ปลาทูไทยใกล้สูญพันธุ์แล้ว ที่กินกันอยู่เป็นปลาทูนอก! รู้หรือไม่ 90% ของปลาทูที่พบในตลาดไทย เป็นปลาทูนำเข้าจากต่างประเทศ ปลาทูไทยหายไปจากทะเลไทยตั้งแต่เมื่อไหร่?
ปลาทู วัตถุดิบทะเลคู่ครัวไทย ไม่ว่าจะภาคไหนก็กินปลาทูทั้งนั้น อยู่เหนือก็กินได้ อยู่ใต้ก็กินดี อีสานหรือตะวันตกก็กินปลาทู ปลาทูตัวโต ๆ สร้างคุณค่าทางโภชนาการ และเศรษฐกิจไทยได้มากมหาศาลมานานแล้ว แต่เชื่อไหมว่า ปลาทูในทะเลของเราแทบจะไม่เหลือแล้ว และเรากำลังทานปลาทูนำเข้ากันอยู่
ปลาทูในทะเลไทยมีอยู่ 3 สายพันธุ์ ซึ่งเชื่อว่า หลายคนที่กินปลาทู คงแยกไม่ออก ว่าปลาทูแต่ละสายพันธุ์ต่างกันอย่างไร เพราะรูปร่างหน้าตา ก็เหมือนกันไปซะหมด
ปลาทูในไทย เป็นชนิดของปลาทู Rastrelliger ปลาทะเลในวงศ์ของ Scombridea เป็นวงศ์เดียวกับปลาโอ ปลาอินทรีย์และปลาทูน่า โดย 3 ตัวหลัก ๆ ที่จะพบได้ในทะเลไทยคือ
ปลาทูไทยแท้ คือ ปลาทู Short Mackerel หรือ ปลาทูแม่กลองที่เรารู้จักกันดี เป็นปลาทูเชื้อสายไทยแท้ ไม่มีเชื้อจีนหรือแขกปนมาเลย เกิดที่อ่าวไทยและตายที่อ่าวไทย และปลาสายพันธุ์ Short Mackerel พบไม่บ่อยในภูมิภาคอื่น ๆ แต่จะพบได้มากในทะเลไทย จึงถือได้ว่าเป็นปลาทูพันธุ์ไทย
เมื่อก่อนหลายคนเชื่อว่า ปลาทูที่จับได้ในอ่าวไทย เดินทางไกลมาจากเกาะไหหลำ แต่การศึกษาในปัจจุบันพบว่า มีปลาทูเกิดในอ่าวไทยจริง ๆ โดยจะอาศัยอยู่บริเวณใกล้ชายฝั่ง มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูง บริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำ ตั้งแต่ชายฝั่งไปจนถึงระดับความลึก 200 เมตร
ข้อมูลจากโครงการปลาทูคู่ครัวไทย ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากกรมประมง จัดทำขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ตั้งแต่ปี 2558 ปริมาณการจับปลาทูในไทยลดลงไปแล้วถึง 90% นั่นหมายความว่า ปลาทูที่เราเห็นตามท้องตลาดในปัจจุบัน เป็นปลาทูนำเข้าจากต่างประเทศ
จากแผนภาพกราฟดังกล่าว จะเห็นว่า ปริมาณการจับปลาทูในประเทศแต่ละปี (กราฟสีส้ม) ลดน้อยลงทุกปี ส่วนปริมาณการนำเข้าปลาทู (กราฟสีเทา) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และปริมาณการส่งออกปลาทูแทบจะอยู่ในปริมาณที่ต่ำคงที่ตลอด 8 ปี ส่วนปริมาณการบริโภคปลาทูในประเทศช่วงปี 2556-2563 มีปริมาณสูงกว่าปริมาณปลาทูที่จับได้ภายในประเทศ
ตามที่ได้เกริ่นไปข้างต้นว่า ปัจจุบัน กว่า 90% ของปลาทูในตลาดไทยเป็นปลาทูนอก หรือปลาทูที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โครงการปลาทูคู่ครัวไทย เผยว่า ประเทศไทยมีแหล่งนำเข้าปลาทูสำคัญราว ๆ 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย เมียนมา จีน ปากีสถาน โอมาน มาเลเซีย เยเมน เวียดนาม อิหร่าน และประเทศอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาปลาทูในประเทศ เมื่อมีการนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศ สถิติในช่วงปี 2558-2563 พบว่า ในช่วงที่มีการนำเข้าปลาทูเพิ่มขึ้นและมีอุปทานรวมเพิ่มขึ้น ราคาปลาทูในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะคงตัว ในช่วงที่มีการนำเข้าปลาทูลดลงและมีอุปทานลดลง ราคาปลาทูในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเพิ่มขึ้น
สรุปได้ว่า การนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศ เป็นส่วนใหญ่ของปลาทูในตลาดไทย และมีส่วนที่จะส่งผลต่ออุปทานของปลาทู หากสามารถนำเข้าปลาทูน้อยลงหรือไม่สามารถนำเข้าปลาทูได้เลย จะส่งผลให้ราคาปลาทูในประเทศสูงขึ้น
ข้อมูลจากนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เผยว่า สาเหตุที่ปลาทูในไทยขาดแคลน เป็นเพราะทะเลไทยเหลือปลาทูน้อยมาก มีประชากรไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมประมง จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการจะหันไปหาปลาทูต่างประเทศ เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค สาเหตุทะเลไทยขาดแคลนปลาทูมีหลากหลายปัจจัยที่หลายภาคส่วนได้วิเคราะห์ไว้
ปัจจัยที่ 1 การประมงเกินขนาด (Overfishing) ข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประเทศไทย และการศึกษาเกี่ยวกับปลาทะเลเผยว่า ปลาทูในทะเลไทยมีการจับขึ้นมามากเกินไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลาในธรรมชาติให้ลดน้อยลง
ปัจจัยที่ 2 ใช้อวนไม่เหมาะสมกับสัตว์น้ำ ทำให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อนติดอวนมาด้วย ปัจจุบันเรือประมงส่วนใหญ่จะใช้ช่องตาอวนที่มีขนาดแตกต่างกันไปตามเป้าหมายของสัตว์น้ำที่ต้องการจะจับ ซึ่งเรือบางลำ ใช้อวนตาถี่ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ บวกกับการประมงเกินขนาดข้างต้น ทำให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อนติดอวนขึ้นมาด้วย หรือก็คือลูกปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย ยังไม่พร้อมที่จะให้เราบริโภค กลุ่มประมงหลายท่านให้สัมภาษณ์ ปัจจุบันจะเห็นลูกปลาตัวเล็ก ๆ ตากแห้งขายจำนวนมาก นั่นคือหลักฐานที่ว่า เรากำลังกินลูกปลากันอยู่ ซึ่งมันมักติดอวนใหญ่ขึ้นมา
เมื่อสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับขึ้นมามากเกินไป จะส่งผลต่อระบบนิเวศในทะเลให้เปลี่ยนแปลง เช่น อัตราการเพิ่มประชากรปลาจะลดลง เพราะลูกปลาไม่ทันได้โตก็ถูกจับกินไปซะก่อน โดยเฉพาะปลาทู
ปัจจัยที่ 3 คือการจับสัตว์น้ำขึ้นมาอย่างเดียวโดยไม่มีแนวทางอนุรักษ์ รวมไปถึงมลพิษทางน้ำที่ทำให้ปลาหายไป จากการสัมภาษณ์ชาวประมงหลายคนในพื้นที่อ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีการทำประมงปลาทู แต่ปัจจุบัน ไม่ค่อยมีแล้ว ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่า ปลาหายไปเพราะส่วนหนึ่ง ไม่เคยรู้ถึงวิธีการอนุรักษ์ เน้นแต่จับขึ้นมาขายอย่างเดียว ลูกปลาก็จับขึ้นมาทำให้เติบโตไม่ทัน และทะเลก็ไม่มีปลาให้จับเลย แต่ปัจจุบัน พอเริ่มใช้วิธีการอนุรักษ์ด้วยการทำบ้านปลาเทียม ปลาก็เริ่มกลับมา ผสมกับการใช้อวนช่องตาขนาดใหญ่เพื่อเลือกจับแต่สัตว์น้ำโตเต็มวัย ก็เริ่มทำให้การประมงเริ่มกลับมาครึกครื้น
นอกจากนี้อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่คาดว่า ส่งผลต่อการหายไปของปลาทู เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิของน้ำทะเลที่เปลี่ยนไปและการเคลื่อนตัวของกระแสน้ำ ทำให้การอพยพและการหาที่อยู่อาศัยของปลาทูปั่นป่วนหรือมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรืออาจเป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่ยังไม่เข้มแข็งพอ ยังมีการละเมิดในหลายพื้นที่ทำให้มาตรการฟื้นฟูเป็นไปได้ยาก
ที่มาข้อมูล
การลงพื้นที่สัมภาษณ์
เล่มวิจัย โครงการปลาทูคู่ไทย รวบรวมข้อมูลจากกรมประมงโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย