ากจักรยานหลากสี สวนผักปลอดสาร ไปจนถึงอาคารพลังงานสะอาด Google ออกแบบสำนักงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพนักงานมากที่สุด ทั้งลดมลพิษ ประหยัดพลังงาน และสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี เทรนด์นี้ออฟฟิศไทยทำตามได้หรือไม่? มาดูกัน
ออฟฟิศที่คุณกำลังทำงานกันอยู่มีสภาพแวดล้อมเป็นยังไง ผู้คนปฏิบัติต่อกันยังไง อาหารอร่อยถูกปากไหม งานหนักไหม แอร์เย็นไปหรือเปล่า กิจกรรมช่วงพักเที่ยงมีไหม เจ้านายลงมาพูดคุยด้วยบ่อยไหม หรือวัน ๆ แทบไม่ได้คุยกับใครเลย
ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ล้วนมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานแทบทั้งสิ้น และเทรนด์ที่กำลังมาแรงมาก ๆ ในตอนนี้ก็คือการเปลี่ยน “ออฟฟิศให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด” กล่าวคือ พนักงานต้องมีมุมรับแสงแดด มีสีเขียวให้พักสายตา ฯลฯ
SPRiNG จึงถือโอกาสเหมาะ ๆ พาไปดูตัวอย่างจาก “Google” บริษัทที่ได้ชื่อว่ามีออฟฟิศน่าทำงานมากที่สุด นอกจากจะอุดมไปด้วยคนเก่ง ๆ แล้ว น่าค้นหาเหลือเกินว่าบริษัทเทคฯ ใหญ่ระดับ 56 ล้านล้านบาท จะมีนโยบายสร้างออฟฟิศให้ eco-friendly ยังไงบ้าง?
อย่างเพิ่งมองบน เข้าใจว่ามนุษย์ออฟฟิศในเมืองไทยนั้นการจะปั่นจักรยานไปทำงานคือทางเลือกสุดท้ายที่จะทำ แต่รู้ไหมว่า Google มีนโยบายนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว แถมพนักงานก็ชื่นชอบมาก ๆ ด้วย
ผายมือให้คุณรู้จักสำนักงานใหญ่ Google ที่เมาน์เทนวิว (Mountain view) รัฐแคลิฟอร์เนีย นี่เป็นหนึ่งในสำนักงานใหญ่ที่สุดในประเทศ มีเนื้อที่ 3.1 ล้านตารางฟุต และมีตึกสำนักงานหลายสิบหลัง ด้วยเนื้อที่ขนาดนี้ ถ้าไม่มีรถล่ะก็ นรกดี ๆ นี่เอง
Google กลัวพนักงานจะแข็งแรงเกินไป จึงมี “จักรยานหลากสี” ชื่อว่า “Gbike” จอดไว้ให้พนักงานจำนวน 1,1000 คัน ซึ่งสีก็อิงมาจากโลโกของ Google นั่นเอง และที่สำคัญฟรี จอดปั่นไปไหนก็ได้ กลับบ้านพักก็ได้
เรื่องตลกที่ขำไม่ออกก็คือ Google อธิบายว่าจักรยานหลากสีที่คอยให้บริการพนักงานมักถูกขโมยอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเมื่อสืบไปแล้วก็พบว่าไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมาน์เทนวิว ได้ไปแล้วก็ไปพ่นเป็นสีอื่นกลบเกลื่อนหลักฐาน
ข้อที่ 1 พอจินตนาการว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทยได้ไหม...ถ้ายังไปต่อกันที่ข้อ 2
ข้อมูลจาก Business Insider เปิดเผยว่า สำนักงานใหญ่ของ Google กว่า 25 แห่งทั่วโลก แบ่งพื้นที่ไว้ส่วนหนึ่งสำหรับปลูกผัก และทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รอบ ๆ สำนักงาน หรือบนดาดฟ้า การันตีความสด ไร้สารพิษ
เมื่อผักเจริญเติบโตพร้อมรับประทานแล้ว บรรดาพ่อครัวแม่ครัวก็จะเก็บเกี่ยว จากนั้นนำมาปรุงเป็นอาหารเลิศรสไว้ที่โรงอาหารให้พนักงาน Google โดยผักส่วนใหญ่ที่ปลูกคือ มะเขือเทศ กะหล่ำ บรอกโคลี คะน้า ถั่ว ซึ่งล้วนเป็นผักยอดฮิตทั้งสิ้น
ข้อที่ 2 นี้อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับออฟฟิศเมืองไทย เพราะส่วนใหญ่ก็แยกกันกิน เอาแค่สัดส่วนคนที่ห่ออาหารมากินเองก็น้อยพอสมควร แต่ถ้าเป็นข้อ 3 ล่ะพอทำได้ไหม
พูดแบบภาษาปากคือ Google ซื้อผักช้ำจากตลาดสดมาปรุงเป็นอาหารเลิศรสให้กับพนักงาน เพราะบริษัทเล็งเห็นว่าผักผลไม้เหล่านี้ถูกทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพียงแค่มันแหว่งนิด ใบขาดหน่อยเท่านั้นเอง
Google ทำแบบนี้เรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2018 บริษัทออกมาเปิดเผยว่า ได้ซื้อผักผลไม้ที่ไม่สมบูรณ์แบบจากตลาดสดรวมกันแล้วกว่า 1 ล้านปอนด์ ที่สำคัญคือ แทบไม่มีพนักงานออกมาเรียกร้องเลยว่าบริษัทใช้ของไม่สด หรือผักช้ำ ทุกคนเอนจอยกับอาหารกันพอสมควร
ข้อที่ 2 นี้พอจะทำได้ไหม มีสักกี่บริษัทกันเชียวที่มีสวัสดิการอาหารฟรีให้กับพนักงาน บริษัทใครมีแสดงตัวกันหน่อย
เหตุผลง่าย ๆ ของนโยบายนี้คือ ลดมลพิษบนท้องถนน ข้อมูลระบุว่า สำนักงาน Google ที่เมานท์เทนวิว รัฐแคลิฟอร์เนีย มีนโยบายนี้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ทำตามได้ง่ายมากที่สุด และในเมืองไทยก็มีหลายบริษัทที่มีนโยบายนี้
สำนักงาน Google ที่เมานท์เทนวิว มีพนักงานประมาณ 4,000 คน สถิติพบว่า พนักงาน 1 ใน 3 ขึ้นรถรับส่งของบริษัทไปทำงานเป็นประจำ คำถามก็คือ มันลดมลพิษได้จริงไหม?
พลิกไปดูข้อมูลพบว่า บริการรถรับส่งพนักงานช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 40,000 เมตริกตันต่อปี เทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกจากท้องถนน 8,760 คันทุกวันเลยทีเดียว
มีคน มีอาหาร ย่อมมีขยะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้ามีการจัดการที่ดี ขยะก็ไม่ใช่ปัญหาที่ชวนปวดหัว บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google จะมาใช้คนนั่งคำนวณเศษอาหารให้เสียคุณค่าเวลาอยู่ทำไม บริษัทใช้โซลูชันที่ชื่อว่า “Leanpath”
ต้องบอกว่าโซลูชัน Leanpath ค่อนข้างเป็นที่นิยมพอสมควร โดยปัจจุบันมีการนำโซลูชันจัดการขยะอาหารไปใช้ในเชิงพาณิชย์แล้วมากกว่า 4,500 แห่งทั่วโลก รวมทั้ง Google ด้วย
สิ่งที่ Leanpath ทำก็คือคอยจับภาพ/วิดีโอการทิ้งขยะลงถัง การปรุงอาหาร ระบบชั่งตวง ชั่งน้ำหนักของอาหารเหลือทิ้ง ทั้งยังมีแอปพลิเคชันให้พนักงานสามารถกรอกข้อมูล (เชิงลึก) เพิ่มเติมได้
Google เริ่มใช้โซลูชันของ Leanpath มาตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน บริษัทเปิดเผยว่าสามารถหลีกเลี่ยงขยะอาหารได้มากกว่า 6 ล้านปอนด์เลยทีเดียว
ส่วนใหญ่เมืองไทยยังไม่อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงมาที่ทำงาน แต่ถ้าคุณเป็นพนักงาน Google คุณสามารถพาสัตว์เลี้ยงมาได้ หมา แมว ฯลฯ ทั้งนี้ ภายในสำนักงานใหญ่หลาย ๆ แห่งยังมีที่พักสำหรับสัตว์ โปรแกรมบำบัดสัตว์เลี้ยงของพนักงานด้วย
จริง ๆ Google มีสัตว์เลี้ยงมาป้วนเปี้ยนมาตั้งแต่ปี 1999 แล้ว น้องเป็นสุนัขสายพันธุ์ Leonberger ชื่อว่า Yoshka ว่ากันว่านับตั้งแต่นั้นมา Google ก็เป็นองค์กรที่โอบรับสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างดี
มีเรื่องเล่าชวนท้องแข็งว่า เมื่อปี 2012 มีจระเข้หลุดเข้ามาที่ศูนย์ข้อมูลในรัฐเซาท์แคโรไลนา แต่แทนที่จะโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้พามันออกไป Google กลับอนุญาตให้จระเข้ตัวนั้นอยู่ในบ่อน้ำต่อไป และเฝ้าดูมันเติบโต จากตัวเล็กแค่ 4 ฟุต มันโตขึ้นถึง 10 ฟุต และทุกคนรู้จักกันในชื่อ “อัลลี่”
มีเรื่องเล่ามากมาย หากจะพูดกันถึงการออกแบบสำนักงานของ Google SPRiNG จึงขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันชัด ๆ ไปเลย สาเหตุที่ทิ้งข้อนี้ไว้สุดท้ายคือ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด และใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่มาดูกันว่าเราสามารถเรียนรู้อะไรจาก Google ได้
ออฟฟิศ: เบย์ วิว (Bay View)
ที่ตั้ง: แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา
พนักงาน: 4,000 คน
ออฟฟิศ “เบย์ วิว” มีพื้นที่ใช้สอยราว 107 ไร่ ตั้งอยู่ที่เมาน์เทนวิว (Mountain View) รัฐแคลิฟอร์เนีย รองรับพนักงานได้ 4,000 คน โดยมีอาคารหลัก 3 แห่ง ได้แก่ อาคารสำนักงาน, พื้นที่จัดอีเวนต์, ที่พักพนักงาน
จุดเด่นหลัก ๆ ของ “เบย์ วิว" คือใช้พลังงานสะอาดและงานออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายในอาคารจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดทั้งหมด โดยบนหลังคาที่มีลักษณะเป็นเกล็ดนั้นประกอบขึ้นจากแผงโซลาร์เซลล์ 90,000 แผง
ด้วยจำนวนนั้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 7 เมกะวัตต์ หรือมากถึง 40% ของความต้องการใช้งานของสำนักงานแห่งนี้ รวมถึงยังออกแบบมาให้ทำมุมรับน้ำฝน เพื่อรองเก็บมาใช้เป็นการหมุนเวียนน้ำอีกด้วย
อีกหนึ่งจุดเด่นคือ Google ออกแบบตึกสำนักงานให้มีความโปล่งโล่ง เปิดรับแสงธรรมชาติ พนักงานต้องได้เห็นสีเขียวขจี มีม่านบังสายตาแบบอัตโนมัติ
นอกจากนี้ ระบบเสาเข็มความร้อนใต้พิภพ (geothermal pile system) เพื่อดูดซับความร้อนจากพื้นดินในช่วงฤดูหนาว และส่งความร้อนลงสู่พื้นดินในฤดูร้อน ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิความได้ โดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และยังช่วยลดปริมาณน้ำ ที่ใช้ในกระบวนการทำความเย็นลงถึง 90 %
ที่มา: Business Insider, bicycling, Indiatoday
ข่าวที่เกี่ยวข้อง