SHORT CUT
ล่าสุด ครม. ไฟเขียว! ยกเลิกมติ เปิดทางส่งออก "งูสวยงาม" สร้างรายได้เข้าประเทศ ส่วนพาณิชย์ ลุย ส่ง “ปลาสวยงาม” ลุยจีน
สำหรับความต้องการของตลาด คนหนุ่มสาวชาวจีนนิยมเลี้ยงปลาสวยงามขนาดเล็ก และจะนิยมเลี้ยงปลาสวยงามบนโต๊ะทำงาน
ไทยเร่งบูมส่งออก "สัตว์เศรษฐกิจ" ล่าสุด ครม. ไฟเขียว! ยกเลิกมติ เปิดทางส่งออก "งูสวยงาม" สร้างรายได้เข้าประเทศ ส่วน พาณิชย์ ลุย ส่งออก “ปลาสวยงาม” ไปจีน
ปีหนึ่งๆไทยส่งออกสินค้าออกไปจำหน่ายยังตลาดโลกจำหน่ายมหาศาล โดย เฉพาะสัตว์เศรษฐกิจนับว่าเป็นสินค้าที่ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมหาศาล และไทยยังคงเดินหน้าเร่งส่งเสริมสัตว์เศรษฐกิจต่อเนื่อง ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติสำคัญเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้ยกเลิกมติ ครม. เดิมเมื่อปี 2533 และ 2534 ที่ห้ามการส่งออกงูมีชีวิตและหนังงูที่ยังไม่แปรรูปออกนอกราชอาณาจักร นับเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดที่บังคับใช้มากว่า 30 ปี เพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ
ทั้งนี้การยกเลิกมติดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลดีหลายด้าน ทั้งการสร้างรายได้เข้าประเทศจากการส่งออก, การสนับสนุนธุรกิจเพาะเลี้ยงงูสวยงามให้กับประชาชนผู้ประกอบการ, และที่สำคัญคือการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำงูมีชีวิตออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งการเปิดให้ส่งออกอย่างถูกกฎหมายภายใต้การกำกับดูแล จะช่วยลดแรงจูงใจในการกระทำผิดได้
โดยเพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่า ปัจจุบันการซื้อขายงูสวยงามภายในประเทศมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 275 ล้านบาท/ปี คาดว่ามูลค่าการส่งออกงูสวยงามอาจสูงถึง 275 ล้านบาท/ปี ซึ่งเทียบเคียงกับมูลค่าการซื้อขายงูสวยงามภายในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีมูลค่าธุรกิจที่สืบเนื่องจากงูสวยงาม ซึ่งทำให้เกิดเงินหมุนเวียนภายในประเทศ เช่น ธุรกิจการผลิตสัตว์อาหารงู ไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท/ปี ธุรกิจอาหารสำหรับเลี้ยงเหยื่องู ไม่ต่ำกว่า 51 ล้านบาท/ปี ธุรกิจอุปกรณ์ในการเลี้ยงงู ไม่ต่ำกว่า 17 ล้านบาท/ปี การรักษางูจากโรงพยาบาลสัตว์ (รวมยาเวชภัณฑ์) ไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท/ปี เป็นต้น
อย่างไรก็ตามประชาชนและผู้ประกอบการที่สนใจจะส่งออกงู จะต้องดำเนินการขออนุญาตตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ซึ่งเป็นกรอบกฎหมายที่มีความเข้มงวดในการพิจารณา เพื่อให้มั่นใจว่าการค้าสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์ จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ ไม่ทำให้ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าต้องสูญพันธุ์ และป้องกันการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย
ด้าน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) มีการชี้เป้าผู้ส่งออกไทย ให้ส่งออกปลาสวยงามเจาะตลาดจีน หลังผลสำรวจพบตลาดโตต่อเนื่อง ผู้บริโภคนิยมเลี้ยงบรรเทาเครียดและเพื่อความสวยงาม เผยจีนนำเข้าจากไทยอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ระบุปลากัดมาแรงสุด ตามด้วยปลาเสือตอ และปลาทองหัวสิงห์
โดย นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวอรนุช วรรณภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงการสำรวจตลาดปลาสวยงามในจีน และโอกาสในการส่งออกปลาสวยงามของไทยเข้าไปจำหน่าย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลว่า อุตสาหกรรมปลาสวยงามของจีน ได้พัฒนาและเติบโตจนกลายเป็นอุตสาหกรรมระดับหมื่นล้านหยวน (4.76 หมื่นล้านบาท) โดยปลาสวยงามแบ่งออกปลายปลาสวยงามน้ำจืด และปลาสวยงามน้ำทะเล โดยปลาสวยงามน้ำจืดครองสัดส่วนตลาดสูงสุดถึง 85% และปัจจุบันจีนมีเขตอุตสาหกรรมปลาสวยงามหลักสองแห่ง ได้แก่ พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและชายฝั่งทะเลตอนใต้ (มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง) และภาคเหนือ (นครปักกิ่ง นครเทียนจิน มณฑลจี๋หลิน)
สำหรับความต้องการของตลาด คนหนุ่มสาวชาวจีนนิยมเลี้ยงปลาสวยงามขนาดเล็ก และจะนิยมเลี้ยงปลาสวยงามบนโต๊ะทำงาน โดย 42% ของผู้บริโภคตามที่มีการสำรวจ พบว่า เลี้ยงปลาเพื่อบรรเทาความเครียด ผู้บริโภค 16% เลี้ยงปลาสวยงามตกแต่งโต๊ะทำงาน และผู้บริโภค 15% เป็นความสนใจส่วนตัว ส่วนการนำเข้าปลาสวยงามของจีน ตามข้อมูลจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ในปี 2567 จีนมีมูลค่าการนำเข้าปลาสวยงาม 27,839,317 เหรียญสหรัฐ นำเข้าจากไทยมากเป็นอันดับสามของการนำเข้าปลาสวยงามทั้งหมด รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ตามลำดับ แต่มีโอกาสเติบโตมากกว่านี้
โดยปลาไทย ที่ได้รับความนิยม อาทิ ปลากัด เนื่องจากมีสีสันสวยงาม ท่วงท่าการว่ายน้ำที่สง่างาม และลักษณะการต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยสายพันธุ์ยอดนิยม เช่น ปลากัดจีน ปลากัดฮาฟมูน ปลากัดหางมงกุฎ ปลากัดยักษ์ และยังมีปลาเสือตอไทยที่มีลายเสือสีทองและรูปลักษณ์ที่สง่างาม ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งฐานะสำหรับผู้เล่นชั้นนำในตลาดปลาสวยงามระดับไฮเอนด์ และมีปลาทองหัวสิงห์ไทยคุณภาพสูง ซึ่งกลายมาเป็นดาวรุ่งในตลาดจีน
“จากการเติบโตของตลาดปลาสวยงามดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาการเพาะสายพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางสายพันธุ์ปลา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดจีนและควรศึกษาเส้นทางการขนส่งใหม่ ๆ เนื่องจากการระยะเวลาการขนส่งนาน เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกปลาสวยงามที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการตายของปลาได้ โดยกรมพร้อมที่จะส่งเสริมการส่งออกปลาสวยงาม โดยใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในการสร้างชื่อเสียงปลาสวยงามของไทยให้เป็นที่รู้จัก เน้นการประชาสัมพันธ์ตลาดกลุ่มผู้บริโภคระดับไฮเอนด์ โดยการออกบูธหรือการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมิเดียของจีน เพื่อกระตุ้นความต้องการต่อไป”นางสาวสุนันทากล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พาณิชย์" แนะผู้ส่งออกลุยตลาดข้าวคุณภาพสูง ตอบโจทย์ตลาดพรีเมียม หนีแข่งขันด้านราคา
ส่งออกไทย ก.พ. 68 โต 14 % รัฐตั้งเป้าเศรษฐกิจขยายตัวเกิน 3 %