจไปเห็นภาพอนาคตที่น่ากลัว เขาเห็นการตายของตัวเขาเองอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครเสียใจ ซึ่งเป็นผลจากการใช้ชีวิตอย่างเห็นแก่ตัวและไร้ความเมตตา ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก่อนจะสายเกินไป
เรื่องราวทั้งหมด คือการบอกกลายๆ ว่า ความร่ำรวยทางวัตถุจะไร้ประโยชน์ เมื่อไม่มีความอบอุ่นทางจิตใจ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ใช้กับคนรอบข้าง เช้าวันถัดมาสครูจตื่นขึ้นด้วยความโล่งใจที่ยังมีชีวิตอยู่ และเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นผู้ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะการเพิ่มค่าจ้างให้ลูกจ้าง หรือแบ่งปันอาหารดีๆ ให้ผู้อื่น จนกลายเป็นคนรักคริสต์มาสในท้ายที่สุด
ดิกคินส์ ผู้เขียน A Christmas Carol ได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ของตัวเองในวัยเด็กที่ต้องทำงานในโรงงาน และต้องเห็นผู้เป็นพ่อถูกเข้าเรือนจำ เพราะไม่มีเงินชำระหนี้ ประสบการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็กของเขา จึงกระตุ้นให้เขาเขียนเรื่องราวที่เรียกร้องให้นายทุนทั้งหลาย ใช้ทรัพย์สินเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะในยุคที่ความเหลื่อมล้ำกำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง