ยุทธศาสตร์สร้าง “สุขภาพดี” ที่ต้องอาศัย 3 อย่างประสานกัน โดย ฐิติ สิหนาทกถากุล ประธานบริหาร บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน "Health & Wealth Forum : สร้างสุขก่อนสูงวัย อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี"
ฐิติ สิหนาทกถากุล ประธานบริหาร บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของ ไทยนครินทร์ โรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ที่อยู่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกว่า พื้นที่นี้ยังมีความต้องการด้านการดูแลและรักษาสุขภาพอีกมาก กอปรกับความแออัดของโรงพยาบาลรัฐที่ไม่เพียงพอ และบางโรคต้องเสียค่ารักษาพยาบาลสูงมาก ไทยนครินทร์จึงเปิดศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อการดูแลควบคู่กับการรักษา ด้วยหวังให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีสุขภาพดี
สำหรับการดูแล ป้องกัน และรักษาสุขภาพ SPRiNG สรุปประเด็นจากสิ่งที่ ฐิติ สิหนาทกถากุล กล่าวเอาไว้ว่า นอกจากการดูแลตัวเองแล้ว ต้องมี 3 ข้อประสานกัน ได้แก่
ด้านแรก เทคโนโลยีที่ทันสมัย ฐิติยกตัวอย่าง Digital Mammogram with Tomosynthesis (3DMMG) เครื่องถ่ายภาพเอ็กซเรย์เต้านม 3 มิติ โดยใช้เวลาถ่ายภาพ 10 วินาที ตรวจภายในเต้านมได้อย่างละเอียด ทั้งสามารถดูความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในอนาคตด้วยการคัดกรองมะเร็งระยะ 0 การตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรก ตลอดจนแนวโน้มของผู้เข้ารับบริการตรวจว่า มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งในอนาคตหรือไม่
ในด้านทีมแพทย์และพยาบาล ทางโรงพยาบาลมีบุคลากรที่มีความพร้อมในด้านการดูแลรักษาโรคกลุ่มต่างๆ กว่า 95% ดังนั้น การมีเทคโนโลยีเพียบพร้อม ภายใต้การทำงานของแพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ ช่วยให้การตรวจและป้องกันโรคทำได้เร็วขึ้น และทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวได้ดีกว่า เข้ารับการรักษาหลังจากพบอาการป่วยแล้ว
และสุดท้าย ในด้านศูนย์รักษา ไทยนครินทร์เปิดศูนย์รักษาเฉพาะทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนทุกคน โดยล่าสุดประกาศว่าลงทุน 250 ล้านบาท เปิด ศูนย์รังสีรักษา (Linac Center) เพื่อรักษามะเร็ง โรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากเป็นอันดับๆ ต้นของประเทศ
....................................................................................
อ่านคอนเทนต์อื่นๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยจากงานเดียวกันนี้
....................................................................................
เนื่องจาก มะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันมี 3 วิธีรักษา ได้แก่ การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และการใช้รังสี แต่วิธีสุดท้าย ผู้ป่วยอาจเข้ารับการรักษาไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง จึงเพิ่มทางเลือกให้ผู้ป่วยเพื่อลดความแออัดจากการไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐด้วยบริการทางการแพทย์ในราคาที่ไม่สูงเกินไป
"การรักษามะเร็งด้วยการใช้รังสี ค่อนข้างใช้เงินสูงมาก ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้านนี้อาจรักษาได้ไม่ต่อเนื่อง เราจึงใช้งบลงทุน 250 ล้านบาท เพื่อตั้ง ศูนย์รังสีรักษา ขึ้น เป็นบริการทางเลือกให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งพร้อมจะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 นี้"
ปัจจุบัน ไทยนครินทร์ มีบริการแพทย์เฉพาะทางถึง 30 ศูนย์ และยังสามารถทำเคสที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ เช่น กระดูกทับเส้นประสาท ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน ทำเคสยากๆ อย่าง การรักษาข้อเข่าด้วยกล้องส่องผ่าตัด หรือ การเปลี่ยนไต ที่ไม่นานมานี้ โรงพยาบาลได้รับอนุญาตจากสภากาชาดไทย ให้เป็นศูนย์ดำเนินการเปลี่ยนไตและดูแลไตวายเรื้อรัง
และอีกสิ่งสำคัญของการมีสุขภาพดี คือ การดูแล สุขภาพกาย ที่ต้องมาคู่กับ สุขภาพใจ โดยไทยนคริทร์เปิด Wellness Center หรือ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพองค์รวม ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเพื่อให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังฟื้นตัวในระยะหลังการผ่าตัด ทั้งนี้ สิ่งที่โรงพยาบาลเน้นให้ความสำคัญคือ การดูแลเรื่องอาหาร โภชนาการ วิตามิน และได้รับการตอบรับค่อนข้างดีโดยเฉพาะช่วงโควิด-19
“เราต้องพยายามดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ต้องขยันออกกำลังกาย ขณะเดียวกัน การใช้งบประมาณพัฒนาระบบสาธารณสุข เพื่อให้คนไทยเข้าถึงได้มากขึ้น นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐผลิตบุคลากรออกมาช่วยประเทศเพื่อป้องกันโรคภัยและให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น” ฐิติ สิหนาทกถากุล กล่าวปิดท้าย
....................................................................................
ที่มา