ศ.คลินิก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี เผยแนวทางตรวจตาที่กำลังพัฒนาให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น "Health & Wealth Forum : สร้างสุขก่อนสูงวัย อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี" หัวข้อ “คนไทย” ทำอย่างไร ให้อยู่ดี สุขภาพดี การเงินดี
ศ.คลินิก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี เกริ่นในงานสัมมนาว่า คนไทยยังขาดความตระหนักรู้เรื่อง "การดูแลสายตา" เพราะบางคนมองว่า เมื่ออายุมากขึ้น การมีปัญหาสายตานั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ
ในความเป็นจริง เราสามารถดูแลสายตาตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนในวัย 50-60 ปี ยิ่งต้องตรวจ เพราะบางคนอาจมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อดวงตา
แต่ก็ใช่ว่า คนไทยทุกคนจะเข้าถึงการตรวจ ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยเบาหวานในพื้นที่ต่างจังหวัด มีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการอ่านภาพ เพื่อดูผลการตรวจตาเบื้องต้นในระดับหนึ่ง พบว่าจากการฝึกฝนมีความแม่นยำ 85% เมื่อเทียบกับจักษุแพทย์ แต่จะต้องมีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องทุกปี
ในวงการแพทย์จึงหันมาใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อการตรวจรักษาและป้องกันในหลากหลายด้าน และทางโรงพยาบาลราชวิถีก็นำ AI มาทำวิจัยด้านการตรวจตาโดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้จะสามารถใช้ AI ช่วยอ่านภาพดวงตาของผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา โดยพบว่าการใช้ AI ตรวจมีความแม่นยำ 95% ซึ่งมากกว่าบุคลากรที่เข้ารับการอบรมทั่วไป
.....................................................................................
อ่านคอนเทนต์อื่นๆ จากงานเดียวกันนี้
.....................................................................................
นอกจากพบโรคต้อกระจกมากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ ยังมี ภาวะเสื่อมภายในดวงตา ที่เรียกสั้นๆ ว่า จุดภาพชัดเสื่อม กับ จุดภาพชัดบวม อาการก็คือ มองเห็นภาพเบี้ยว เห็นสีไม่ชัดเจน แต่เรื่องที่ซีเรียสคือ เห็นไม่ชัด และผู้สูงวัยมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็น เพราะอยู่ดีๆ ก็สามารถเป็นได้เลย ต่างจากต้อกระจกที่มีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป
วิธีตรวจรักษาก็จะตรวจโดยใช้ ตารางกริด (Grid) ซึ่งมีในคลินิกทุกแห่ง โดยให้จ้องที่จุดดำตรงกลาง ดูว่าเส้นตารางขาดหรือไม่ขาด หรือเป็นปกติ หากพบว่าบิดเบี้ยวหรือไม่ชัด ผู้มีปัญหาสายตาก็จะได้กริดกลับไปมอนิเตอร์ที่บ้าน
ในเรื่องการตรวจและช่วยดูแลปัญหาสายตาของคนไทยนั้น ศ.คลินิก นพ.ไพศาลบอกว่า กระทรวงสาธารณสุขมีโครงการด้านสายตาที่หลากหลาย เช่น โครงการคัดกรองต้อกระจก โครงการเด็กไทยสายตาดี โครงการคัดกรองเบาหวาน
“เรื่องเบาหวานมีโครงการเอากล้องไปสกรีนคนไข้ คนที่เป็นเบาหวานในไทยเยอะ เเละเสี่ยงเบาหวานขึ้นตา เเต่มี 3 ปัจจัยหลักที่จะทำให้เบาหวานขึ้นตาช้าลง คือ ต้องคุมน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด เเละความดันเลือด ถ้าคุมได้ โอกาสเบาหวานขึ้นตาน้อยลง" ภาวะเสื่อมภายในดวงตา จุดภาพชัดเสื่อม เป็นโปรตีน เป็นเส้นเลือด เกือบ 20,000 คน กับ จุดภาพชัดบวม มากกว่า 500,000 คนต่อปี ปีนึงมีประมาณ 4-5 ล้านคน" ศ.คลินิก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี
สำหรับประเทศไทยมีการแบ่งเขตสุขภาพ 13 เขต โดยจักษุแพทย์ในแต่ละเขตมาจะรวมกันเพื่อประชุมทุก 3-4 เดือน เพื่อวางแผน ตรวจสอบ ปรับปรุง แผนการดำเนินงานอยู่ตลอดเวลา และมีการหารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงการดูแลและให้บริการแก่ประชาชนที่ดีขึ้น เช่น โครงการใช้ AI อ่านภาพเบาหวานขึ้นตา ซึ่งจะช่วยสกรีนโรคได้ดีขึ้นในอนาคต
.....................................................................................
ที่มา : รพ.ราชวิถี สุดล้ำเตรียมนำ AI ช่วยอ่านภาพดวงตาผู้ป่วยเบาหวาน